การรับมือน้ำหลากผ่านพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ ต้องระดมความรู้ & ความร่วมมืออย่างจริงจัง (27 พ.ค. 67)

 

 

 

 

“บ่อดำ” หรือบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านข้างทางฝั่งขวาของโรงงานบริษัท วิน โพรเสสฯ จำกัด ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง กำลังถูกจับจ้องแบบลุ้นระทึก ว่าจะรองรับน้ำฝนที่กำลังถาโถมตกหนักในพื้นที่ได้หรือไม่
 


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมื่อคันดินรอบบ่อที่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง ได้ขุดดินมาเสริมไว้ก่อนหน้านี้ มีสภาพปริแตกเห็นได้ชัดเจนในหลายๆ จุด
 


ตามข้อมูลของทาง อบจ. ที่ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนต่างๆ ระบุว่า จากที่ทาง อบจ. ได้ดำเนินการขุดขยายและเสริมคันบ่อขึ้นมาอีกประมาณ 2 เมตร เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้บ่อมีความจุเพิ่มขึ้นจากประมาณ 50,000 ลูกบาศก์เมตร เป็นประมาณ 90,000 ลูกบากศ์เมตร
 


หากรวมกับบ่อที่เพิ่งขุดขึ้นใหม่บริเวณใกล้ๆ กัน ซึ่งมีความจุประมาณ 40,000 ลูกบาศ์เมตร รวมแล้วจะทำให้รับน้ำได้ประมาณ 130,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะเกิดขึ้น
 

 

 


อย่างไรก็ตาม อบจ. เรียกร้องว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ต้องสูบน้ำที่มีอยู่เดิมในบ่อดังกล่าวออกไป ซึ่งคาดว่ามีอยู่ประมาณ 5,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อที่จะได้ความจุทั้งหมดของบ่อดำกลับคืนมา
 


นั่นคือความคิดของผู้บริหาร อบจ. แต่ตามความจริงอาจไม่เรียบง่ายตรงไปตรงมาเช่นนั้น
 


อย่างน้อยที่สุด ปัจจัยประการหนึ่งก็คือ ระดับน้ำใต้ดินของพื้นที่นี้ไม่ลึกนัก ดังที่ อบจ. ก็มีประสบการณ์ตรงเองแล้วว่า เพียงที่ระดับ 4-5 เมตรเมื่อขุดบ่อใหม่ ก็ปรากฏน้ำเอ่อขึ้นมาที่ก้นบ่อแล้ว
 


ที่สำคัญคือเป็นน้ำดำมันวาวเช่นเดียวกัน ซึ่งบ่งบอกว่าเป็นน้ำปนเปื้อนสารพิษ
 


ดังนั้นต่อให้ดึงน้ำในบ่อดำออกไป ก็อาจมีน้ำทดแทนมาจากแหล่งต่างๆ ก่อนที่ฝนทั้งหมดจะตกลงมา
 

 

 


สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นจึงอาจไม่เป็นไปตามการคำนวณแบบคณิตศาสตร์ตรงไปตรงมา
 


แท้จริงแล้ว แนวทางแก้หรือหาทางรองรับปัญหาเรื่องปริมาณน้ำที่กำลังเพิ่มขึ้น จึงไม่ควรจะยึดติดอยู่แต่ในแนวทางเรื่องหาบ่อรองรับน้ำแบบที่ อบจ. คิดเท่านั้น 
 


เพราะโจทย์ไม่ได้มีเฉพาะปริมาณและฝนที่ตกลงมา แต่มีโจทย์เรื่องโครงสร้างน้ำในพื้นที่และที่สำคัญคือเรื่องของคุณภาพของน้ำอันเลวร้ายยิ่งด้วย
 


จากที่เคยมีการตรวจน้ำในบ่อดำโดยหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งโดย กรอ. ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว พบว่า น้ำในบ่อดำมีสภาพความเป็นกรดเข้มข้นระดับที่จัดว่าเป็น “ของเสียเคมีวัตถุ” หรือ Chemical Waste 
 

 

 


การที่จะจัดการของเสียเคมีวัตถุปริมาณมากมหาศาลขนาดนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่จะดำเนินการได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน กรณีการขนอะลูมิเนียม ดรอส ก็เป็นประจักษ์พยานชัดเจนแล้ว
 


เรื่องการดูดน้ำปนเปื้อนปริมาณถึง 50,000 ลูกบากศ์เมตรออกไป จึงไม่ควรที่จะถูกกำหนดเป็นเงื่อนไขในการวางมาตรการรับมือน้ำฝนหลากผ่านพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษกรณีนี้
 


เพื่อที่จะรับมือสถานการณ์วิกฤตที่กำลังจ่อจะเกิดขึ้นนี้ อบจ. ระยองจึงควรที่จะเปิดใจร่วมวางแผนและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ดำเนินการด้วยความรู้ที่รอบด้านจริงๆ เพราะกรณีนี้เป็นปัญหาที่ซับซ้อนเกินกว่าจะใช้ศาสตร์ใดศาสตร์เดียวและคิดลำพัง
 


ภาพโดย นราธิป ทองถนอม, ธันยาภัทร์ ดอกผล มูลนิธิบูรณะนิเวศ