การเสียสละภาคบังคับของเทียบ สมานมิตร (8 พ.ค. 67)
เทียบ สมานมิตร ชายวัย 68 ปี เป็นเจ้าของสวนทำการเกษตรในพื้นที่บ้านหนองพะวา หมู่ 4 ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง สวนของเขามาจากที่ดินมรดกที่พ่อแม่ทิ้งไว้ให้ พอได้รับช่วงมา เทียบเริ่มด้วยการทำสวนมะม่วง แต่เมื่อพบว่าขายไม่ได้ราคา ก็เปลี่ยนมาปลูกสวนยางพารา ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2550
ในช่วงหลายปีมานี้ มีผู้คนจำนวนมากมายหลายคณะเข้าเยี่ยมชมที่ดินของเทียบ และอดีตสวนยางพาราของเขาที่เริ่มล้มตายลงตั้งแต่ช่วงปี 2561 ไล่มาจากบริเวณสระน้ำในเขตพื้นที่โรงงานของบริษัท วิน โพรเสสฯ ซึ่งเริ่มเข้ามาซื้อที่ดินติดสวนของเขาเมื่อปี 2554
“โรงงานนี้เข้ามาประมาณหนึ่งปี คนในพื้นที่ก็ได้รับผลกระทบทันทีเลย เริ่มจากกลิ่นเหม็นก่อน แล้วน้ำเสียค่อยตามมา ...ประมาณปี 61 ต้นยางในสวนผมเริ่มตายละ ...แล้วก็ลาม จนประมาณปี 63 นี่ตายมากเลย ...มันตายไปเรื่อยๆ ผมก็ทำอะไรไม่ได้ สุดท้ายสวนคือแทบโล่งเลย แทบไม่เหลืออะไร” เทียบเล่าให้เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศฟังตั้งแต่เมื่อปี 2565
เรื่องราวเดียวกันนี้ถูกเล่ามาตลอดหลายปี และยิ่งต้องเล่าถี่ขึ้นในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นในโรงงานวิน โพรเสสฯ
ที่ผ่านมา เทียบมักบอกกับใครๆ ว่า เขาคือผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานดังกล่าวหนักที่สุดคนหนึ่ง แต่มาวันนี้ แม้แต่ตัวเขาเองก็คงคิดไม่ถึงว่าต้องมารับบทผู้เสียสละอีกด้วย โดยต้องยกที่ดินจำนวนถึง 10 ไร่ ให้สำหรับการขุดบ่อเพื่อรองรับน้ำเสียที่จะเกิดจากน้ำฝนตกชะซากกากของเสียผ่านไหม้ในโรงงานวิน โพรเสสฯ
แผนการดังกล่าวเกิดจากแนวคิดขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ระยอง นัยว่าเพื่อป้องกันมิให้น้ำเหล่านั้นไหลกระจายการปนเปื้อนไปยังพื้นที่อื่น ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้มีการขุดบ่อภายในพื้นที่ของโรงงานมาแล้ว แต่การดำเนินการมีความย้อนแย้งอย่างยิ่ง
เพราะเป็นเพียงการขุดบ่อดินเปลือยๆ ไว้รอรับน้ำโดยตรง ไม่มีการปูผ้าใบโดยรอบและที่ก้นบ่อ หรือมาตรการป้องกันการรั่วซึมใดๆ
การต้องเสียสละครั้งนี้ของเทียบจึงเกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์บีบบังคับอีกครั้ง ดั่งมีเขาควายรายรอบก็ว่าได้ ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ของส่วนรวม สภาพการณ์ที่ไม่มีทางเลือก เนื่องจากเขากลายเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ดีๆ แล้วมีโรงงานเข้ามาอยู่ใกล้และปล่อยมลพิษใส่ในเวลาต่อมา นอกจากนั้นยังมีอำนาจหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงานขุดบ่อนี้ให้ต้องเกรงใจด้วย
ดังนั้น อบจ. ระยองจึงควรดูแลด้วยการให้ค่าชดเชยแก่เทียบ หรือดีกว่านั้น หน่วยงานรัฐควรพิจารณาซื้อที่ดินจากเขาไปเลย ไม่ใช่ปล่อยให้ประชาชนคนหนึ่งต้องถูกทำร้ายซ้ำซาก
ภาพถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม มูลนิธิบูรณะนิเวศ
ภาพถ่ายโดรนโดย กานต์ ทัศนภักดิ์