ทำความรู้จัก “บ่อดำ” แห่งหนองพะวา อีกผลงานสุดเลวร้ายของวิน โพรเสสฯ (30 พ.ค. 67)

 

 

“บ่อดำ” เป็นบ่อขุดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบริเวณโรงงานของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ซึ่งเป็นสถานที่เกิดเหตุไฟไหม้กากสารพิษ ในพื้นที่บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
 


บ่อดังกล่าวถูกนับว่าเป็นบ่อบำบัดบ่อที่ 1 ของโรงงานแห่งนี้ แต่มันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการทำหน้าที่บำบัดน้ำเสียแต่อย่างใด หากแต่ดูเหมือนจะถูกขุดขึ้นเพื่อทำหน้าที่สะสมน้ำเสียและรองรับสารพิษทั้งหลายมากกว่า
 

 

 


ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา “บ่อดำ” คือบ่อที่จุไว้ด้วยน้ำสีดำสนิท แต่สภาพดังกล่าวไม่ได้เป็นมาตั้งแต่แรก
 


จากการเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศกูเกิลเอิร์ธย้อนหลัง จุดเปลี่ยนชัดเจนดูเหมือนจะเกิดขึ้นในช่วงปี 2562 ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์มลพิษส่วนอื่นๆ เช่น การเริ่มสูญเสียต้นยางในสวนของเทียบ สมานมิตร ที่เขาบอกเล่าว่าเริ่มมีต้นยางยืนต้นตายในปี 2561 ก่อนจะทอยเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2563 ก็สูญเสียไปเป็นสิบๆ ไร่
 

 

 


ขณะที่ผลการตรวจสอบของกรมควบคุมมลพิษในปี 2563 ออกมาสอดคล้องกัน นั่นคือพบว่า น้ำผิวดินรอบโรงงานมีสภาพเป็นกรด ทั้งยังพบการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในน้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน รวมถึงบ่อบาดาลของประชาชน โดยที่สวนของเทียบคือจุดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด นั่นคือ มีการตรวจพบสารโลหะหนักในสระน้ำที่อยู่ติดรั้วโรงงาน หรือ “บ่อน้ำกรดลุงทียบ” ได้แก่ ทองแดง นิกเกิล แมงกานีส สังกะสี แคดเมียม ตะกั่ว และปรอท ในระดับที่เกินค่ามาตรฐาน โดยค่าแมงกานีสที่พบในบ่อน้ำดังกล่าวสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 130 เท่า
 


อีกทั้ง กรมควบคุมมลพิษยังตรวจพบสารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile Organic Compounds - VOCs) ในบ่อดังกล่าว หนึ่งในนั้นคือ เบนซีน (Benzene) ที่ถูกจัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ (Carcinogenic to human) โดยองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ (IARC) ด้วย
 


สำหรับจุดกำเนิดของ “บ่อดำ” จากคำบอกเล่าของชาวบ้านในพื้นที่ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังการเข้ามาของวิน โพรเสสฯ โดยทางบริษัทให้ผู้เป็นผู้ใหญ่บ้านในเวลานั้นเข้าดำเนินการขุด แลกกับการนำดินออกไปขาย
 

 

 


คนเล่าระบุจากความทรงจำว่า บ่อน่าจะขุดช่วงหลังปี 2557 แต่จากการตรวจสอบกูเกิลเอิร์ธ ปรากฏว่าในช่วงปลายปี 2556 ก็พบว่ามีบ่อดังกล่าวแล้ว ส่วนในช่วงต้นปี 2554 ยังไม่มี ดังนั้นบ่อดำคงขุดขึ้นในช่วงระหว่างปี 2554 - 2556
 


“มันเป็นความชั่ว เป็นเจตนาของมัน คือทำกันหยาบๆ เลย รอบคันเอาเสาเข็มไปวางแล้วเอาดินกลบ แล้วทำไมน้ำจะไม่ซึม อันนี้คือเจตนาให้ซึมหรือเปล่า” คนพื้นที่รายเดิมเล่าพร้อมกับตั้งประเด็น และบอกด้วยว่า บ่อดังกล่าวถูกขุดไว้แบบลึกมาก
 


สำหรับประเด็นเรื่องน้ำล้น ชาวบ้านในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า น้ำจากบ่อดำเคยล้นออกทางด้านหลังโรงงาน (ฝั่งสวนของเทียบ) เพียงครั้งเดียว ช่วงประมาณปี 2560-2561 แต่การล้นไปทางฝั่งด้านหน้าโรงงาน ในทิศทางด้านทางเข้า ถือเป็นสภาวะปกติ เนื่องจากเป็นด้านที่ต่ำกว่า 
 


อย่างไรก็ตาม พื้นที่ของโรงงานโดยภาพรวมแล้วสูงกว่าพื้นที่รอบข้างอย่างชัดเจน ด้วยว่ามีการถมที่ดินขึ้นมาตั้งแต่แรกตั้งโรงงาน จากพื้นที่เดิมซึ่งเป็นท้องนา ลักษณะที่ลุ่มต่ำ หรือที่เรียกกันในภาษาถิ่นว่า “มาบ” นั่นเอง
 

 

 


ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องลุ้นหรือแปลกใจ ว่าสิ่งใดๆ ที่รั่วไหลหรือจะรั่วไหลออกจากโรงงานของวิน โพรเสสฯ ย่อมจะแผ่ออกสู่พื้นที่รอบข้างที่มีระดับต่ำกว่าเสมอ
 


อีกสิ่งที่คนพื้นที่ดั้งเดิมคิดถึงก็คือสภาพความเป็นลำรางที่มีกระจัดกระจายในพื้นที่ จนสามารถหาปลากินได้ตลอด เพราะว่า “ปลาโคตรชุม” แต่ ณ วันนี้ ไม่ต้องพูดถึงปลาที่หายไป เพราะแม้แต่น้ำที่ไม่มีสีแปลกประหลาดก็ยังไม่เหลือให้เห็น
 


ยิ่งหลังเกิดเหตุไฟไหม้แล้ว แม้แต่ “บ่อดำ” ยังดำขึ้นกว่าช่วงก่อนหน้านั้นมาก และมีคราบเคลือบผิวน้ำชัดเจน
 


ภาพถ่าย โดย นราธิป ทองถนอม, ธันยาภัทร์ ดอกผล มูลนิธิบูรณะนิเวศ
ภาพถ่ายโดรน โดย กานต์ ทัศนภักดิ์