พบโรงหลอมยางรถเก่ากลางพื้นที่เกษตรอีกแห่ง พ่นกลิ่นและเขม่าควันจนชาวโคกสูงสุดทน (7 มิ.ย. 67)

 

 

 

พบปัญหามลพิษจากโรงงานรีไซเคิลกลางพื้นที่เกษตรกรรมอีกแห่งที่ ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เป็นโรงหลอมยางรถยนต์เก่าเพื่อผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปล่อยกลิ่นเหม็นและควันออกสู่อากาศภายนอกโดยตรงจนชาวบ้านรอบข้างเดือดร้อน ล่าสุดทนไม่ไหว จึงร่วมกันลงลายมือชื่อยื่นร้องต่อนายกเทศมนตรีในพื้นที่ เพื่อให้โรงงานแก้ไข
 


สืบเนื่องจากทางกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้ประสานมูลนิธิบูรณะนิเวศ ว่าพบชาวบ้านใน ต.โคกสูงประสบเหตุเดือดร้อน โดยได้รับกลิ่นเหม็นรบกวนจากโรงงานบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ ซึ่งประกอบกิจการรีไซเคิลยางรถยนต์เก่า
 


ทางตัวแทนมูลนิธิฯ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อสืบสวนหาความจริงและพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 5 ต.โคกสูง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา รวมถึงศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมด้วย
 

 

 


เบื้องต้นพบว่า โรงงานดังกล่าวเป็นโรงงานประเภท 106 (ประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานมาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม) ซึ่งมีการประกอบกิจการหลอมยางรถยนต์เก่า เพื่อนำมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง
 


คนในพื้นที่บอกเล่าว่า โรงงานแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง. 4) เมื่อปี 2565 และเริ่มประกอบกิจการเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา แต่ไม่ทราบว่าได้มีการดำเนินการในขั้นตอนการประกาศรับฟังความเห็นก่อนตั้งโรงงานหรือไม่
 


ในส่วนปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียงประสบคือ การได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นและเขม่าควันจากการหลอมยางรถยนต์ โดยเฉพาะในช่วงกลางคืน ตั้งแต่เย็น เวลาปะมาณ 17.00 น. ถึงรุ่งเช้า ในทุกๆ วัน
 


หลังจากอดทนกันมาแรมเดือน ชาวบ้านจึงได้มีการรวมกลุ่มช่วยกันรวบรวมรายชื่อและยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกเทศมนตรีตำบลโคกสูงไปแล้วเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 หลังจากนั้นในวันที่ 23 พฤษภาคม ทางเทศบาลตำบลโคกสูงร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่จำนวนหนึ่งก็ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบภายในโรงงาน
 

 

 

 


ชาวบ้านให้ข้อมูลต่อทางมูลนิธิฯ ว่า ภายในพื้นที่โรงงานมีอาคารประกอบการแบบเปิดโล่ง มีเตาเผาจำนวน 4 เตา มีถังเก็บน้ำมันจำนวน 4 ถัง และมีระบบรวบรวมควันและปล่อยออกสู่ภายนอก ซึ่งภายในพื้นที่โรงงานบริเวณอาคารประกอบการมีกลิ่นจากยางรถยนต์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณรอบโรงงานได้รับกลิ่นเหม็นรบกวน
 


ทั้งนี้ ผลจากการเข้าตรวจสอบโรงงานในวันดังกล่าว ตัวแทนจากทางเทศบาลตำบลโคกสูงพยายามไกล่เกลี่ยให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบกับทางโรงงานอยู่ร่วมกัน โดยยังไม่มีการแจ้งว่าจะดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไรให้ชัดเจน จากทั้งฝ่ายเทศบาลตำบลโคกสูงและฝ่ายโรงงานบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์
 


ทั้งๆ ที่สำหรับข้อเรียกร้องของชาวบ้านโคกสูง ตามหนังสือที่ยื่นต่อเทศบาลนั้นก็แจ้งชัดตรงไปตรงมาว่า ชาวบ้านเพียงต้องการให้โรงงานแก้ไขปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ไม่ใช่ว่าจะขับไล่หรือร้องขออะไรที่เป็นการเอารัดเอาเปรียบอีกฝ่าย
 


รัฐและท้องถิ่นควรต้องปรับทัศนคติและแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการอยู่ร่วมกันใหม่ ว่าการจะอยู่ร่วมกันอย่างสงบร่มเย็นได้ ย่อมต้องไม่มีใครเอารัดเอาเปรียบหรือก่อความเดือดร้อนให้อีกคนอีกฝ่ายต้องทนแบกรับ และแท้จริงแล้วเป็นหน้าที่โดยตรงของท้องถิ่นนั่นเองที่จะต้องควบคุมไม่ให้มีการก่อกำเนิดมลพิษในพื้นที่ ไม่ใช่ปล่อยให้ชาวบ้านต้องยอมทน
 

 

 


สำหรับในส่วนของภาพโรงงานที่ได้เห็น ชัดเจนว่าเป็นอีกโรงงานที่ตั้งอยู่บนพื้นเกษตรกรรม ห้อมล้อมไปด้วยไร่นาของชาวบ้าน ตรงจุดนี้เองที่ทางมูลนิธิเคยเน้นย้ำมาตลอดว่า การเกิดขึ้นของโรงงานรีไซเคิลต่างๆ ในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เกษตรกรรมนั้นเป็นผลมาจากนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วยการออกคำสั่งที่ 4/2559 เรื่อง การยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สําหรับการประกอบกิจการบางประเภท ทำให้โรงงานประเภทรีไซเคิลสามารถตั้งประกอบกิจการได้ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ซึ่งแต่เดิมจะมีหลักเกณฑ์ข้อห้ามตามกฎกระทรวงฯ ผังเมืองรวมที่บังคับใช้อยู่ในพื้นที่อำเภอหรือจังหวัดนั้นๆ
 


อนึ่ง สำหรับบริษัท ไบโอเทค อินดัสทรีส์ หรือบีทีไอ ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 เพื่อประกอบการแปรรูปขยะประเภทของเสียจากยาง พลาสติก และน้ำมันที่ใช้แล้วให้มีการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โรงงานที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ตั้งอยู่ที่ อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี
 


ส่วนกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมลุ่มน้ำพองนั้น เป็นกลุ่มชาวบ้านที่รวมตัวกันเองเพื่อตรวจติดตามปัญหามลพิษในพื้นที่ อ.น้ำพองและพื้นที่ใกล้เคียง พัฒนาการของกลุ่มเกิดจากการรวมตัวของผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษลำน้ำพองที่มีการต่อสู้เรียกร้องการแก้ไขปัญหามายาวนานข้ามทศวรรษ จนทำให้ตระหนักในความสำคัญของการรักษาสภาพแวดล้อมควบคู่ไปกับการรักษาสิทธิของชุมชน
 


เรื่องโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่
ภาพถ่ายโดย เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศและชาวบ้านโคกสูง