ชวนดู! สภาพโรงงานหลอมยางโคกสูง เมื่อความจริงสวนทางกับภาพที่วาดไว้!?! (5 ก.ย. 67)
นับตั้งแต่โรงงานบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ จำกัด เข้ามาประกอบกิจการในพื้นที่ ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา (14 กุมภาพันธ์ 2567) ความปกติสุขของชุมชนโดยรอบก็เริ่มลดน้อยลงทุกวัน
การประกอบกิจการของโรงงานแห่งนี้คือการรับยางรถยนต์เก่าเข้ามาหลอม เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
จากคำบอกเล่าของชาวบ้านโคกสูงหลายคน พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โรงงานสร้างปัญหามลพิษทั้งกลิ่นและเขม่าควันแก่พวกเขา
โรงงานบริษัท ไบโอเทคฯ ถูกต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.โคกสูง อย่างจริงจังในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ชาวบ้านในพื้นที่บางส่วนบอกว่าไม่รับรู้เกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นก่อนการขออนุญาตตั้งโรงงาน บางส่วนก็บอกว่าทางโรงงานให้ข้อมูลไม่ชัดเจน จนเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าเป็นโรงงานเกี่ยวกับน้ำยางพารา
ตามข้อมูลที่ปรากฏบนเว็บไซต์ของบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ จำกัด หรือ “บีทีไอ” ระบุว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2557 ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลในปี 2559 และเริ่มการผลิตในปี 2562 โดยบริษัทระบุว่าตนเอง “เป็นผู้ประกอบการแปรรูปขยะที่ได้รับอนุญาตในประเทศไทย”
สิ่งที่บีทีไอทำได้แก่ “รวบรวม แปรรูป รีไซเคิล และอัพไซเคิล ของเสียจากยาง พลาสติก และน้ำมันที่ใช้แล้ว ให้เป็นทรัพยากรอันมีค่า โดยใช้ระบบที่ทั้งยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ ผ่านการผสมผสานของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว”
บีทีไอยังระบุในลักษณะเสมือนเป็นคำประกาศที่แสดงจุดยืนด้วยว่า “แม้ว่าเราจะไม่สามารถหยุดการผลิตของเสียทั้งหมดได้ แต่เราหวังจะมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ ในกระบวนการนี้ เราพยายามประหยัดพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนช่วยลดมลพิษและความจำเป็นในการฝังกลบ เพื่ออนาคตของโลกใบนี้”
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังเคยได้ใบรับรองเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเมื่อปี 2565 – 2566 และมีการทำงานวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมการรีไซเคิลขยะร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล มาตั้งแต่ก่อนเริ่มต้นการผลิตแล้ว
ก่อนตั้งโรงงานที่โคกสูง จ.ขอนแก่น บีทีไอมีโรงงานสาขาแรกอยู่ที่ จ.กาญจนบุรี โดยเป็นโรงงานประเภท 106 ประกอบกิจการทำน้ำมันเชื้อเพลิงทดแทนจากยางรถยนต์เช่นกัน ซึ่งทางเพจจะนำเสนอเรื่องของโรงงานที่กาญจนบุรีในโอกาสต่อไป
แม้โรงงานที่โคกสูงเพิ่งเริ่มประกอบกิจการเมื่อต้นปีนี้ แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปตรวจสอบมาแล้วถึง 4 หน เนื่องจากการร้องเรียนของชาวบ้านในพื้นที่ ดังนี้
▪︎ วันที่ 23 พฤษภาคม 2567 โดยเทศบาลตำบลโคกสูงร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จำนวนหนึ่ง
▪︎ วันที่ 11 มิถุนายน 2567 โดยตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 (ขอนแก่น) และชาวบ้านในพื้นที่
▪︎ วันที่ 17 มิถุนายน 2567 โดยตัวแทนหน่วยงานราชการต่างๆ นำโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น
▪︎ วันที่ 21 สิงหาคม 2567 โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม นำโดยอธิบดี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 (ขอนแก่น) เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวแทนชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่ง
