สถานการณ์ปนเปื้อน ณ หนองพะวา (23 ก.ค. 67)

 

 

หลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานของบริษัท วิน โพรเสส ตั้งอยู่ที่บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง เพียงไม่นาน ทีมงานจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำโดย ดร.มนัสวี เฮงสุวรรณ นักธรณีวิทยาชำนาญการ ก็ได้เข้าเจาะสำรวจพื้นที่ เพื่อศึกษาลักษณะทางธรณีวิทยาใต้ผืนดิน สภาพและโครงสร้างน้ำใต้ดิน ตลอดจนศึกษาเกี่ยวกับการปนเปื้อนมลพิษของดินและน้ำใต้ดิน
 


ดร.มนัสวี ได้นำเสนอผลการศึกษาส่วนหนึ่งในเวที “รวมพลัง ร่วมกัน แก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา หนองพะวา” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ทางเพจเราเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นเรื่องที่ควรจะต้องบันทึกไว้ และผู้เกี่ยวข้องควรที่จะต้องรับทราบ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนในพื้นที่ซึ่งอาจอยู่ในข่ายผู้ได้รับผลกระทบ หรือหน่วยงานทั้งหลายที่ควรจะต้องมีบทบาทด้านการแก้ไขปัญหา จึงขอนำเสนอเอาไว้แบบเน้นเก็บประเด็นครบถ้วน แต่อาจจะละรายละเอียดบางส่วน เพื่อไม่ยาวจนเกินไป
▪️ ในแง่ธรณีวิทยาของพื้นที่ ดร.มนัสวีอธิบายว่า ผืนดินหนองพะวาใกล้โรงงานวิน โพรเสสเคยเป็นหินแกรนิตมาก่อน โดยมีโครงสร้างเป็นชั้นดิน 2 ชั้น ชั้นแรกในช่วงความลึกที่ 0-15 เมตร เรียกว่าชั้นตะกอน หรือชั้นหินผุ ส่วนชั้นที่ลึกกว่า 15 เมตรเป็นต้นไป เรียกว่าชั้นหินแข็ง เป็นหินแกรนิตที่ยังไม่ผุพัง
▪️ ผลการวัดระดับน้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลและศึกษาทิศทางการไหล พบว่า ในชั้นบนที่ความลึกไม่เกิน 15 เมตรนั้น ชั้นน้ำใต้ดินตรงบริเวณจุดที่ตั้งโรงงานจะสูงกว่าบริเวณสระหนองพะวาประมาณ 9 เมตร และมีทิศทางการไหลจากทางด้านโรงงานไปทางสระหนองพะวาอย่างชัดเจน โดยมีลักษณะการไหลค่อนข้างช้า
 

 

 


“มันมีทิศทางหลักที่น้ำใต้ดินไหลได้ดีกว่า ไหลได้มากกว่า ซึ่งก็คือไหลจากบริษัทวิน โพรเสสไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ หรือบริเวณทางสระหนองพะวา มันจะไหลไปตามความต่างระดับความสูงของน้ำและไปตามทิศทาง ซึ่งบางพื้นที่อาจจะไหลไม่ถึงเซนติเมตรต่อวัน แต่ทิศทางการไหลของน้ำใต้ดินในพื้นที่นี้ก็ไม่ได้ไหลไปทางสระหนองพะวาอย่างเดียว มีไหลไปทางทิศใต้ด้วย และอาจมีไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้บ้าง”
▪️ สำหรับชั้นน้ำบาดาล ดร.มนัสวีกล่าวถึงส่วนนี้ว่า “มีอีกสิ่งหนึ่งที่เรียกว่าชั้นน้ำบาดาลในชั้นหินแข็ง มันจะอยู่ตามร่องรอยแตก คือชั้นหินไม่ได้แน่นทึบเสียทีเดียว แต่จะมีรอยแตกกระจัดกระจายกันอยู่ บางรอยแตกเล็ก บางรอยแตกใหญ่ และบางรอยแตกก็เชื่อมถึงกัน บางรอยแตกก็อยู่อิสระโดดๆ ข้อดีของตัวหินแข็งคือบางโซนทึบน้ำ เพราะฉะนั้นแล้ว น้ำที่อยู่ในชั้นหินแข็งของพื้นที่นี้ โอกาสที่จะปนเปื้อนก็จะยากกว่า” 
▪️ ส่วนในด้านคุณภาพ จากที่ทีมของ ดร.มนัสวี ได้เก็บตัวอย่างน้ำทั้งสิ้น 30 จุดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 แบ่งเป็นน้ำผิวดิน 5 จุด, น้ำใต้ดินระดับตื้น (ความลึก 3.20-9.56 เมตร) จำนวน 21 จุด, และน้ำใต้ดินระดับลึก (ความลึกประมาณ 60-80 เมตร) 4 จุด มีการวิเคราะห์ทั้งหมด 59 พารามิเตอร์ ประกอบด้วยกายภาพ เคมี สารอินทรีย์ระเหยง่าย ปิโตรคาร์บอน โลหะหนัก และสารพิษ 
 


