ความเป็นธรรมสำหรับ “วิน โพรเสสฯ” (24 พ.ค. 67)

 

 

เช้านี้ (24 พฤษภาคม 2567) เพจมูลนิธิบูรณะนิเวศได้รับ DM ข้อความจากผู้ที่ระบุว่าตนเองเป็น “ชาวบ้านหนองพะวา” ซึ่ง ณ ขณะนี้ค่อนข้างเป็นที่รับรู้ทั่วไปแล้วว่า คือหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมลพิษที่เกิดจากเหตุการณ์ไฟไหม้กากสารเคมีอันตรายในโรงงานของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ตั้งอยู่บ้างหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
 


สิ่งที่เธอสื่อมาเป็นไปตามภาพ สาระหลักคือคำถามว่า “ชาวบ้านจะไปขอให้หน่วยงานไหนช่วยเหลือได้บ้าง” “จะพึ่งใครได้บ้าง”
 


เมื่อวานนี้ (23 พฤษภาคม 2567) ศาลจังหวัดระยองได้มีคำพิพากษาให้ริบของกลางทั้งหมดในโรงงานของวิน โพรเสสฯ ส่งมอบให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบควบคุมวัตถุอันตรายของกลางเพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควร โดยบริษัท วิน โพรเสสฯ ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมด พร้อมทั้งอนุญาตให้ กรอ. ใช้เงินวางศาลของวิน โพรเสสฯ ที่คงเหลือจำนวน 4.9 ล้านบาท ในการบำบัดของเสียที่เป็นวัตถุอันตรายในลำดับแรก ตามที่ กรอ. เป็นฝ่ายยื่นขอต่อศาล
 

 

 


ทั้งนี้ จากการสำรวจ กรอ. ได้สรุปบัญชีรายการของเสียอันตรายไว้ว่ามีประมาณ 34,000 ตัน และคาดประมาณค่าใช้จ่ายในการกำจัดบำบัดไว้ประมาณ 340 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงกรณีที่มีการลักลอบฝังหรือทิ้งวัตถุอันตรายลงดิน
 


ก่อนหน้านี้ วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดี กรอ. นําทีมแถลงต่อศาลจังหวัดระยอง ขออํานาจศาลสั่งนําเงินวางศาลที่เหลือมาจัดการปัญหาเบื้องต้นหลังเพลิงไหม้ พร้อมทั้งได้มีข้อเสนอหารือให้ศาลพิจารณาดําเนินคดีต่อจำเลยให้ถึงที่สุด เนื่องจากฝ่าฝืนไม่ได้ปฏิบัติการฟื้นฟูพื้นที่ก่อนเลิกประกอบกิจการตามที่แจ้งขอเลิก โดยขอให้ศาลเพิ่มโทษ ตาม ป. อาญา มาตรา 92
 


วันนั้น ศาลเห็นด้วยเรื่องที่ กรอ. เข้ารับภาระบำบัดกำจัดกาก แต่สั่งให้ทำแผนมาก่อน ส่วนเรื่องเพิ่มโทษแก่บริษัทฯ ไม่ได้พิจารณา
 


ช่วง 10 วันหลังจากนั้น กรอ. จึงได้เข้าสำรวจรายการของเสียอันตรายที่คงเหลืออยู่ในโรงงาน กำหนดแนวทางการจัดการของเสียเหล่านั้น แหล่งเงินค่ากำจัดบำบัด และแผนการดำเนินงาน เสร็จออกมาเมื่อ 17 พฤษภาคม โดยส่งให้ทางวิน โพรเสสฯ ทราบล่วงหน้าด้วยแล้ว
 


ในศาลเมื่อวาน วิน โพรเสสฯ ไม่ได้คัดค้านในสาระหลักของเรื่องที่พิจารณา แต่คัดค้านเรื่องการโอนเงินให้ กรอ. โดยขอให้มาเบิกเงินจากศาลเป็นงวดๆ ตามการทำงาน ซึ่งศาลให้สิทธิบริษัทฯ ที่จะอุทธรณ์ได้ใน 30 วัน ถือได้ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ปกติ
 


ประเด็นที่น่าสนใจคือ จนบัดนี้ สิทธิของวิน โพเสสฯ ยังมีเต็มที่ ได้รับการอำนวยความยุติธรรมอย่างดี เป็นเพราะอะไร หรือเพราะเจ้าของชื่อ “โอภาส” โอกาสที่หลุดรอดจากผลการกระทำของตนจึงเป็นของเขาเสมอ และมักได้รับเมตาตาให้โอกาส
 


