ถอดรหัสกรณีหลอมกากอะลูมิเนียมเถื่อน ทำไมพัวพันกับทุนจีนและขยะข้ามชาติ (21 ส.ค. 67)
ด้วยจุดเริ่มต้นจากการตรวจพบรถบรรทุกลักลอบขนอะลูมิเนียม ดรอส ซึ่งถือเป็นกากของเสียอันตรายโดยไม่มีใบอนุญาตใดๆ นำไปสู่การตรวจสอบพบว่าต้นทางคือโรงงานแห่งหนึ่งที่ ต.คลองมะเดื่อ อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งเป็นโรงงานประกอบกิจการหลอมหล่อเศษอะลูมิเนียมโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงถือว่าเป็นโรงงานเถื่อน ซึ่งมีเจ้าของเป็นชาวจีน
ในโรงงานเถื่อนดังกล่าวมีการตรวจพบผงอะลูมิเนียม ดรอสในถุงบิ๊กแบ็กมากถึง 15,000 ตัน โดยที่ลักษณะของถุงบิ๊กแบ็กจำนวนมากบ่งบอกว่าน่าจะนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งยังพบความเชื่อมโยงไปถึงโรงงานใน จ.สมุทรสาคร ทำให้เกิดการตรวจสอบเพิ่มเติมไปยังโรงงานหลอมหล่อหลายแห่งที่ซอยกองพนันพล อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
ในขณะที่ทางด้านปลายทางยังเกี่ยวพันไปถึงการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายที่ จ.สุพรรณบุรีด้วย
เรื่องราวเหล่านี้ มีรายการข่าว 3 มิติ เกาะติดและนำเสนอมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ตรวจพบรถบรรทุกลักลอบขนย้ายกากเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน และล่าสุดมีหลักฐานชัดแล้วว่า อะลูมิเนียม ดรอสมีที่มาจากการลักลอบนำเข้าจากประเทศเกาหลีใต้ ดำเนินการโดยนายทุนชาวจีน ขนส่งเข้ามาทางท่าเรือแหลมฉบัง
จากประจักษ์หลักฐานจึงชัดเจนว่า ตลอดเส้นทางการกระทำที่อยู่นอกกฎหมาย หรือ “เถื่อน” เหล่านี้มีคนจีนเป็นผู้ก่อการและเป็นฟันเฟืองสำคัญ
ต่อเรื่องราวดังกล่าวนี้ ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ชี้ว่าถือเป็นกรณีรูปธรรมที่ยืนยันในสิ่งซึ่งเคยเตือนแล้วว่าจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ภายหลังจากที่รัฐบาลของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ดำเนินมาตรการด้านต่างๆ อย่างขนานใหญ่เพื่อการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ไม่ว่าจะเป็นการเร่งปรับปรุงกฎหมาย การประกาศข้อบังคับใหม่จำนวนมาก รวมทั้งการจัดทำแผนการปฏิบัติการ 5 ปี (พ.ศ. 2556-2560) ซึ่งแผนดังกล่าวได้แบ่งการปฏิบัติการอย่างเข้มข้นเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ปฏิบัติการรั้วสีเขียว (Operation Green Fence) ปฏิบัติการลงดาบแห่งชาติ (Operation National Sword) และสงครามเพื่อปกป้องท้องฟ้าสีคราม (Blue Sky Defense Battle)
“เนื่องจากรัฐบาลจีนยอมรับว่าภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวการหลักที่ปล่อย PM2.5 จึงมีการพุ่งเป้าของปฏิบัติการอันดับแรกไปที่การจัดการกับแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศของโรงงานที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ รวมถึงการควบคุมการนำเข้าขยะจากต่างประเทศมาคัดแยก กำจัดทิ้ง เผาทำลาย และรีไซเคิล ดังนั้นจากที่จีนเคยเป็นประเทศซึ่งเป็นแหล่งรองรับขยะส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของโลกในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น ในที่สุดจึงหลุดพ้นสถานะดังกล่าวมาได้” เพ็ญโฉมให้ข้อมูล และเล่าต่อว่า
“ในขั้นของ “ปฏิบัติการลงดาบแห่งชาติ” รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบายห้ามนำเข้าขยะหลายประเภท มีการสั่งปิดท่าเรือที่ไม่สามารถควบคุมการนำเข้าขยะ ในขณะที่หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ตรวจสอบตู้สินค้านำเข้าต้องลุยตรวจตู้สินค้าทั้งหมดของทุกท่าเรือ ตลอดจนมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นต่อกิจการเกี่ยวกับการคัดแยกขยะ การรีไซเคิลของเสีย และการกำจัดขยะ ที่เป็นสาเหตุของปัญหาฝุ่นและมลพิษ
