บทเรียนจากเอกอุทัย สาขาอุทัย (16 พ.ค. 67)
บทเรียนเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรมอันตราย จากกรณีเล็กๆ แต่สามารถสะท้อนภาพใหญ่แห่งความไม่มีประสิทธิภาพ ผ่านวัฏจักรการลงแรงอันเปล่าประโยชน์ซ้ำๆ ที่เสียทั้งทุนและทรัพยากร คู่ขนานกับการผลาญเวลาและเลี้ยงปัญหาให้เรื้อรังและเลวร้ายลงเรื่อยๆ
กรณีที่ว่านั้นคือเรื่องของบริษัท เอกอุทัย จำกัด สาขาอุทัย ทะเบียนโรงงานเลขที่ 10140000725574 ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ที่ 4 ต. สามบัณฑิต อ. อุทัย จ. พระนครศรีอยุธยา ประกอบกิจการทำเชื้อเพลิงทดแทน ทำเชื้อเพลิงผสม ซ่อมและล้างบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย นำน้ำมันหล่อเย็นที่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย นำสารละลายกรด-ด่างที่ใช้แล้ว มาผ่านกรรมวิธีทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์
โรงงานแห่งนี้ได้ถูกทางการจังหวัดอยุธยาและกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เข้าตรวจเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 เพื่อติดตามว่าบริษัทได้มีการปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งที่ออกตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แล้วหรือไม่ (นั่นหมายถึงว่าต้องมีการเข้าตรวจมาก่อนหน้านั้นแล้ว) ซึ่งผลพบว่า บริษัทไม่ได้ดำเนินการแต่อย่างใด
ต่อมา กรอ. จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2566 จำนวน 2 ฉบับ ออกคำสั่งตามมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ให้บริษัทหยุดประกอบกิจการทั้งหมดเป็นการชั่วคราว และให้ปรับปรุงแก้ไขตามคำสั่งให้แล้วเสร็จภายใน 31 สิงหาคม 2566 พร้อมกับได้เก็บตัวอย่างของเหลวและของแข็งที่อยู่ภายในโรงงานและบริเวณโรงงานมาตรวจวิเคราะห์ด้วย ซึ่งผลพบว่า ทั้ง 5 ตัวอย่างที่เก็บจากจุดต่างๆ กัน ล้วนมีค่าเป็นกรดแก่ นั่นคือ ค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) น้อยกว่า 2
11 กันยายน ปีเดียวกัน กรอ. และอุตสาหกรรมจังหวัด (อสจ.) อยุธยา เข้าตรวจสอบโรงงานอีกครั้ง ผลที่พบเป็นเช่นเดิม คือบริษัทยังไม่ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอะไร พนักงานเจ้าหน้าที่จึงเก็บตัวอย่างของเหลวที่อยู่ภายในโรงงานและบริเวณโรงงานมาตรวจวิเคราะห์อีก
คราวนี้เก็บมา 6 ตัวอย่าง ผลพบอีกเช่นเดิมว่า มี 5 ตัวอย่างที่มีความเป็นกรดแก่ แต่มี 1 ตัวอย่างที่พบว่ามีความเป็นด่างแก่ คือค่า pH มากกว่า 11.5 สิ่งนั้นคือของเหลวสีน้ำตาลอ่อน เก็บจากถัง IBC หลังจุดจอดรถ
19 ธันวาคม 2566 อธิบดี กรอ. ตามการมอบหมายของปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม จึงออกคำสั่งปิดโรงงานบริษัท เอกอุทัย สาขาอุทัย ซึ่งมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัทไปด้วย
...ทิ้งซากกากทั้งหลายตกค้างคาแผ่นดินอุทัยอยู่เช่นนั้น
โดยสรุป ผลจากการตรวจ วัด และวิเคราะห์ ของทางการพบว่า ในโรงงานบริษัท เอกอุทัย สาขาอุทัย มีของเหลวที่มีสภาพความเป็นกรด-ด่างสูง ทั้งที่บรรจุอยู่ในถัง IBC อยู่ในบ่อน้ำ รวมถึงที่มีการเททิ้งและหกไหลภายในและโดยรอบพื้นที่โรงงาน ซึ่งในทางกฎหมายถือว่าเป็น “ของเสียเคมีวัตถุ” หรือ Chemical Waste ลำดับที่ 5.9 การมีไว้ในครอบครองจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน มิเช่นนั้นจะเป็นความผิดอาญาตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำสั่งล่าสุดของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2567