หากย้อนไปเมื่อ 12 กรกฎาคม 2560 กรมสอบสวนคดีพิเศษส่งอัยการฟ้องคดี จนมีคําพิพากษาความอาญา ศาลอุทธรณ์คดีหมายเลขดําที่ อ 2245/2560 คดีหมายเลขแดงที่ อ 1880/2560 (โจทก์อุทธรณ์ให้ลงโทษสถานหนัก) ศาลอุทธรณ์แผนกคดีสิ่งแวดล้อมเห็นว่า จําเลยทําผิด 4 กระทง แต่รับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาเรียงกระทง ปรับ 85,000 บาท คุก 1 ปี 9 เดือน ไม่เคยต้องโทษจําคุก จึงให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี ให้รอการจําคุกไว้ 2 ปี และศาลเห็นว่า จําเลยปรับปรุงกิจการจนได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานและใบอนุญาตมีไว้ในครองครองซึ่งวัตถุอันตราย
 

 

 


25 มีนาคม 2564 เป็นอีกครั้งที่มีคำพิพากษาศาล ในคดีระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดระยอง โจทก์ กับจําเลยทั้งสอง คือบริษัท วิน โพรเสส จํากัด และนางสาววิชชุดาหรือใหม่ ไกรพงษ์ เรื่องความผิดต่อ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย
 


ศาลพิพากษาว่า จําเลยทั้งสองมีความผิด เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ปรับจําเลยที่ 1 กระทงละ 150,000 บาท รวมเป็นเงิน 450,000 บาท จําคุกจําเลยที่ 2 กระทงละ 2 ปี และปรับกระทงละ 150,000 บาท รวมจําคุก 6 ปี ปรับเป็นเงิน 450,000 บาท
 


จําเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือจําคุก 3 ปี จําเลยไม่เคยรับโทษจําคุกมาก่อน อีกทั้งได้ขอเลิกกิจการ และอยู่ระหว่างการกําจัดของกลางซึ่งเป็นวัตถุอันตราย แสดงให้เห็นว่าจําเลยที่ 2 สํานึกผิดและอยู่ในวิสัยที่จะกลับตนเป็นพลเมืองดีได้ และเพื่อให้มีการกําจัดวัตถุอันตรายของกลางให้หมดไป จึงให้รอการลงโทษโทษจําคุกจําเลยที่ 2 ไว้ มีกําหนด 2 ปี โดยให้รายงานตัวคุมประพฤติ 4 เดือน ต่อครั้ง
 


ศาลสั่งด้วยว่า ให้จําเลยประสานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกําจัดวัตถุอันตรายของกลางให้เสร็จในเวลากําหนดคุมประพฤติ โดยค่าใช้จ่ายของจําเลยทั้งสอง และให้จัดทําแผนการส่งให้พนักงานคุมประพฤติใน 1 เดือน และทุกครั้งที่ไปรายงานตัว ให้จําเลยที่ 2 นําเอกสารแสดงความคืบหน้าในการกําจัดวัตถุอันตรายของกลางไปแสดง
 

 

 


ต่างวาระแต่ไม่ต่างกรรม คนทำผิดคือวิน โพรเสสฯ รายเดิม ทำความผิดทั้งที่ซ้ำเดิม (ต่อเนื่อง) และเพิ่มเติมใหม่ แต่จำเลยตัวบุคคลเปลี่ยนเป็นคนละคน คดีปี 2560 จำเลยคือโอภาส ปี 2564 เปลี่ยนเป็นวิชชุดา (ซึ่งที่จริงเป็นเพียงพนักงาน แต่โอภาสให้บริหารกิจการของบริษัทฯ แทนเขา) ต่างคนจึงต่างเป็นคนทำผิดหน้าใหม่ และต่างมีสำนึกดี สมควรให้โอกาส ได้รับความเมตตา และได้รับความเป็นธรรม
 


ในที่สุด ดูเหมือนว่า ความเป็นธรรมและความเมตตาที่วิน โพรเสสฯ โอภาส และวิชชุดา ได้รับ เพื่อจัดการแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรม รวมทั้งกลับตัวเป็นพลเมืองดี ทั้งหมดนอกจากไม่ได้เกิดขึ้นแล้ว ยังกลับกลายเป็นโอกาสในการก่อให้เกิดหายนะใหญ่ต่อคนในพื้นที่ และกระทบถึงสังคมไทยโดยรวมด้วย
 


เหตุใดภาษีเราต้องถูกเอาไปล้างความสกปรกที่คนกลุ่มหนึ่งก่อเอาไว้?
 


ขอบคุณภาพจาก ไทยพีบีเอส, กรมโรงงานอุตสาหกรรม