ดร.มนัสวีระบุถึงผลการตรวจ หรือสิ่งที่พบ ได้แก่ “1. ค่า pH หรือค่าความเป็นกรดด่าง จะเห็นได้ว่า ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินบริเวณโรงงานวิน โพรเสส ลงมาถึงสระหนองพะวา มีความเป็นกรดโดยตลอดทั้งแนวการไหลของน้ำ 2. ค่า TDS คือ ค่าของแข็งที่ละลายน้ำทั้งหมด หรือสารที่อยู่ในน้ำทั้งหมด ค่าที่พบสูงสุดคือ 27,900 มิลลิกรัมต่อลิตร (มก./ล.) ในขณะที่น้ำบาดาลที่เหมาะสมกับการอุปโภคและบริโภค ค่า TDS ไม่ควรเกิน 1,200 มก./ล.
 


“ก็ถือว่าเยอะมากและเกินค่ามาตรฐานไปถึง 20 กว่าเท่าตัว คือตัว TDS เป็นตัวรวมที่บอกว่าในน้ำมีอะไรปนอยู่มากมายแค่ไหน แต่เรายังไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง ต้องมาวิเคราะห์กันต่อ เราต้องมาแยกย่อยดูว่าในนั้นมีตัวอะไรบ้าง เป็นประโยชน์ต่อร่างกายหรือเป็นพิษต่อร่างกาย
 


“ตัวหลักๆ ที่เจอ อันนี้คัดกรองมาเฉพาะที่เจอเยอะๆ อันแรกคือค่าเหล็ก (Fe) ค่าสูงสุดที่เราพบอยู่บริเวณสระที่ อบจ. ขุดใหม่ในพื้นที่บริษัท ซึ่งมีค่าเหล็กสูงถึง 10,000 มก./ล. จากมาตรฐานคือไม่ควรเกิน 1 มก./ล. นั่นแสดงว่าเกินถึง 10,000 เท่า ชนะเลิศเลยค่ะ อันนี้ก็ต้องระวังนะคะ ไม่เท่านั้น บริเวณสระหนองพะวา เราก็เจอค่าเหล็กสูงถึงประมาณ 48 มก./ล. และมีตรงบ่อสังเกตการณ์ที่ขุดใหม่ใกล้ๆ บ้านคุณเสนีย์ มณีศรี ซึ่งอยู่ติดสระหนองพะวา ตรงนี้เราเจอเหล็กอยู่ที่ 400 มก./ล. ซึ่งถือว่าเยอะมากเลยทีเดียว”
 


ทั้งนี้ ดร.มนัสวีสรุปชัดเจนว่า “ตัวเหล็กไม่ได้มาจากธรรมชาติแล้ว ถ้าเยอะขนาดนี้”
 

 

 