“เมื่อสิ้นสุดปฏิบัติการทั้งสองส่วน ในปี 2561 เจ้าหน้าที่ส่วนกลางร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่นจึงได้ตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษรวม 666,000 แห่ง โดยพบว่ามีแหล่งกำเนิดที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ 52,000 แห่ง รวมทั้งมีการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนถึง 186,000 คดี
“ทั้งนี้ ทางการจีนได้มีการสั่งปิดโรงงานคัดแยกและรีไซเคิลในประเทศไป 751 แห่ง จากทั้งหมด 1,162 แห่ง” เพ็ญโฉมให้ตัวเลข ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าวหมายความว่า สัดส่วนของโรงงานที่รอดมีเพียงประมาณ 35% โดยที่เกือบ 65% ไม่อาจประกอบกิจการภายในประเทศของตนได้ต่อไป
“เราได้เตือนรัฐบาลไทยและสังคมไทยมาตั้งแต่ช่วงแรกที่จีนเริ่มดำเนินนโยบายแล้วว่า ให้ระวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นเป้าหมายปลายทางแห่งใหม่ของขยะที่ประเทศต่างๆ ส่งออกมาเพื่อการบำบัดจำกัด ซึ่งความหมายแท้ที่จริงก็คือเป็นการขนมาทิ้ง แต่รัฐบาลเราหลงไปกับมายาภาพว่ากิจการรีไซเคิลเป็นสิ่งที่ดีและมองแต่ด้านประโยชน์ทางเศรษฐกิจ รวมทั้งอยากได้การลงทุนจากต่างชาติด้วย แทนที่จะระมัดระวังหรือป้องกัน กลับส่งเสริมสนับสนุนจนถึงกับมีการออกคำสั่ง คสช. ให้โรงงานประกอบกิจการประเภทนี้สามารถตั้งขึ้นพื้นที่แบบใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องจัดโซนตามผังเมือง”
ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศระบุถึงข้อมูลตามที่ทางรายการข่าว 3 มิติรายงาน ว่า ในกรณีกากอะลูมิเนียมที่เชื่อมโยงกับโรงงานเถื่อนที่ จ.นครปฐม พบว่ามีโรงงานของผู้ประกอบการชาวจีนเกี่ยวข้องหลายแห่ง โดยแต่ละแห่งจดทะเบียนประกอบกิจการในช่วงปี พ.ศ. 2564-2565 น่าสนใจว่า ผู้ประกอบการเหล่านี้คือบรรดาผู้ซึ่งถูกปิดกิจการในประเทศของตนหรือไม่ กว่า 750 แห่งที่รัฐบาลจีนกล้าตัดสินใจ “ไม่เก็บไว้” ประเทศไทยกลายเป็นแดนเถื่อนให้แก่คนเหล่านี้แล้วหรือไม่
“เราเคยพูดหลายครั้งว่าอุตสาหกรรมคือต้นตอของปัญหา PM2.5 ที่สำคัญ แต่รัฐบาลกลับมุ่งไปที่แหล่งกำเนิดอย่างไฟป่า การเผาในที่แจ้งของภาคเกษตร หรือแม้ต้นตอเล็กๆ อย่างการปิ้งย่าง รวมทั้งชี้นำสังคมไปในทิศทางเหล่านั้นที่มักเกี่ยวข้องกับผู้ก่อปัญหาแบบมวลชน เช่น เกษตรกร ผู้บริโภค แต่กลับละเลยแหล่งกำเนิดแบบเจาะจงและชี้ชัดผู้ก่อปัญหาได้มาโดยตลอด
“กิจการรีไซเคิล โดยเป้าหมายและแนวคิดเป็นเรื่องของความพยายามที่จะใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุดและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วยการแปรรูปหรือหมุนเวียนวัสดุหรือสิ่งที่ใช้แล้วหรือไม่ใช้แล้วกลับมาเป็นวัตถุดิบทางอุตสาหกรรม แต่ในกระบวนการจริงๆ ถือเป็นกิจการประเภทหนึ่งที่สกปรกมากและก่อให้เกิดมลพิษภัยร้ายแรง การจะส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภทนี้ จึงควรต้องเลือกว่าจะส่งเสริมวัสดุตัวไหน และสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่ควบคุมมลพิษให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยปละอย่างที่ผ่านๆ มา หากปล่อยไว้แบบนี้ก็จะยิ่งเลวร้ายระดับก่อโศกนาฏกรรมได้
“ดังนั้นเราหวังว่าจากกรณีของเรื่องอะลูมิเนียม ดรอสที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับหลายหน่วยงานกำลังสืบสวนสอบสวนขยายผลกันอยู่ และรายการข่าว 3 มิติกำลังเกาะติดมานำเสนออยู่เกือบทุกค่ำคืน จะกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลปัจจุบันตระหนักถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้และตั้งเจตจำนงที่เห็นแก่ประโยชน์สาธารณะได้ถูกต้องเสียที ให้สมกับที่เป็นรัฐบาลที่ประกาศตัวว่าเป็นประชาธิปไตยแล้ว”