สรุปปฏิบัติการตรวจสอบการลับลอบฝังกากอุตสาหกรรม เอกอุทัย ศรีเทพ (17 มิ.ย. 67)

 

 

17 มิถุนายน 2567 สรุปปฏิบัติการลงตรวจสอบการลับลอบฝังกากอุตสาหกรรมอันตรายแบบผิดกฎหมาย ในบริเวณพื้นที่ฝังกลบของเสียอุตสาหกรรมของบริษัท เอกอุทัย จำกัด สาขาศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่นี่คือ 1 ใน 3 พื้นที่ประกอบการของบริษัท เอกอุทัย ซึ่งเป็นสาขาสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่ได้เข้าตรวจสอบ แต่ผลกลับพบว่ามลพิษที่นี่จัดอยู่ระดับยอดแย่กว่าสาขาอื่น การทำร้ายแผ่นดินในพื้นที่นี้จัดว่าไม่เสียชื่อ “ความเป็นเอกอุทัย” ดังนั้น ในความสกปรกของพื้นที่จึงดูเหมือนจะบ่งชี้ไปถึงความสกปรกในมิติอื่นๆ อยู่ด้วย
 


ปฏิบัติการวันนี้เป็นการสนธิกำลังกันของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) พร้อมด้วยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ทั้งนี้ โดยมีสื่อมวลชน ประชาชนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย
 

 

 


“เอกอุทัยสาขาศรีเทพ” ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านม่วงชุม ต.คลองกระจัง อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ การประกอบการที่นี่คือการฝังกลบกากอุตสาหกรรม โดยการขุดบ่อขนาดใหญ่ขึ้นในพื้นที่ และรับเอาของเสียอุตสาหกรรมเข้ามาฝังกลบลงในบ่อดังกล่าว ซึ่งถ้าเป็นไปตามหลักวิชาการที่ถูกต้องปลอดภัยก็จะต้องดำเนินการหลายอย่างประกอบด้วย อย่างน้อยได้แก่การปูบ่อหรือหลุมทั้งหมดด้วยผ้าใบขนาดความหนาเหมาะสม มีจุดระบายและรวบรวมน้ำชะไปสู่บ่อที่มีการตรวจติดตามและนำไปบำบัดต่อ ตลอดจนต้องมีการปรับสภาพของเสียที่รับเข้ามาก่อนที่จะใส่ลงบ่อฝังกลบด้วย ฯลฯ
 


ที่นี่จึงแตกต่างจากเอกอุทัยอีก 2 แห่ง คือที่สาขาอุทัย ต.สามบัณทิต อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ที่ดูเหมือนจะเป็นเพียงแหล่งรับและกระจายกาก ในขณะที่สาขากลางดง ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นโรงผลิตปูนขาว แต่ด้วยการรับของเสียแบบไม่เหมาะสม ก็ทำให้กระบวนการผลิตปูนขาวพังเสียหายไป และกลายเป็นพื้นที่ลอบฝังกากของเสียเต็มรูปแบบ

 


 


ส่วนที่นี่เป็นแหล่งฝังกลบโดยตรง เมื่อทำแบบไม่ได้มาตรฐาน และยังซ้ำเติมด้วยการลอบฝังแบบดิบเถื่อนอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ชาวบ้านม่วงชุมต้องประสบปัญหาทั้งเรื่องกลิ่นเหม็นและความผิดปกติของน้ำบาดาล มาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2561 แล้ว
 


และต้องสู้รบกับโรงงานแห่งนี้มาสารพัดรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียนหน่วยงานราชการ การชุมนุมประท้วง และการฟ้องศาลในที่สุด ซึ่งผลคือชาวบ้านได้รับการตอบสนองด้วยการมีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบ มีการจัดตั้งกลไกไตรภาคี สามารถยับยั้งการเปิดบ่อที่ 2 ในเชิงทางการของโรงงานได้ ตลอดจนชนะคดีในศาลด้วย แต่ผลกระทบและความเดือดร้อนกลับไม่เคยบรรเทาเบาบางลง
 


สำหรับปฏิบัติการหลักในวันนี้คือการรถใช้รถแบ็กโฮขุดเจาะสำรวจใต้พื้นดินบริเวณต่างๆ ในบริเวณใกล้กับบ่อฝังกลบ (หรือบางบ่ออาจต้องเรียกว่าภูเขา เพราะถูกทับถมด้วยกากอุตสาหกรรมจนสูงเป็นเนินเขาขนาดย่อมไปแล้ว) ของเอกอุทัยสาขาศรีเทพ จำนวน 5 จุด ดังนี้
 

