ชาวบ้านโคกสูงลุ้น กรมโรงงานฯ แก้มลพิษโรงงานหลอมยาง (21 ส.ค. 67)

 

 

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (อรอ.) นำคณะเข้าตรวจโรงงานหลอมยางรถยนต์เพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น หลังจากได้รับการประสานจากกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพอง เกี่ยวกับปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการและการคัดค้านต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่ กลุ่มอนุรักษ์ฯ และชาวบ้านกลุ่มคัดค้านยื่นหนังสือร้องเรียน ขอให้โรงงานออกไปจากพื้นที่
 


เช้าวันนี้ (21 สิงหาคม 2567) อรอ. พร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้เดินทางไปยังโรงงานบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ จำกัด เพื่อตรวจสอบการประกอบกิจการของโรงงานแห่งนี้ ตามที่ได้มีการร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากปัญหามลพิษด้านกลิ่นและเขม่าควันดำ ตลอดจนกระบวนการเริ่มต้นประกอบกิจการที่มิได้ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วม
 

 

 


ตั้งแต่ช่วงเช้า กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพองและชาวบ้านในพื้นที่ใกล้โรงงานประมาณ 50 คน ได้มารวมตัวกันที่บริเวณด้านหน้าโรงงาน เพื่อติดตามการลงพื้นที่ดังกล่าว จากนั้นได้ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ อรอ.
 


เนื้อหาสำคัญของหนังสือร้องเรียนมีอยู่ว่า เนื่องด้วยชาวบ้านโคกสูงได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็น ควัน และเขม่าฝุ่นจากโรงงาน ดังนั้น ชาวบ้านโคกสูงจึงขอเรียกร้องให้ย้ายโรงงานแห่งนี้ออกไปจากพื้นที่ภายใน 1 เดือน เพื่อไม่ให้ก่อปัญหาสุขภาพแก่ชาวบ้านและลูกหลานในอนาคต โดยมีเหตุผลสำคัญ ดังนี้

1. โรงงานทำผิดเงื่อนไขของกรมโรงงานฯ ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ซึ่งเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน
2. การรับฟังความคิดเห็นก่อนเริ่มประกอบกิจการของโรงงานไม่โปร่งใส ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ทราบถึงข้อมูล
3. อ.อุบลรัตน์เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวและเชิงเกษตรนิเวศ ไม่ควรมีโรงงานอุตสาหกรรมประเภทนี้
4. บริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ จำกัด เป็นของกลุ่มทุนจีน ใช้แรงงานจากต่างชาติหรือแรงงานจากต่างถิ่น ไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้ในพื้นที่
5. โครงสร้างส่วนใหญ่ของโรงงาน ไม่ใช่โครงสร้างถาวร อาจเข้ามาประกอบกิจการชั่วคราวและทิ้งมลพิษไว้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่
 

 

 


หลังจากยื่นข้อเรียกร้องได้มีตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพองและชาวบ้านโคกสูงประมาณ 5 คน เข้าติดตามการตรวจสอบโรงงานดังกล่าวด้วย รวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิบูรณะนิเวศและผู้สื่อข่าวจากรายการ ข่าว 3 มิติ ร่วมสังเกตการณ์ โดยมีผู้จัดการและวิศวกรประจำโรงงานเป็นผู้อธิบายถึงขั้นตอนและกระบวนการผลิตของบริษัท
 


ระหว่างการตรวจสอบมีข้อสังเกตจากเจ้าหน้าที่กรมโรงงานฯ หลายประการ ว่าบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขตามใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) เช่น
1. วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต (ยางรถยนต์เก่า) ไม่ได้จัดเก็บไว้ในอาคารอย่างเหมาะสม 
2. ไม่มีระบบบำบัดอากาศที่เพียงพอต่อกระบวนการผลิต 
3. ไม่มีการการจัดการของเสียจากระบบบำบัดอากาศที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ 
 

 

 

 


ทั้งๆ ที่ตั้งแต่เมื่อ 2 เดือนก่อน อุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นได้มีคำสั่งให้ปรับปรุงโรงงานและกระบวนการผลิต ตามมาตรา 37 วรรค 1 พ.ร.บ. โรงงาน ไปเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 แล้ว แต่วันนี้ยังแทบไม่มีความคืบหน้าใดๆ
 


จากการร่วมตรวจสอบและสังเกตการณ์ในวันนี้ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ สามารถบอกได้ว่า โรงงานดังกล่าว ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะประกอบกิจการให้เป็นไปตามมาตรฐานและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนใกล้เคียง
 

 

 


ภายหลังการตรวจสอบของหน่วยงานต่างๆ ในวันนี้ จึงยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป ว่ากรมโรงงานฯ จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร จะมีการออกคำสั่งอะไรเพิ่มเติมหรือไม่? เพราะในมุมของชาวบ้าน พวกเขามองว่าได้ให้เวลาในการปรับปรุงแก้ไขแก่โรงงานนี้นานเกินพอแล้ว
 


เรื่องและภาพถ่ายโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