จากผลการตรวจสอบหลายๆ รอบดังกล่าว มีบางครั้งที่มีการระบุผลออกมาอย่างชัดเจนว่า การดำเนินการของโรงงานผิดไปจากมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด และมีการปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมในหลายลักษณะ โดยเฉพาะกลิ่นและเขม่าควัน ซึ่งสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง
และผลการตรวจครั้งล่าสุดโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม ตามที่มีการรายงานในเพจของกรม ระบุว่า “จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบ บริเวณบนลานคอนกรีตและลานดินมีการจัดเก็บวัตถุดิบไว้อยู่ประมาณ 500 ตัน ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน โดยพื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ต้องมีหลังคาคลุมและพื้นคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารผลิต A1 พบเตาปฏิกรณ์จำนวน 4 เตา โดยระบบบำบัดอากาศที่ต่อกับชุดเตาปฏิกรณ์ไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงาน ที่กำหนดให้ต้องมีและใช้ระบบขจัดฝุ่นละออง กลิ่นไอสารเคมีที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตที่มีขนาดและประสิทธิภาพเพียงพอที่จะขจัดได้ โดยไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญหรือเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง รวมทั้งต้องมีมาตรการป้องกันด้านความปลอดภัยจากฝุ่นละออง เสียง ความสั่นสะเทือน ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน โดยไม่ก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนหรือเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง”
นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงอาคารเก็บรวบรวมแก๊ส ที่พบถังเก็บแก๊สจำนวน 2 ถัง ถังละ 100 ลบ.ม. บริเวณวาล์วที่ใช้ในการควบคุมแก๊สมีการรั่วไหลของแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ ทาง ศวภ.ตอน. หรือศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จึงทำการตรวจวัดค่าไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) พบว่ามีค่า 20 ppm (parts per million หรือหมายถึงส่วนในล้านส่วน), 170 ppm, 130 ppm ตามลำดับ ซึ่งมีค่าสูง ส่วนอาคารเก็บผงเขม่า Carbon black ผนังอาคารชำรุดและปิดไม่สนิท
“และพบว่าโรงงานยังไม่ได้ดำเนินการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน การตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน การแจ้งข้อมูล รวมทั้งการจัดทำรายงานผลการตรวจสอบคุณภาพดินและน้ำใต้ดิน และรายงานเสนอมาตรการการควบคุมและมาตรการลดการปนเปื้อนในดินและน้ำใต้ดิน พ.ศ. 2559 ซึ่งก่อนหน้านี้ สอจ. ขอนแก่น ได้ออกหนังสือสั่งให้ บ. โบโอเทค อินดัสทรีส์ ปรับปรุงแก้ไขโรงงาน ตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 2 ข้อ โดยให้รวบรวมผงเขม่าดำ (Carbon black) ที่ฟุ้งกระจายอยู่ตามพื้นบริเวณโดยรอบโรงงานเข้าสู่อาคารจัดเก็บอย่างมิดชิด โดยให้ดำเนินการทันที และปรับปรุงบ่อรวบรวมน้ำฝนปนเปื้อนให้มีขนาดเพียงพอ และติดตั้งวัสดุรองพื้น ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
“อธิบดีกรมโรงงานฯ จึงให้ ศวภ.ตอน. ดำเนินการตรวจสอบและเก็บตัวอย่างจากจุดต่างๆ นำไปตรวจวัดที่ห้องปฏิบัติการ ในการนี้ได้สั่งการให้โรงงานเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไข และจะได้สั่งการให้หยุดประกอบกิจการชั่วคราวตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขให้แล้วเสร็จ และให้ตรวจสอบซ้ำก่อนขออนุญาตประกอบกิจการอีกครั้ง”
จึงกล่าวได้ว่า ในภาคของความเป็นจริง การดำเนินการของบีทีไอไม่ได้เป็นไปอย่างที่ประกาศเจตนารมณ์เอาไว้ ในลักษณะค่อนข้างจะพลิกกลับด้าน ขาวเป็นดำ/ดำเป็นขาว
ภายในโรงงานของบีทีไอที่โคกสูง มลพิษส่วนหนึ่งปรากฏให้เห็นและสัมผัสได้ด้วยโสตประสาทอย่างชัดเจน โดยมิได้มีลักษณะแฝงเร้น เพียงแต่ใครจะบอดใบ้จนไม่รับรู้ นั่นคงต้องเกิดจากบางเหตุปัจจัยเฉพาะตัว!?!?
เรื่องโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่
ภาพถ่ายโดย เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