เจ้าหน้ารัฐดมแล้ว! โรงงานยาง "โคกสูง"...เหม็นน้อย!!! (20 มิ.ย. 67)

 

 

ชาวบ้านตะลึง ผลการเข้าตรวจโรงงานหลอมยางที่โคกสูง จ.ขอนแก่น นำโดยรองผู้ว่าฯ ล่าสุด ไม่พบกลิ่นเหม็นรุนแรงแล้ว ในขณะที่ชาวบ้าน “เหม็นกันจนปวดหัว” และผลการตรวจสัปดาห์ก่อนหน้านั้น เพิ่งสั่งปรับปรุงหลายระบบซึ่งไม่ได้มาตรฐาน
 


20 มิถุนายน 2567 – เพจมูลนิธิบูรณะนิเวศได้รับข้อความพร้อมส่งลิงก์ข่าวตามที่ปรากฏด้านล่าง แจ้งให้ทราบว่า ล่าสุดเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (17 มิถุนายน 2567) มีเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดหลายหน่วยงาน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ และผู้นำท้องถิ่น เข้าตรวจโรงงานหลอมยางรถยนต์เก่าเพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ของบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ จำกัด ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น อีกครั้ง 
 


หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ทางเพจมูลนิธิบูรณะนิเวศได้เคยเปิดประเด็นเกี่ยวกับปัญหามลพิษด้านกลิ่นและเขม่าควันจากโรงงานแห่งนี้ ว่ามีการส่งผลกระทบออกสู่ภายนอก จนกระทั่งประชาชนในพื้นที่ทนไม่ไหว ได้ร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นหางว่าวยื่นร้องเรียนต่อนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลโคกสูง ให้แก้ไข กระทั่งทางเทศบาลร่วมกับชาวบ้านได้เข้าตรวจสอบภายในโรงงานไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมา 
 


ต่อมา ในวันที่ 11 มิถุนายน ได้มีตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 (ขอนแก่น) เข้าตรวจสอบโรงงานอีกคณะหนึ่ง โดยได้มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่และตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพอง เข้าร่วมด้วย เป็นคณะใหญ่ประมาณ 15 คน 
 

 

 


ผลตรวจในวันนั้นพบว่า ในการประกอบกิจการของโรงงานมีการดำเนินการไม่ได้มาตรฐานหลายเรื่อง และมีการปลดปล่อยมลพิษทางอากาศ ส่งกลิ่นเหม็น สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านใกล้เคียงจริง อีกทั้งยังพบจุดที่มีคราบน้ำมันรั่วไหลลงไปสู่พื้นที่เพาะปลูกของชาวบ้านใกล้เคียง โดยที่โรงงานแห่งนี้ตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่เกษตรกรรม อีกด้วย 
 


ในวันดังกล่าว สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นจึงได้สั่งให้โรงงานปรับปรุงระบบบำบัดอากาศ และสร้างบ่อกักเก็บน้ำเสียที่มีการปูผ้าใบให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพื่อป้องกันการรั่วไหลหรือซึมปนเปื้อนสภาพแวดล้อมภายนอก พร้อมกับติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย รวมถึงก่อสร้างหลังคาเพื่อช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่น
 


ทั้งหมดมีการกำหนดระยะเวลาปรับปรุง 2 เดือน
 


อย่างไรก็ตาม ในการลงตรวจของคณะล่าสุดที่นำโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่ผ่านมา กลับมีรายงานข่าวออกมาว่า รองผู้ว่าฯ ได้เปิดเผยว่า ภายในโรงงานไม่พบว่ามีกลิ่นเหม็นรุนแรงจนถึงขนาดเป็นเหตุรำคาญหรือส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ กลิ่นยางและเขม่าที่เกิดขึ้นส่งกลิ่นในระยะจำกัดภายในบริเวณโรงงานเท่านั้น ส่วนผู้ใหญ่บ้านก็ยืนยันว่าไม่ได้ส่งกลิ่นออกไปเป็นผลกระทบต่อชาวบ้านในวงกว้าง อาจมีบ้างบางครั้งที่มีลมพัดในช่วงสั้นๆ
 


ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่า “ผลการดม” ของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้ออกมาแตกต่างจากครั้งก่อน ทั้งๆ ที่มีเจ้าหน้าที่จากทั้งสองหน่วยงานเดิม คือ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 (ขอนแก่น) เข้าร่วมด้วย
 


อีกข้อน่าสังเกตสำคัญก็คือ การเข้าตรวจโรงงานครั้งนี้ แม้เป็นคณะใหญ่ไม่น้อยกว่า 10 คนเช่นเดียวกันกับครั้งก่อนหน้า แต่ก็มีองค์ประกอบเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ไม่มีประชาชนหรือภาคส่วนอื่นเข้าร่วมด้วยแต่อย่างใด
 

 

ภาพจากครั้งเข้าตรวจเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2567 ซึ่งมีองค์ประกอบทั้งตัวแทนส่วนราชการ
และตัวแทนประชาชนที่เดือดร้อนและตื่นตัวอยากแก้ไขปัญหา

 


ในประเด็นดังกล่าว มูลนิธิบูรณะนิเวศได้รับแจ้งตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนแล้ว ว่าประชาชนในพื้นที่รับทราบต่อเมื่อเจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจโรงงานไปแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นไม่ได้มีการแจ้งให้ประชาชนในพื้นที่ทราบล่วงหน้าเพื่อเปิดให้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบใดๆ ทั้งสิ้น
 


โดยสรุปแล้ว การลงพื้นที่ตรวจสอบในครั้งนี้จึงเป็นที่น่าเคลือบแคลงว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์แก่ใคร อย่างไร เพราะข้อสั่งการในที่สุดก็ไม่ได้แตกต่างจากเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ก่อนหน้านั้น ไม่ต่างแม้กระทั่งเรื่องกรอบเวลาที่ให้โรงงานปรับปรุงด้วย นั่นคือยังคงเป็น 2 เดือน
 


เวลา 2 เดือน ถ้าหากถือตามผลการตรวจเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ย่อมจะครบกำหนดวันที่ 10 สิงหาคม 2567 แต่ถ้านับจากวันตรวจล่าสุด จะกลายเป็นการยืดเวลาเพิ่มให้โรงงานไปอีก 1 สัปดาห์
 


อย่างไรก็ตาม เรื่องของคำสั่งที่ว่ามาก็ยังคงอยู่บนความคลุมเครือทั้งหมด เนื่องจากจนถึงบัดนี้ ประชาชนและสื่อก็ยังคงไม่ได้เห็นคำสั่งปรับปรุงโรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏออกมา ถึงแม้ว่าจะมีการทวงถามจากประชาชนก็ตาม
 

ภาพจาก fb ที่มีคนในพื้นที่ส่งให้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567

 


อนึ่ง หากเป็นไปดังที่มีรายงานข่าว ว่าการเข้าตรวจครั้งนี้ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น การที่ผลตรวจสวนทางกับข้อร้องเรียนของประชาชนที่เดือดร้อน จึงน่าวิตกว่า ในอนาคตจะเกิดปัญหาขึ้นกับพื้นที่โคกสูงซ้ำรอยแบบเดียวกับพื้นที่ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ชาวบ้านร้องเรียนปัญหากลิ่นเหม็นนานหลายปี แต่หน่วยงานราชการในท้องถิ่นกลับไม่เคยตรวจพบว่ามีปัญหารุนแรงอะไร
 


อนึ่ง ปัจจุบันการตรวจวัดมลพิษในอากาศด้วยอุปกรณ์พื้นฐานมีความก้าวหน้าไปมาก  ไม่ว่าจะเป็นการวัดค่ากลิ่นและสารอันตรายที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ หน่วยงานอย่างอุตสาหกรรมจังหวัดและหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมสามารถที่จะจัดหาและนำมาใช้เพื่ออำนวยความเป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนให้เต็มที่ได้ และเพื่อจะได้หลีกเลี่ยงการต้องเถียงกันว่า จมูกใครดี-เลวกว่ากัน หรือถนัดสูดดมกลิ่นแบบไหนมากกว่ากัน
 


ข้อสำคัญอีกประการคือ ต้องไม่มองข้ามเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เพราะจมูกของประชาชนมีประสิทธิภาพในการจับกลิ่นแปลกปลอมในพื้นที่ได้ดีเสมอ
 


ภาพถ่ายโดย กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพอง