ความจริงใต้ “บ่อน้ำกรดลุงเทียบ” (13 พ.ค. 67)

 

 

 

 

ที่ดินของเทียบ สมานมิตร อยู่ด้านหลังโกดัง 5 หรืออาคารที่ 5 ของโรงงานบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหนองพะวา ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง
 


ณ จุดรอยต่อของที่ดินโรงงานกับสวนของเทียบนั้น มีบ่อน้ำธรรมชาติขนาดย่อมอยู่บ่อหนึ่ง เดิมทีมันถูกขุดขึ้นมาเพื่อที่จะเป็นแหล่งน้ำใช้ในการทำการเกษตร
 


แต่หลายปีมานี้ บ่อดังกล่าวเป็นที่รู้จักในชื่อว่า “บ่อน้ำกรดลุงเทียบ” เนื่องจากถูกตรวจพบว่าน้ำมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) อยู่ที่ประมาณ 2 pH เท่ากับมีความเป็นกรดแก่ หรือกรดเข้มข้น
 


สภาพของบ่อและน้ำเป็นดังเช่นภาพที่นำมาเสนอนี้ (ซึ่งถ่ายไว้ตั้งแต่ปี 2563) นั่นคือ น้ำเป็นสีดำวาว ส่วนรอบขอบบ่อมีสีส้มเข้มชัดเจน
 


ล่าสุด จากการตรวจเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2567 หลังเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานได้ 7 วัน ซึ่งน้ำดับไฟได้ไหลลงบ่อจำนวนมาก จนปริมาณของน้ำในบ่อมีเพิ่มขึ้นและเปลี่ยนมาเป็นสีเหมือนน้ำคลองขุ่น แต่ทว่าค่าความเป็นกรดแก่ของน้ำบ่อนี้ยังคงเดิม
 


นอกเหนือจากความเป็นกรดแล้ว หลายหน่วยงานเคยตรวจสอบบ่อน้ำในสวนลุงเทียบแล้ว พบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหลายชนิด ได้แก่ นิกเกิล แมงกานีส สังกะสี แคดเมียม และตะกั่ว
 


จากข้อมูลของนักธรณีวิทยา ดร.มนัสวี เฮงสุวรรณ ระบุไว้ว่า การปนเปื้อนของบ่อน้ำภายในสวนของเทียบถือเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า ลักษณะการเคลื่อนที่ของสารปนเปื้อนจากวินโพรเสสฯ นั้น มิได้เกิดจากการปนเปื้อนบนผิวดินเท่านั้น แต่ยังมีกระบวนการปนเปื้อนที่ค่อยๆ ไหลซึมผ่านใต้ดินมาอีกด้วย
 


“เนื่องจากสระน้ำบ้านลุงเทียบเป็นสระขุด ลงไปในชั้นตะกอนถึงชั้นน้ำบาดาลระดับตื้น ปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำในสระนี้จึงขึ้นอยู่กับระดับน้ำใต้ดินและคุณภาพน้ำใต้ดินในพื้นที่นั้นๆ เป็นหลัก” นักธรณีวิทยาชำนาญการระบุ
 


เธอให้ข้อมูลด้วยว่า ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่บ้านหนองพะวา รวมถึงบริเวณที่ตั้งโรงงานบริษัทวินโพรเสส ฯ รองรับด้วยตะกอนที่เกิดจากการผุพังของหินแกรนิตภายในพื้นที่ ชั้นตะกอนนี้มีความลึกประมาณ 10 เมตร มีคุณสมบัติระบายน้ำได้ดีปานกลาง ส่วนชั้นถัดลงไปเป็นหินแกรนิต ซึ่งเป็นหินแข็ง ยอมให้น้ำซึมผ่านได้น้อย ขึ้นอยู่กับรอยแตกและความต่อเนื่องของรอยแตกในหิน
 


และด้วยสภาพการไหลของน้ำใต้ดินของพื้นที่ ซึ่งบริเวณที่ตั้งโรงงานวินโพรเสสฯ ถือเป็นต้นน้ำที่จะไหลมายังที่ดินของเทียบ (ตามภาพที่แสดงไว้ในคอมเมนต์)
 


ในกรณีหากมีการปนเปื้อนใต้ดินในพื้นที่ต้นน้ำ เช่น การรั่วไหลของสารเคมี หรือการเทสารเคมีลงสู่ใต้ดินโดยตรง สารเคมีจะค่อยๆ ไหลผ่านชั้นดินไปในแนวดิ่ง และเมื่อไหลจนถึงระดับน้ำใต้ดิน สารเคมีเหล่านั้นจะเริ่มไหลไปตามแนวราบ ตามทิศทางการไหลของน้ำใต้ดิน
 


และนั่นจะทำให้การแพร่กระจายของสารมลพิษเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางรุนแรง
 


ยิ่งระยะห่างของแหล่งน้ำนั้นอยู่ใกล้แหล่งกำเนิดสารปนเปื้อนมากเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสพบสารปนเปื้อนที่มีความเข้มข้นสูง ดังเช่นกรณี “บ่อน้ำกรดลุงเทียบ” นั่นเอง
 

 

 


อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของนักธรณีวิทยายังบอกด้วยว่า ไม่เพียงแต่บ่อหรือสระน้ำในสวนของเทียบเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์กับระบบน้ำบาดาล ชาวบ้านหนองพะวาอีกหลายหลังคาเรือนก็มีบ่อน้ำบาดาลใช้กันมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว โดยบ่อมีความลึกตั้งแต่ 3 - 8 เมตร นั่นหมายความว่าระดับน้ำบาดาลในพื้นที่นี้ค่อนข้างตื้น
 


ดังที่พบว่า ในการขุดบ่อในพื้นที่โรงงานเพื่อรองรับน้ำฝน ซึ่งทำโดย อบจ. ระยอง เพียงขุดลงไปประมาณ 3-4 เมตรก็เริ่มเจอน้ำแล้ว
 


และนั่นบ่งบอกด้วยว่า สภาพทางธรณีวิทยาและการไหลของน้ำใต้ดินในพื้นที่หนองพะวา เป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ทำให้ปัญหาและผลกระทบของกรณีนี้ไม่ธรรมดาอย่างยิ่ง
 


อย่างที่เราบอกมาตลอด ว่าเพื่อที่จะแก้ปัญหา ไม่ใช่ซ้ำเติมหรือขยายปัญหา จำเป็นต้องใช้ความรู้กับกรณีนี้จริงๆ และต้องเป็นความรู้ที่อยู่บนข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย 
 


ขอบคุณข้อมูลจาก: ดร.มนัสวี เฮงสุวรรณ นักธรณีวิทยาชำนาญการ
ภาพถ่ายโดย กานต์ ทัศนภักดิ์