โรงงานหลอมยางโคกสูงไม่ผ่านมาตรฐาน! อุตฯ จังหวัดลงตรวจ สั่งปรับปรุงใน 2 เดือน (11 มิ.ย. 67)

 

 

อุตสาหกรรมขอนแก่นบุกตรวจโรงงานหลอมยาง พร้อมชาวบ้านโคกสูงวันนี้ พบการดำเนินการผิดมาตรฐานและมีการปลดปล่อยมลพิษสร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้านใกล้เคียงจริงหลายมิติ สั่งปรับปรุงภายใน 2 เดือน
 


วันนี้ (11 มิถุนายน 2567) มีความคืบหน้ากรณีปัญหามลพิษจากโรงงานหลอมยางรถยนต์เก่าที่ตั้งอยู่กลางพื้นที่เกษตรกรรมใน ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ที่ทางเพจได้นำเสนอไปเมื่อ 3 วันก่อน โดยตัวแทนจากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 10 (ขอนแก่น) ได้เดินทางเข้าตรวจสอบโรงงานดังกล่าว ซึ่งเป็นของบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงว่าได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นและเขม่าควันมาเป็นเวลาเกือบ 4 เดือนที่ผ่านมา
 

 

 


ทั้งนี้ ในการเข้าตรวจดังกล่าว มีกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพอง เทศบาลตำบลโคกสูง และชาวบ้าน ต.โคกสูง เข้าร่วมด้วย รวมทั้งหมดประมาณ 15 คน
 


ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพองเล่าว่า จากการเข้าร่วมสังเกตการณ์ตรวจสอบโรงงานในวันนี้ พบเห็นชัดเจนว่า ภายในโรงงานไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานหลายด้าน ทั้งมาตรการในด้านความปลอดภัยของพนักงาน ระบบบำบัดอากาศที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงการไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสียในพื้นที่โรงงานด้วย
 


นอกจากนั้นยังพบการปลดปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมในหลายลักษณะ รวมทั้งจุดที่มีคราบน้ำมันรั่วไหลลงไปสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ส่งผลให้อ้อยและมันสําปะหลังล้มตายในบางส่วน
 

 

 


ผลจากการตรวจสอบในวันนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นจึงมีคำสั่งให้โรงงานปรับปรุงระบบบำบัดอากาศ สร้างบ่อกักเก็บน้ำเสียแทนบ่อดินที่ใช้อยู่ โดยต้องปูผ้าใบ PE รองที่พื้นและติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย พร้อมทั้งสร้างหลังคา เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นออกไปสู่ภายนอกโรงงานด้วย 
 


ทั้งหมดมีการกำหนดระยะเวลาต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 2 เดือน
 


สำหรับบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ เข้ามาเริ่มประกอบกิจการด้านการรีไซเคิลในพื้นที่ ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยเป็นการหลอมยางรถยนต์เก่าเพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งพบว่ามีปริมาณการใช้ยางรถยนต์และพลาสติกในกระบวนการผลิตสูงถึง 80 ตันต่อวัน
 

 

 

 


อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากประเด็นผลกระทบแล้ว ชาวบ้านในพื้นที่ยังติดใจประเด็นเรื่องการขออนุญาตของโรงงานดังกล่าว เนื่องจากก่อนการเริ่มดำเนินกิจการ ไม่มีใครได้รับรู้ข้อมูลเรื่องการติดประกาศรับฟังความเห็นก่อนการอนุญาตประกอบกิจการเลย ซึ่งตามแนวปฏิบัติปกติที่กฎหมายกำหนด จะต้องมีการติดประกาศ 4 จุด ได้แก่ (1) ที่ทำการอำเภอ (2) สำนักงานเทศบาล (3) ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่ และ (4) บริเวณหน้าโรงงาน
 


ภาพถ่ายโดย กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพอง