นายกฯ ต่างหากที่เป็นภัยคุกคามของประชาชนไปแล้ว! (10 พ.ค. 67)
เปิดเอกสารภารกิจรักษาความปลอดภัย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในโอกาสจะเดินทางไปยังพื้นที่ จ. ราชบุรี ระหว่างวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2567 นี้
ในเอกสารมีการ “ประเมินภัยคุกคาม” โดยส่วนหนึ่งของผู้คนที่ถูกจัดว่าเป็น “ภัยคุกคาม” ปรากฏบรรดาประชาชนที่ร้องเรียน/เรียกร้องการแก้ไขปัญหามลพิษและสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วย ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นแท้ที่จริงตั้งต้นมาจากการเป็น “ผู้ได้รับผลกระทบ” หรือ “เหยื่อ” ของโครงการพัฒนาของรัฐและโรงงานอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นตามแนวนโยบายของรัฐบาลยุคสมัยต่างๆ
อยู่มาวันหนึ่ง เพียงเพราะนายกฯ จะลงไปในแถบพื้นที่อันเป็น “บ้าน” ของพวกเขาเพียงแค่ 2 วัน ซึ่งยังไม่แน่ว่าอาจจะไม่ได้เฉียดกรายใกล้ถิ่นที่อยู่ของพวกเขาแม้แต่น้อย แต่กลับกลายเป็นว่า พวกเขาถูกจัดเข้าสาระบบการเป็น “ภัยคุกคาม” ของทางการไปแล้ว
หากผู้รับผิดชอบภารกิจด้านการรักษาความปลอดภัยของนายกฯ กล้าตีตราประชาชนง่ายๆ แบบนี้ มีทัศนะแบ่งแยก กีดกัน และเห็นประชาชนเป็นคนอื่นเฉกเช่นนี้ นายกฯ ก็ต้องรู้จักที่จะเลือกใช้งานและเลือกใช้ข้อมูล ให้สมกับที่เป็นผู้บริหารประเทศด้วย
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำหนองตาดั้ง เป็นโครงการของกรมชลประทานที่จะสร้างขึ้นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี ต. ตะนาวศรี อ. สวนผึ้ง จ. ราชบุรี วัตถุประสงค์คือเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ส่วนในด้านผลกระทบ อ่างเก็บน้ำนี้จะทำให้มีพื้นที่ต้องถูกน้ำท่วมประมาณ 2,000 ไร่ ในจำนวนนั้นเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าประมาณ 1,600 ไร่ และพื้นที่ดินทำกินและที่อยู่ของชาวบ้านพุระกำประมาณ 400 ไร่ นั่นหมายความว่า ประชาชนพุระกำที่เป็นคนปกาเกอะญอจะต้องถูกอพยพไปหาถิ่นที่อยู่ใหม่
ถ้าสถานการณ์เช่นนี้เกิดกับตระกูลทวีสิน ท่านนายกฯ จะเห็นด้วยกับโครงการอ่างเก็บน้ำดังกล่าวหรือไม่
ถ้าคิดแบบเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็น...แม้เพียงนิดเดียว ท่านนายกฯ ต้องเข้าใจได้ว่า เพียงการลุกขึ้นค้านโครงการดังกล่าวไม่ได้ทำให้ใครคนนั้นกลายเป็น “ภัยคุกคาม” ไปได้ พวกเขาคือคนที่ถูกโครงการของหน่วยงานรัฐคุกคามต่างหาก และกำลังพยายามเรียกร้องหาความเป็นธรรม
ส่วนกรณีของคนกลุ่มรักษ์ต้นน้ำ ต. น้ำพุ อ. เมือง จ. ราชบุรี พวกเขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ที่เข้ามาตั้งโรงงานบนพื้นที่ต้นน้ำ “ห้วยน้ำพุ” เมื่อประมาณปลายปี พ.ศ. 2543 ในชื่อบริษัทนิ้วเจริญ รีไซเคิล เพนท์ จำกัด
โรงงานก่อให้เกิดน้ำเสียไหลลงสู่ลำห้วยน้ำพุมาตั้งแต่แรก จนกระทั่งประชาชนใน ต. น้ำพุ ที่อยู่ปลายน้ำ และประชาชน ต. รางบัว อ. จอมบึง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงาน มีการร้องเรียนเรื่องผลกระทบดังกล่าวตั้งแต่ปี 2544 และร้องเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกหลายปีต่อมา จนกล่าวได้ว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายและทุกระดับต่างเคยได้รับเรื่องจากประชาชนในกรณีนี้
ประเด็นที่สำคัญยิ่งคือ ผลจากการตรวจสอบของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ล้วนพบชัดเจนว่า โรงงานกระทำผิดจริง ทั้งในมิติของกฎหมายและการก่อความเสียหาย กระทั่งในที่สุด ศาลแพ่งได้พิพากษาในคดีสิ่งแวดล้อมแบบกลุ่มคดีแรกของประเทศไทย ให้ทางบริษัทเจ้าของโรงงานจ่ายเยียวยาแก่กลุ่มประชาชนผู้ได้รับความเสียหาย เมื่อปลายปี 2563
แต่จนบัดนี้ ยังไม่มีใครสักคนได้รับเงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียว รวมถึงธนู งามยิ่งยวด ผู้ซึ่งสวนลำไยเกรดส่งออกต่างประเทศของเขาต้องล่มสลายหายไปทั้งสวนจากการยืนต้นตายเพราะขาดน้ำ ด้วยเหตุที่น้ำในลำห้วยน้ำพุปนเปื้อนมลพิษจนไม่อาจใช้มารดต้นลำไยได้
ธนูเปลี่ยนสถานะจากเจ้าของสวนลำไยส่งออกกลายเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวที่ไม่มีแม้เงินจ่ายค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนมาได้สองสามปีแล้ว
แต่มาวันนี้ คนอย่างธนู กลับได้รับการประทับตีตราให้เป็น “ภัยคุกคาม” และแม้มีคำบรรยายชัดว่าเขาคือ “ผู้เดือดร้อน” แต่กลับมีบทสรุปว่า “ปัญหาได้รับการช่วยเหลือแต่ยังไม่เป็นที่พอใจ”
หากสิ่งที่เกิดขึ้นกับธนูเกิดกับเจ้าหน้าที่ที่จัดทำเอกสารภารกิจรักษาความปลอดภัยแก่นายกฯ อยากรู้ว่า พวกท่านจะ “พอใจ” หรือ “พอเพียง” กับสิ่งที่ได้รับนี้หรือไม่ กลืนลงคอกับความเป็นธรรมเพียงแค่ได้ชื่อว่าชนะคดีหรือไม่
แต่ที่แน่ๆ ประชาชนกำลังรู้สึกว่า “พอกันที”! และนายกควรเลิกลงพื้นที่ได้แล้ว!
ถ้าท่านจะพอใจเห็นแต่ฉากสวยงาม ความรื่นรมย์ และภาพสร้างทั้งหลายแหล่ โดยไม่เคยแคร์ว่าความจริงเป็นอย่างไร หัวใจผู้คนในประเทศสุข-ทุกข์แบบใด
ขอจงได้ย้อนกลับไปทำตัวเป็นเซลล์แมนยังต่างประเทศดีกว่า เพราะแม้เปลืองเงินภาษีบ้าง แต่อย่างน้อย ประชาชนที่ทุกข์ยากอยู่แล้วจะได้ไม่ต้องถูกซ้ำเติมเช่นนี้
ภาพสวนลำไยโดย กานต์ ทัศนภักดิ์