ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม แวกซ์ กาเบ็จฯ จ.ราชบุรี (4 ก.ค. 67)
ตามติดความคืบหน้าการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จ.ราชบุรี กากของเสียถูกขนออกจากพื้นที่แล้วกว่า 12,000 ตัน แต่ยังคงเหลืออีกประมาณ 8,000 ตัน นอกจากนั้นยังมีส่วนที่คาดว่ามีการลักลอบฝังไว้ใต้ดิน ซึ่งไม่ทราบปริมาณ กรมโรงงานฯ คาดต้องเงินอีกราว 30 ล้านบาท และจะเร่งเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษต่อไป ด้านผู้ตรวจการแผ่นดินกำชับว่าจะต้องดำเนินการให้ต่อเนื่องไปจนถึงขั้นเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมด้วย
เมื่อวานนี้ (3 กรกฎาคม 2567) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทรงศัก สายเชื้อ พร้อมด้วยจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และเจ้าหน้าที่จากหลายหนวยงาน ร่วมกันลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้ากรณีการแก้ปัญหากากของเสียอุตสาหกรรมจากการประกอบกิจการของบริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ซึ่งได้ก่อให้เกิดปัญหามลพิษส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนในพื้นที่มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปี
การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นไปเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมที่ถูกทิ้งค้างไว้ในโรงงานดังกล่าว ภายหลังจากที่โรงงานได้ยุติการประกอบกิจการแล้ว และเคยเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้กากของเสียเหล่านั้นมาแล้วเช่นเดียวกันกับกรณีของโรงงานบริษัท วิน โพรเสส จ.ระยอง
โดยที่รัฐบาลชุดก่อนได้อนุมัติงบกลางให้ กรอ. ดำเนินการ ซึ่ง กรอ. เริ่มต้นด้วยการว่าจ้างบริษัทเบตเตอร์ เวิลด์ กรีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินการขนย้ายกากของเสียทั้งหลายออกไปบำบัดจัดการ โดยได้เริ่มมีการขนย้ายตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 และสิ้นสุดการดำเนินการในเฟสแรกเมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา
ตามตัวเลขที่ กรอ. รายงาน ผลคือ ขนย้ายกากออกไปได้แล้วจำนวน 12,352.69 ตัน อย่างไรก็ตามยังคงเหลือกากอยู่ในพื้นที่อีก 7,920.12 ตัน ทั้งนี้เฉพาะส่วนที่เป็นกากของเสียที่กองอยู่บนดิน
อธิบดี กรอ. ได้ชี้แจงรายละเอียดถึงการดำเนินการขนย้ายกากสารเคมีในระยะต่อไปว่า ทางกรมโรงงานฯ ได้ทำเรื่องของบประมาณประจำปี 2568 เป็นจำนวนเงิน 30 ล้านบาท และจะนำเงินบางส่วนประมาณ 2-3 ล้านบาท มาเป็นงบประมาณในการสำรวจพื้นที่ใต้ดินของโรงงานบริษัท แวกซ์ กาเบ็จฯ ที่หลายฝ่ายเชื่อว่ามีการลักลอบฝังกากอุตสาหกรรมอยู่ด้านล่าง เพื่อประเมินปริมาณของเสียที่อยู่ใต้ดิน สำหรับทำเรื่องของบประมาณกลางในการกำจัดบำบัด รวมถึงกากสารเคมีบนดินที่ยังคงเหลืออยู่ด้วย
ส่วนด้านการดำเนินการกับผู้กระทำความผิด ทาง กรอ. มีแนวทางที่จะแจ้งข้อหาอาญา มาตรา 228 และอาญามาตรา 237 กรณีทิ้งสิ่งของมีพิษลงแหล่งน้ำสาธารณะที่เป็นแหล่งสาธารณูปโภค เพื่อเอาผิดกับผู้ก่อมลพิษ รวมทั้งกำลังแสวงหาแนวทางที่จะตรวจสอบเส้นทางการเงิน เพื่อให้สามารถเรียกคืนเงินค่าดำเนินการจัดการปัญหาที่ได้ใช้งบประมาณของรัฐไปก่อน
ด้านผู้ตรวจการแผ่นดินกล่าวกำชับให้ กรอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ต่อเนื่อง โดยต้องเยียวยาประชาชนที่ได้รับความเสียหายและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมเพื่อให้กลับคืนมา อีกทั้งในระยะยาวแล้วต้องพิจารณาเรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การรับมือกับปัญหาลักษณะนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงเรื่องของการมีกองทุนเพื่อใช้ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้วย
ภาพถ่ายโดย เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