ศาลจังหวัดฉะเชิงเทรา สั่งโรงงานจ่าย 2,265 ล้าน ฟื้นฟูอ่างน้ำโจน 16 (31 ก.ค. 67)

 

 

31 กรกฎาคม 2567 - เช้าวันนี้ เวลาประมาณ 09.30 น. ศาลจังหวัดฉะเชิงเทราได้อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สวพ1/2566 ที่กรมควบคุมมลพิษที่ 1 กับพวก รวม 4 คน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด จำเลยที่ 1 กับพวก รวม 3 คน ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยได้ฟ้องเรียกค่าเสียหาย รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 1,855 ล้านบาท ฐานทำให้อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ปนเปื้อนสารพิษ
 


ในประการแรก ศาลได้พิจารณาในประเด็นอายุความว่าคดียังคงไม่ขาดอายุความ
 


ส่วนในประเด็นที่เป็นสาระหลักของคดี เกี่ยวกับเรื่องการปนเปื้อนและต้นเหตุ ศาลได้ชี้ชัดตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ฝ่ายโจทก์พิสูจน์แล้วว่า การปนเปื้อนที่เกิดขึ้นในอ่างฯ 16 ตั้งอยู่ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา นั้น พบค่าความเป็นกรดสูง และค่าโลหะหนักเกินเกณฑ์ค่ามาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน ประเภทที่ 3 ได้แก่ ทองแดง แมงกานีส ตะกั่ว สังกะสี จนไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและเพื่อการเกษตรได้ ซึ่งสารโลหะหนักดังกล่าวมีความสัมพันธ์โดยตรงและสอดคล้องกับสารเคมีที่เกิดจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ ซึ่งเมื่อเทียบผลการตรวจคุณภาพน้ำกับบริษัทอื่นที่อยู่ใกล้เคียงก็ไม่พบว่ามีโรงงานใดที่มีสารดังกล่าวสอดคล้องกับที่ตรวจพบในอ่างฯ 16
 


อีกทั้งที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจพบร่องรอยการรั่วไหลของน้ำจากโรงงานของบริษัทฯ ที่ซึมผ่านชั้นน้ำใต้ดินไปยังทิศทางของอ่างฯ 16 ด้วย จึงกล่าวได้ว่า บริษัทฯ หรือจำเลย เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจำเลยทั้งสามจะต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติที่เสียหายไป รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,770 ล้านบาท (พร้อมดอกเบี้ย) ในการฟื้นฟูน้ำใต้ดินและอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 ให้กลับคืนสู่สภาพเดิม โดยต้องชดใช้ให้กับโจทก์ทั้ง 4 รายดังนี้
 


- โจทก์ที่ 1 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) จำนวน 851 ล้านบาท 
- โจทก์ที่ 2 กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ทบ.) จำนวน 553 ล้านบาท
- โจทก์ที่ 3 กรมชลประทาน (ชป.) จำนวน  365 ล้านบาท
- โจทก์ที่ 4 สำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สป.ทส.) จำนวน 4 แสนบาท
 


สำหรับจำเลยในคดีนี้ที่จะต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหายตามคำพิพากษาข้างต้น นอกจากมีบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 ยังมีนายเชียว วัง แลม เบนจา มิน เป็นจำเลยที่ 2 และนายเจ้า เชา หลิน เป็นจำเลยที่ 3 ซึ่งทั้งสองคนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท
 


ตามคำฟ้องระบุว่า จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการรับจ้างผลิตเคมีภัณฑ์เพื่อการอุตสาหกรรมโมลีดินัม และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) โดยมีโรงงานตั้งอยู่ที่ ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบกิจการผลิต Molybdenum Oxide และ Ferrous molybdenum โดยแจ้งเริ่มประกอบกิจการโรงงานเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2553 มีเงื่อนไขการอนุญาต ให้ประกอบกิจการโรงงาน และการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข ลำดับที่ 2 ข้อ 1.1 คือ “ต้องระบายน้ำทิ้งทั้งหมดของโรงงาน ลงสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของบริษัท 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 2 จำกัด ทะเบียนโรงงานเลขที่ 3-101-2/39 ฉช โดยให้ถือเสมือนว่าเป็นระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงานเอง”
 


อย่างไรก็ตาม จากผลการตรวจสอบของโจทก์พบว่า ในช่วงแรกของการประกอบกิจการ โรงงานของจำเลยที่ 1 มีการนำน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิต ส่งกำจัดโดยบริษัทเอกชนทั้งหมด มิได้ส่งเข้าระบบบำบัดรวมแต่อย่างใด และประมาณปี 2560 โรงงานมีการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสียแบบเติมเคมี และมีการนำน้ำจากการรีดตะกอนเข้าสู่บ่อพักน้ำเพื่อนำกลับไปใช้ในกระบวนการล้างคัดแยกใหม่ โดยไม่มีการระบายน้ำออกสู่ภายนอก แต่จากการตรวจสอบพบมีท่อระบายน้ำอยู่ใต้ดินโดยรอบพื้นที่โรงงานฯ ที่ไม่สามารถระบุทิศทางการไหลและประเภทของน้ำที่อยู่ภายในท่อระบายน้ำดังกล่าวได้ชัดเจน และพบมีการระบายน้ำทิ้งออกสู่รางระบายน้ำด้านหน้าโรงงานด้วย 
 


นอกจากนั้น หน่วยงานที่เป็นโจทก์ในคดีนี้ยังมีการตรวจสอบในประเด็นต่างๆ อีกหลายส่วน กระทั่งสรุปได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ปล่อยน้ำเสียที่มีสารปนเปื้อนให้แพร่กระจายลงสู่ชั้นใต้ดิน ผ่านชั้นน้ำใต้ดิน และไหลลงสู่อ่างฯ 16 จากบริเวณด้านหลังและด้านข้างของโรงงาน จนส่งผลกระทบต่อน้ำใต้ดิน ดิน และน้ำในอ่าง ได้รับความเสียหาย มีค่าความเป็นกรดสูง (pH 2.5-3.5) ปนเปื้อนด้วยโลหะหลายชนิด และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
 


นั่นจึงเป็นที่มาของการดำเนินคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาในวันนี้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นผลงานร่วมของทั้ง 4 หน่วยงานรัฐที่เป็นโจทก์ ส่วนในแง่ตัวบุคคล กล่าวได้ว่า เพราะกาลครั้งหนึ่ง กรมควบคุมมลพิษเคยมีอธิบดีชื่อ อรรถพล เจริญชันษา
 


ภาพถ่ายโดย กานต์ ทัศนภักดิ์ เป็นภาพอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจนแห่งที่ 16 หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “อ่างยายแจ๋ว” เมื่อปี 2562 ในช่วงแรกที่พบปัญหา