เส้นทางสร้างมลพิษที่ “เอกอุทัยกลางดง” (5 มิ.ย. 67)

 

 

 

ในขณะที่การขุดเจาะเพื่อเก็บตัวอย่างดินพิสูจน์การปนเปื้อนของดินชั้นต่างๆ ยังคงดำเนินอยู่ ณ ขณะนี้ ในพื้นที่บริเวณโรงงานของบริษัท เอกอุทัย จำกัด สาขากลางดง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลสีมามงคล ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
 


ทางเพจขอไล่เรียงความเป็นมาของโรงงานแห่งนี้ โดยใช้ข้อมูลตามเอกสารที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จุลพงษ์ ทวีศรี ได้นำมอบแก่มูลนิธิบูรณะนิเวศ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในโอกาสที่มาร่วมเป็นวิทยากรเวทีเสวนา “ทางออกกรณีมลพิษหนองพะวา: ภาพสะท้อนปัญหากากอุตสาหกรรมอันตรายของไทย” ที่มูลนิธิบูรณะนิเวศจัดร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ในวันดังกล่าว


 

 


เริ่มจากความเป็นมาของโรงงานแห่งนี้ แม้ว่าบริษัท เอกอุทัย เพิ่งได้รับการโอนใบอนุญาตมาเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 แต่แท้จริงแล้วโรงงานแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 ประเภทหรือชนิดของโรงงานคือลำดับที่ 57(1) ประกอบกิจการผลิตปูนขาว ชื่อผู้ได้รับอนุญาตคือ “บริษัท อโศกเคมีคอล จำกัด”
 


ต่อมาจึงมีการโอนใบอนุญาตหรือเปลี่ยนมือมาเป็นของบริษัททอฟ-คลาส คอนซัลแทนท์ จำกัด บริษัท คลาซซี่ คอนซัลแทนท์ จำกัด และบริษัท เอกอุทัย จำกัด ตามลำดับ
 

 

 


โรงงานแห่งนี้ได้เคยจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการนำกากของเสียทดแทนในการผลิตปูนขาว เนื่องจากจัดอยู่ในโครงการหรือกิจกรรมประเภทโรงงานปรับคุณภาพของเสียรวม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยรายงาน EIA ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2546 ทำให้ต่อมา สำนักทะเบียนโรงงาน กรอ. พิจารณาเพิ่มประเภทการประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 101 ให้ เท่ากับสามารถประกอบกิจการเผาสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วในเตาเผาปูนขาว
 


แต่มีข่าวที่ไม่เป็นทางการว่า ในทางปฏิบัติจริง เมื่อโรงงานนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วเข้าเผาในเตาเผาปูนขาว ด้วยความไม่เหมาะสมของสิ่งปฏิกูลนั้น ได้ทำให้เกิดปัญหากับเตาเผา การลอบฝังกากในพื้นที่จึงกลายเป็นทางเลือกหรือทางออกแบบมักง่ายที่ตามมา 
 


ดังนั้น ตามข้อมูลดังกล่าว พฤติการณ์การลอบฝังกากของเสียและสารพิษน่าจะดำเนินมายาวนาน อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา
 


กลับมาดูข้อมูลทางการ ซึ่งทั้งจากเอกสารที่อธิบดี กรอ. มอบไว้ และจากการนำเสนอของนายกเทศมนตรีเทศบาลมีมามงคล ล้วนสอดคล้องกัน
 

 

 

 


นั่นคือ การรับทราบปัญหาและลงมาตรวจสอบในพื้นที่แห่งนี้เพิ่งเริ่มขึ้นในปี 2564 นำโดยกรมควบคุมมลพิษยุคที่มีอธิบดีชื่อ อรรถพล เจริญชันษา
 


เฉพาะเรื่องราวข้างต้น สะท้อนถึงความจริงหลายสิ่งในสังคมไทย
 


ในด้านดี: (1) คนทำงานในหน้าที่ของตนอย่างเต็มที่มีคุณูปการเสมอ (2) การเสริมพลังคนทำงานและการผนึกกำลังกันแบบไม่แบ่งแยกหน่วยงานเป็นสิ่งมีคุณค่าและจำเป็น
 


ในด้านลบหรือปัญหา: (1) ระบบ EIA ไม่ใช่หลักประกันความอยู่รอดปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมเลย (2) ระบบการติดตามตรวจสอบตามรายงาน EIA หรือที่เรียกว่า post EIA ไม่มีความหมายโดยสิ้นเชิง (3) การอนุมัติ/อนุญาตแบบคล้อยตามกันไปกับการอนุมัติ/อนุญาตก่อนหน้า เป็นระบบงานอันไร้ประสิทธิภาพและรังแต่จะส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของปัญหา (4) ระบบการติดตามตรวจสอบอุตสาหกรรมจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปให้เข้มแข็งด่วนที่สุด
 


ภาพถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