ดร.มนัสวียังได้แนะนำวิธีการสังเกตแบบง่ายๆ ว่าให้ดูจากสี โดยถ้าน้ำมีลักษณะเป็นสีแดงๆ หรือส้ม ให้สันนิษฐานได้เลยว่ามีเหล็กมากอย่างแน่นอน ดังเช่น “บ่อลุงเทียบ” หรือบ่อดินขุดในพื้นที่สวนของเทียบ สมานมิตร ที่ปรากฏสีส้มออกแดงบริเวณขอบบ่อ ส่วนน้ำบาดาล หากแรกที่สูบขึ้นมาพบว่ามีลักษณะใส แต่เมื่อทิ้งไว้หลายชั่วโมงหรือข้ามคืนแล้วพบว่าน้ำเริ่มขุ่นและมีสีเหลืองหรือเหลืองอมส้ม ก็สันนิษฐานได้เช่นกันว่า น่าจะมีเหล็กละลายอยู่มาก
 


“อีกหนึ่งอย่างที่เจอแล้วรู้สึกว่าผิดปกติไปจากน้ำบาดาลในธรรมชาติทั่วๆ ไปค่อนข้างเยอะ นั่นคือปริมาณอะลูมิเนียม คือโดยปกติแล้ว ตามมาตรฐานของน้ำบาดาลหรือน้ำผิวดิน เราจะไม่ได้กำหนดค่ามาตรฐานของอะลูมิเนียมไว้ เพราะว่าโดยธรรมชาติของอะลูมิเนียมเป็นตัวที่ไม่ค่อยละลายน้ำ ฉะนั้นปกติเราจะเจออะลูมิเนียมละลายในน้ำไม่เกิน 0.5 มก./ล. แต่ที่หนองพะวา บริเวณพื้นที่รอบนอกทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เราเจอค่าไม่เกิน 0.5 มก./ล. ก็คือปกติ
 

 
“แต่ในบริเวณโรงงาน ตัวน้ำที่ออกมาจากสระที่ขุดใหม่ พบอะลูมิเนียมถึง 772 มก./ล. ก็คือเกินจากที่เจอในพื้นที่ทั่วๆ ไปประมาณ 1,500 เท่าตัว แล้วเรายังเจอบริเวณสระหนองพะวา 28 มก./ล. ก็คือเกินจากที่เจอทั่วๆ ไปประมาณกว่า 50 เท่าตัว มีพีกกว่านั้นคือตรงบ่อเจาะใหม่ใกล้ๆ สระหนองพะวา เจอ 20 มก./ล. และบ้านคุณเนือง ห่างจากโรงงานประมาณ 1 กิโลเมตร พบอะลูมิเนียม 6 มก./ล. ก็ถือว่าน้ำนี้ไม่ควรดื่มหรือใช้บริโภค ส่วนที่อื่นก็ปลอดภัย มีเฉพาะผู้อาศัยบริเวณสระหนองพะวาที่ต้องระมัดระวัง
 

 


“อีกตัวที่เราเจอก็คือพวกสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) อันนี้ก็เป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งสารในกลุ่มนี้ไม่ได้มีตัวเดียว มีเป็นร้อยๆ ตัวเลย สารกลุ่มนี้ก็ตามชื่อเลย มันคือสารอินทรีย์ที่ระเหยได้ง่าย ในสภาวะปกติที่เจอแดดเจออากาศปกติก็สามารถระเหยกลายเป็นไอได้ค่อนข้างง่าย ตัวนี้เราก็เจอในน้ำบาดาบาลเช่นกัน
 


“แต่สารอินทรีย์ระเหยง่ายส่วนใหญ่เกือบทุกตัวที่เราเจอ ไม่ว่าจะเป็นพวกเบนซีน ไตรคลอโรเอทิลีน เราจะเจอว่ามันยังเคลื่อนที่ไปได้ไม่ไกลนัก เจออยู่แถวๆ สวนลุงเทียบ ด้านทิศตะวันออกของโรงงาน ตัวนี้ทางกรมกำลังสำรวจเพิ่มเติม เพื่ออยากเข้าใกล้ว่าแหล่งที่มาของตัวสารอินทรีย์ระเหยง่ายในโรงงานอยู่บริเวณไหน
 


“นอกจากนั้นมีตัวอื่นๆ ของสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่แสดงให้เห็นว่ามันมีอยู่ ค่อนข้างเยอะด้วย อย่างไวนิลคลอไรด์ เราเจออยู่ประมาณ 80 ไมโครกรัมต่อลิตร ในขณะที่มาตรฐานของไวนิลคลอไรด์กำหนดไว้ 2 ไมโครกรัม ก็คือเกินไป 40 เท่าตัว แต่ว่าขอบเขตการกระจายตัวก็จะอยู่แค่ข้างๆ โรงงาน ตรงสวนลุงเทียบ”
▪️ การไหลของน้ำผิวดิน เนื่องจากรูปแบบการปนเปื้อนในพื้นที่นี้มีความสัมพันธ์กับการไหลของน้ำผิวดินด้วย ทีม ดร.มนัสวีจึงดำเนินการรังวัดพื้นที่เพื่อทราบสภาพภูมิประเทศ ผลพบว่า จุดที่เป็นที่ตั้งวิน โพรเสสอยู่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับบริเวณรอบข้าง นั่นคืออยู่ที่ 40 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ขณะที่สระหนองพะวา สูง 30 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งถือว่าเป็นจุดต่ำ นอกจากนั้นยังมีไร่ของชาวบ้านบางส่วนที่เป็นแอ่งกระทะรับน้ำ เพราะมีความต่ำ จึงกลายเป็นจุดน้ำขัง
 


เมื่อประมวลรวมแล้ว ดร.มนัสวีสรุปว่า “เราพบเหล็กและอะลูมิเนียมที่สูงผิดปกติที่บ้านคุณเนืองและคุณเสนีย์ที่อยู่ใกล้สระหนองพะวา ส่วนในสระหนองพะวาจะเป็นตระกูลเหล็ก แมงกานีส อะลูมิเนียม นิกเกิล ทั้งน้ำบาดาลและน้ำผิวดิน แต่ในน้ำผิวดินเราจะไม่ค่อยพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย อาจจะด้วยความว่ามันระเหยไปในอากาศ”
 

 

 


ในภาพรวมแล้ว จึงกล่าวได้ว่า การปนเปื้อนในพื้นที่หนองพะวา หากไม่นับพื้นที่ตั้งโรงงาน ซึ่งขณะนี้ ดร.มนัสวีและทีมกำลังปักหลักเจาะสำรวจอยู่ พื้นที่ปนเปื้อนหลักก็คือสวนของเทียบ สมานมิตร ที่อยู่ติดกับพื้นที่โรงงานทางทิศตะวันออก และบริเวณสระหนองพะวา ซึ่งอยู่ในทิศทางเดียวกัน แต่ห่างจากโรงงานประมาณ 1 กิโลเมตร
 


“การแพร่กระจายเพราะว่าน้ำไหลมาพักที่สระหนองพะวา แล้วค่อยๆ ซึมลงใต้ดิน ทำให้น้ำใต้ดินบริเวณนั้นปนเปื้อนไปด้วย ซึ่งจากปกติ น้ำใต้ดินที่เล่าให้ฟังว่าไหลช้า แต่ว่าพอมีการไหลบ่าบนผิวดิน พอไปพักก็จะเป็นเหมือนจุดการแพร่กระจายใหม่ที่เร็วขึ้น” นั่นคือข้อสรุปของ ดร.มนัสวี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จบการศึกษาด้านเคมีทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ก่อนจะจบปริญญาเอกด้านธรณีวิทยา ทั้งหมดจากประเทศเยอรมนี และทำงานที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554
 


สิ่งหนึ่งที่ ดร.มนัสวีแสดงห่วงใยก็คือเรื่องการใช้น้ำบ่อตื้น ซึ่งประชาชนในพื้นที่มีการใช้กันมาก โดยที่บางส่วนใช้เป็นน้ำดื่มด้วย ดังนั้นข้อแนะนำเบื้องต้นก็คือ อย่างน้อยบริเวณสระหนองพะวาจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้น้ำ ทั้งน้ำใต้ดินและผิวดิน