ให้บริษัทนำวัตถุอันตรายที่ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปจัดการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
ต่อมา 27 เมษายน 2567 ช่วงเย็นประมาณ 16.00 น. พบเหตุว่า บริเวณด้านข้างอาคารของโรงงานได้เกิดกลุ่มควันสีส้มลอยขึ้นสู่อากาศจำนวนมาก พร้อมกลิ่นเหม็นฉุน ซึ่งจากการตรวจสอบของ กรอ. และ อสจ. พบว่า เกิดจากการที่กรดเสื่อมสภาพ ซึ่งมีทั้งที่บรรจุอยู่ในถัง IBC และที่ถูกเททิ้งหรือหกรั่วไหล ทำปฏิกิริยากับเหล็กหรือโลหะที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว จึงปะทุผลกระทบออกมา สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนบริเวณใกล้เคียงผู้ไม่มีส่วนได้เสียใดๆ ด้วย รวมทั้งทำร้ายสภาพแวดล้อมโดยรอบ
ถามว่า ส่วนราชการทำอะไรได้ เช่นเคย กรอ. ก็ได้ออกหนังสือสั่งอีกครั้ง ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 ใน 2 ประการ (1) ให้บริษัทระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และ (2) ให้บริษัทนำวัตถุอันตรายที่ครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไปจัดการให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยใช้แนวทางตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 โดยข้อ (1) ให้ดำเนินการทันที ส่วนข้อ (2) ให้เวลา 30 วัน
คำสั่งนี้ บริษัทยังมีสิทธิที่จะอุทธรณ์หรือโต้แย้งได้ และยังไม่ถึงขั้นที่ต้องรับโทษตามกฎหมาย เว้นแต่จะฝ่าฝืนคำสั่ง ซึ่งนี่เป็นไปตามหลักการและกระบวนการขั้นตอนตามกฎหมายปกติ
หนังสือคำสั่งฉบับดังกล่าวถูกนำไปติดไว้ที่หน้าประตูบริษัทเอกอุทัย สาขาอุทัย เมื่อ 2 พฤษภาคม ที่ผ่านมา วันเดียวกับที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมลงพื้นที่ด้วย หลังจากการไปตรวจดูพื้นที่เกิดเหตุไฟไหม้โกดังภาชี
ถือว่าราชการบังคับการตามกฎหมายครบแล้ว แต่ใครๆ ก็รู้ว่า ทั้งหมดเป็นการกระทำที่ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลลัพธ์ใดๆ เพราะความจริงก็ชัดเจนแล้วว่า สั่งมากี่ครั้งๆ บริษัทก็ไม่ได้แยแสคำสั่ง หนำซ้ำบริษัทได้ประกาศขายกิจการตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม 2566 แล้ว
อีกทั้ง ในเมื่อมีการสั่งหยุดกิจการและเพิกถอนใบอนุญาตไปแล้ว บริษัทก็ไม่อยู่ในอำนาจที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะจัดการควบคุมหรือให้คุณให้โทษอะไรได้อีก ใช่หรือไม่?
มองให้เห็นภาพใหญ่ของวงวัฏจักรเรื่องนี้ ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมความเข้มงวดในขั้นตอนการเปิดประตูให้เป็นผู้ประกอบการจึงสำคัญมาก และเหตุใดจึงไม่ควรใช้ระบบเปิดอิสระ แบบที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีอุตสาหกรรม และประธานกรรมาธิการการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร คิดและให้นโยบาย
ในกรณีของบริษัท เอกอุทัย ยังมีจุดที่พีคและชวนช็อกกว่านั้น ซึ่งทางมูลนิธิบูรณะนิเวศเพิ่งได้รับข้อมูลเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา
นั่นคือ ทางบริษัท เอกอุทัย ได้ให้สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่ง ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร้องเรียนขอความเป็นธรรม และเรียกร้องการดำเนินการทางวินัยและตามกฎหมายต่ออธิบดี กรอ. จุลพงษ์ ทวีศรี
ดูจากสิ่งที่ส่งมาด้วยกับหนังสือดังกล่าว พบว่า ทางบริษัท เอกอุทัย ยังได้แจ้งความดำเนินคดีกับจุลพงษ์ไว้ด้วย