 

 

 


จุดที่ 1 บริเวณบ่อที่สามด้านบนฝั่งที่อยู่ติดกับบ่อสอง พบมีการฝังกลบกากอุตสาหกรรม โดยในหลุมขุดแล้วที่ระดับความลึกไม่มาก พบถังพลาสติก และของเหลวสีดำลักษณะข้นหนืด มีฟองอากาศผุดขึ้นมาตลอดเวลา มีควันและไอความร้อนลอยขึ้นด้วย อีกทั้งส่งกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรงมาก ผลการตรวจวัดค่าความเป็นกรด-ด่างเบื้องต้น พบว่ามีค่าความเป็นกรดสูงระดับสุด (pH ประมาณ 0)
 


จุดที่ 2 และ 3 คือบริเวณบ่อที่สามทางทิศเหนือ และทิศใต้ ตามลำดับ ซึ่งต้องขุดลึกกว่าจุดแรกมาก โดยที่ระดับประมาณ 2 เมตรจึงพบกลุ่มดินปนเปื้อนที่คาดว่าเป็นอะลูมิเนียมดรอส ส่งกลิ่นเหม็นฉุน และมีควัน
 


ส่วนจุดที่ 4 และจุดที่ 5 เป็นบริเวณด้านหลังที่ตั้งสำนักงาน พบดินสีดำปนเปื้อน และพบกากของเสียที่มีลักษณะคล้ายอะลูมิเนียมดรอสคล้ายคลึงกับจุดที่ 2 และ 3 โดยที่มีกลิ่นเหม็นฉุนของสารเคมีคล้ายกลิ่นน้ำมันเครื่อง
 


นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจวัดและเก็บตัวอย่างน้ำ ดินปนเปื้อน และกากของเสียเพื่อส่งวิเคราะห์ยังห้องปฏิบัติการต่อไปด้วย อาทิ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณบ่อสังเกตการณ์ภายในโรงงาน ขณะที่ กรอ. ได้เก็บตัวอย่างกากของเสียและดินปนเปื้อนภายในโรงงาน และ คพ. ได้ทำการตรวจวัดปริมาณค่าสารอินทรีย์ระเหยง่าย หรือ VOCs ด้วยเครื่องมือภาคสนาม ซึ่งพบค่า VOCs สูงมากระดับน่ากังวลใจ โดยเฉพาะที่บริเวณจุดขุดที่ 1 
 


ทั้งนี้ หลังจากนี้ ทาง กรอ. คพ. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล จะเข้าไปแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัทเอกอุทัย กรณีครอบครองวัตถุอันตรายต่อไป
 


อย่างไรก็ตาม พร้อมๆ กับปฏิบัติการขุดสำรวจในวันนี้ ทาง กรอ. ยังได้นำคำสั่งปิดโรงงานเอกอุทัยสาขาศรีเทพ เข้าปิดประกาศบริเวณสำนักงานของบริษัทด้วย
 


เท่ากับในภาคทางการ โรงงานแห่งนี้ต้องไม่มีชีวิตอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่ผลงานชั้นเลิศด้านมลพิษยังคงอยู่ และที่ต้องจับตาดูก็คือ ด้วยโทษอันน้อยนิดในกรณีเกิดการลักลอบ (จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท / ถ้าไม่หยุดปรับได้เรื่อยๆ อีกวันละ 5,000 บาท) จะหยุดยั้งการลักลอบได้อย่างไร ในเมื่อหากผู้ประกอบการฝ่าฝืนแล้วมีรายรับมากกว่าบทลงโทษ
 


นี่ไม่นับว่า ด้วยกระบวนการทางปกครอง ตั้งแต่ในขั้นการระบุการกระทำความผิดจนถึงการจัดการลงโทษ หน่วยงานราชการต้องลงทุนลงแรงอีกมหาศาลด้วยงบประมาณจากภาษีประชาชนผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ กับทั้งต้องใช้ระยะเวลายาวนาน จนมาตรการหยุดยั้งความเสียหายไม่มีทางจะไล่ตามความเสียหายได้ทัน
 


ไม่นับอีกว่า ทั้งหมดเกิดขึ้นบนความเดือดร้อนของประชาชนคนในพื้นที่แบบทุกเมื่อเชื่อวัน และทุกๆ การสูดหายใจ