ภาคประชาชนพบอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ชูข้อเสนอและท่าทีภาคประชาชนต่อสนธิสัญญาพลาสติกโลก (6 ก.ย. 67)
วันนี้ (6 กันยายน 2567) องค์กรภาคประชาชน 3 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation Thailand) และกรีนพีซ ประเทศไทย (Greenpeace Thailand) ได้เข้าพบปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพื่อนำเสนอข้อมูลและความเห็นของภาคประชาสังคมต่อการทำจัดทำท่าทีของรัฐบาลไทย สำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งที่ 5 (INC-5) ในการจัดทำร่าง “สนธิสัญญาพลาสติกโลก”
สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปี พ.ศ. 2565 ที่ประชุมสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEA) ได้มีมติสมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติที่ 5/14 (UNEA Resolution 5/14) กําหนดให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการการเจรจาระหว่างรัฐบาล (Intergovernmental Negotiating Committee - INC) เพื่อร่วมกันจัดทำมาตรการที่จะมีผลผูกพันทางกฎหมายว่าด้วยมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล หรือที่เรียกกันว่า “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” (Global Plastics Treaty) ต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2565 - 2567 คณะกรรมการ INC ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากประเทศสมาชิกราว 170 ประเทศ ได้มีการประชุมร่วมกันไปแล้ว 4 ครั้ง โดยการประชุมครั้งที่ 5 (INC-5) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ที่เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี จะเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย
การเข้าพบอธิบดีกรมควบคุมมลพิษในครั้งนี้ องค์กรภาคประชาชนทั้งสามองค์กร ซึ่งได้ติดตามการพัฒนาร่างสนธิสัญญาพลาสติกโลกมาโดยตลอด ได้ยื่นข้อเสนอแนะต่อการจัดทำท่าทีสำหรับการประชุมคณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลครั้งที่ 5 (INC-5) ต่อกรมควบคุมมลพิษ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเจรจาของประเทศไทย ดังนี้
1. รัฐบาลไทยควรสนับสนุนให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกมีมาตรการการปรับลดอัตราการผลิตพลาสติกให้อยู่ในระดับที่ยั่งยืน รวมไปถึงการยุติการผลิต การจำหน่าย การใช้ การนำเข้า และการส่งออก พลาสติกที่มีปัญหาและสามารถหลีกเลี่ยงได้
2. รัฐบาลไทยควรสนับสนุนให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกมีมาตรการภาคบังคับสำหรับการพัฒนาระบบการใช้ซ้ำ การเติม และการซ่อมแซม (Reuse-Refill-Repair) และการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับการใช้งานภายใต้ระบบเหล่านี้
3. รัฐบาลไทยควรสนับสนุนให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกมีมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีในการผลิตพลาสติกและในพลาสติก การจัดตั้งทะเบียนสารเคมีที่ต้องยุติการใช้ในการผลิตพลาสติก และมาตรการด้านความโปร่งใสในการรายงานและเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีในพลาสติกที่เข้มงวด
4. รัฐบาลไทยควรสนับสนุนให้ภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมและมีความหมายในการเจรจาเพื่อจัดตั้งสนธิสัญญาพลาสติกโลก และสามารถมีส่วนร่วมอย่างโปร่งใสในการจัดทำท่าทีของรัฐบาลไทยต่อการเจรจาดังกล่าว
ทั้งนี้ ฐิติกร บุญทองใหม่ ผู้จัดการแผนงานมลพิษอุตสาหกรรม มูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้นำเสนอข้อมูลจากการศึกษาเรื่องสารเคมีในพลาสติก ซึ่งมูลนิธิบูรณะนิเวศได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยของเครือข่ายกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ (International Pollutants Elimination Network – IPEN) และสมาคมอาร์นิกา (Arnika Association) ศึกษาสารเคมีจากเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนรีไซเคิลจำนวน 28 ตัวอย่างจาก 13 ประเทศ ในทวีปอเมริกาใต้ เอเชีย แอฟริกา และยุโรป ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย โดยมีการเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ผลปรากฏว่า พบปริมาณสารอันตรายเกือบ 500 ชนิด รวมถึงสารกลุ่ม EDCs ซึ่งมีความอันตรายสูงต่อระบบการทำงานของต่อมไร้ท่อในมนุษย์
นอกจากนั้น ยังมีการนำข้อมูลจากการศึกษาสารมลพิษในพลาสติกที่เป็นองค์ประกอบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-waste) โดยมูลนิธิบูรณะนิเวศได้มีการเก็บตัวอย่างทั้งสิ่งแวดล้อมและตัวอย่างชีวภาพ (ตะกอนดิน, ฝุ่น, ไข่ไก่, ปลา, หอย และปู) ซึ่งอาจปนเปื้อนมาจากการเผาไหม้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ รวมถึงการเก็บตัวอย่างเซรั่มเลือดของคนงานที่ทำงานและสัมผัสใกล้ชิดกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผลปรากฏว่าพบสารปนเปื้อนและกลุ่มสารเคมีหลายชนิดที่ใช้แต่งเติมพลาสติก โดยพบด้วยว่า สารหลายชนิดในตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์มีค่าสูงกว่าค่าที่ตรวจพบในกลุ่มตัวอย่างที่ใช้อ้างอิง (กลุ่มคนที่ไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดกับขยะอิเล็กทรอนิกส์) ไปหลายเท่า
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เน้นย้ำว่า ปัญหาพลาสติกถือเป็นปัญหาใหญ่ทางสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นรัฐบาลควรเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความคิดเห็นในวงกว้าง “ควรเปิดให้มีการถกเถียงกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ว่าจริงๆ เรื่องของมลพิษพลาสติก เราหมายถึงอะไรบ้าง? และการจัดการอย่างยั่งยืนคืออะไร? และอาจจะจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีกหลายๆ เรื่อง เพื่อที่จะได้นำสิ่งเหล่านี้มาตอบคำถามและใช้วางแผนให้เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหามลพิษพลาสติก เพราะถ้าหากการวางแผนเพื่อแก้ปัญหาไม่ตั้งอยู่บนฐานของข้อมูลที่ดี หรืองานศึกษา และการถกเถียงที่หลากหลาย การแก้ปัญหาจะสะดุดไปเรื่อยๆ” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวทิ้งท้าย
เรื่องโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่
ภาพถ่ายโดย เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