ไร้หน่วยงานรัฐเหลียวแล - ชาวศรีเทพร้องต้องการอากาศบริสุทธิ์ หลังได้รับกลิ่นสารเคมี 5 ปีเต็ม (13 พ.ค. 67)
"อยากได้อากาศบริสุทธิ์" หนึ่งคำขอที่ชาวบ้านม่วงชุม ที่มีต่อหน่วยงานรัฐ เพื่อรีบดำเนินการแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นจากสารเคมีที่ได้รับผลกระทบมาตลอด 5 ปี
เช้าวันนี้ (13 พฤษภาคม 2567) ชาวบ้านม่วงชุม ต. คลองกระจัง อ. ศรีเทพ จ. เพชรบูรณ์ ได้ยื่นคำร้องเรื่อง ผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงานของบริษัท เอกอุทัย จำกัด (สาขาศรีเทพ) ต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) คลองกระจัง อีกครั้ง เพื่อขอให้ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากลิ่นเหม็นจากการประกอบกิจการโรงงานคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ของ บ. เอกอุทัยฯ
ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 29 เมษายน ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนเพื่อขอให้นายก อบต. คลองกระจังตรวจสอบและแก้ไขปัญหาไปแล้ว แต่ได้รับหนังสือตอบกลับชี้แจงว่า ผ้าคลุมที่บ่อฝังกลบ 1-2 ชำรุด ทำให้เกิดกลิ่นเหม็น และทาง อบต. ได้กำชับ บจ. เอกอุทัยฯ ให้แก้ไขผ้าคลุมที่ชำรุดดังกล่าวแล้ว
แต่ดูเหมือนว่าปัญหาของชาวบ้านจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากการร้องเรียนรอบล่าสุด ชาวบ้านยังได้รับผลกระทบด้านกลิ่นเหม็นและแสบจมูกเช่นเดิม จึงเดินทางมาร้องเรียนกับทาง อบต. อีกรอบ หวังให้หน่วยงานรัฐดำเนินการแก้ไขปัญหา
บ. เอกอุทัย จำกัด สาขาศรีเทพ ประกอบกิจการหลุมฝังกลบของเสียในพื้นที่บ้านม่วงชุมมาตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งตั้งแต่นั้นมา ชาวบ้านม่วงชุมได้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหากลิ่นเหม็น น้ำเสีย และอาการเจ็บป่วยมาโดยตลอด จนกระทั่งชาวบ้านได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และศาลได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำกับควบคุมให้บริษัทฯ แก้ไขปัญหาระงับเหตุเดือดร้อนของประชาชนให้เสร็จสิ้น และรายงานความคืบหน้าแก่ศาล
ทั้งนี้ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม จุลพงษ์ ทวีศรี เคยนำคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานรัฐลงพื้นที่ตรวจสอบความเดือดร้อนของชาวบ้านม่วงชุมเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 และพบว่าน้ำจากบ่อใต้ดินชาวบ้านม่วงชุมเหม็นกลิ่นสารเคมี ซึ่งไม่ใช่สารที่พบได้ในธรรมชาติ
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ซึ่งติดตามปัญหามลพิษในพื้นที่นี้มาตั้งแต่ปี 2564 ระบุว่า กรมควบคุมมลพิษเคยตรวจพบสารไวนิลคลอไรด์ และเบนซีนในบ่อสังเกตการณ์ของโรงงาน นอกจากนี้ รายงานของกรมทรัพยากรน้ำบาดาลในปี 2565 ยังระบุว่า สารอินทรีย์และสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่พบในบ่อน้ำตื้น น้ำคลองธรรมชาติ และน้ำบาดาลระดับลึกภายในหมู่บ้าน มีความสัมพันธ์สอดคล้องกับคุณสมบัติทางเคมีของน้ำชะขยะภายในโรงงานของ บ. เอกอุทัย
อนึ่ง การประกอบกิจการด้านจัดการกากอุตสาหกรรมของ บ. เอกอุทัย พบว่ามีด้วยกัน 3 สาขา คือที่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา และทุกสาขาของบริษัท ปรากฏเป็นข่าวด้านคดีความที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนอกจาก #สาขาศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับมลพิษจากบ่อฝังกลบขยะแล้ว ที่ #สาขากลางดง จ.นครราชสีมา ก็เคยถูกกล่าวหากรณีลักลอบทิ้งสารเคมี และที่ #สาขาอุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา ก็ถูกดำเนินคดีฐานลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมและลักลอบระบายน้ำเสียออกมาปนเปื้อนแหล่งน้ำสาธารณะด้วย
ในกรณีของ บ.เอกอุทัย สาขาศรีเทพ แม้ศาลได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกำกับควบคุมให้บริษัทฯ แก้ไขปัญหาระงับเหตุเดือดร้อนของประชาชนให้เสร็จสิ้น แต่ตลอดเกือบสองปีที่ผ่านมา ชาวบ้านม่วงชุมยังคงร้องเรียนถึงความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นสารเคมีจากโรงงานเรื่อยมา โดยไร้หน่วยงานรัฐเหลียวแล
ภาพถ่ายบ่อฝังกลบที่บ้านม่วงชุม เมษายน 2565 โดย ชำนัญ ศิริรักษ์ (ทนายใหญ่)