อย่าปล่อยให้ "เผาแล้วจบ!!" กลายเป็นวิถีปกติในการปิดคดีอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม (1 พ.ค. 67)

 

 

วัฒนธรรม "เผาเพื่อจบปัญหา" มลพิษ เป็นสิ่งที่มูลนิธิบูรณะนิเวศเราจับสัญญาณมาได้สักพักแล้ว จนเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ที่โกดังภาชีและตำรวจสามารถหาหลักฐานได้ชัดว่าเกิดจากการวางเพลิง เราจึงโพสเตือนประเด็นนี้ไว้เมื่อเกือบ 2 เดือนก่อน
 


ชวนอ่านวันนี้ดูจะเข้ากับสถานการณ์ยิ่งนัก
------------------------
อย่าปล่อยให้ “เผาแล้วจบ!!” กลายเป็นวิถีปกติในการปิดคดีอาชญากรรมสิ่งแวดล้อม
 


ผลจากการตรวจสอบของตำรวจพิสูจน์หลักฐานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องขณะนี้ ยืนยันชัดเจนแล้วว่า เหตุการณ์ไฟไหม้ที่โกดังเถื่อนใน ต. ภาชี อ. ภาชี จ. พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นกรณีของการลอบวางเพลิงที่มีการวางแผนล่วงหน้าอย่างเป็นขั้นตอน
 


ข้อสรุปนี้มาจากการตรวจพบอุปกรณ์จุดระเบิดในรูปแบบการทำงานเดียวกับระเบิดปิงปองวางไว้ตามจุดต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เช่น บนกองสายไฟ ถุงบิ๊กแบกบรรจุขี้เลื่อยและบรรจุขี้เถ้า ซึ่งล้วนเป็นกากอันตรายทั้งสิ้น รวมแล้วเกือบ 30 จุด ทั้งในโกดัง 1, 2 และ 3 โดยจำนวนดังกล่าวไม่ได้รวมส่วนที่อาจถูกเผาไหม้ไปแล้ว แต่เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านั้นทำงานไม่ครบ เพลิงจึงไหม้ไปไม่ถึงโกดัง 3 นอกจากนั้นยังพบโหลแก้วบรรจุผงอลูมิเนียมจำนวนหนึ่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ระบุว่า เป็นวัสดุที่หากโดนความร้อนจะเกิดการระเบิดรุนแรงต่อเนื่อง นั่นจึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า เจตนาของการวางเพลิงครั้งนี้คือต้องการเผาทั้ง 5 โกดังในบริเวณนั้นให้มอดไหม้ทั้งหมด มิใช่เพียงเผาไหม้โกดัง 1 และ 2 ดังเหตุที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น
 


อีกทั้ง จากการตรวจสภาพรถบรรทุกที่ไหม้ไฟ เจ้าหน้าที่ยังพบว่าเป็นรถที่มีการถอดเครื่องยนต์ แบตเตอรี่ และเพลา ออกทั้งหมดแล้ว นั่นเท่ากับว่าส่วนที่ไหม้เป็นเพียงโครงรถที่ไม่หลงเหลือชิ้นส่วนมีค่าที่สามารถขายได้อีกตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ 
 


แน่นอนว่า สิ่งที่ผู้ลอบวางเพลิงต้องการให้ถูกเผามอดไหม้ไปทั้งหมดย่อมไม่ใช่ตัวโกดัง หากแต่เป็นสิ่งของที่เก็บไว้ในนั้น ซึ่งคือกากอุตสาหกรรมเคมีอันตรายหลากชนิดจำนวนมากหลายพันตัน ซึ่งมีสถานะเป็น “ของกลาง” ในคดีที่ทางตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือตำรวจ ปทส. กำลังรวบรวมสำนวนกรณีลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมเคมี เพื่อส่งพนักงานอัยการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อไป
 


กล่าวอย่างเฉพาะเจาะจง การลอบวางเพลิงครั้งนี้จึงเป็นการทำลายของกลางที่อยู่ระหว่างการอายัดเพื่อเป็นหลักฐานในการเอาผิดผู้เกี่ยวข้อง โดยเกิดขึ้นในโอกาสครบรอบ 1 ปีพอดี นับจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 อันเป็นวันที่เจ้าหน้าที่ทางการได้ตรวจพบการลอบซุกซ่อนกากสารเคมีและกากของเสียอุตสาหกรรมทั้งแบบอันตรายและไม่อันตรายไว้ในโกดังใน อ. ภาชีแห่งนี้ มีการคาดประมาณไว้ตั้งแต่ครั้งนั้นว่า เฉพาะสารเคมีที่เป็นของเหลวก็มีปริมาณถึง 4,000 ตันแล้ว
 


จากผลการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ ทปส. ที่ผ่านมา พบหลักฐานหลายอย่างเชื่อมโยงกับบริษัทเอกอุทัย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตจาก กรอ. ให้ประกอบกิจการในโรงงานประเภท 106
 


จากการทำงานของทางมูลนิธิบูรณะนิเวศในปัญหามลพิษจากกิจการรีไซเคิลมานาน พบว่า การประกอบกิจการของบริษัทแห่งนี้ก่อปัญหามลพิษแพร่กระจายในหลายจังหวัด และตกเป็นจำเลยในคดีสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ระยอง นครราชสีมา เพชรบูรณ์ และกรณีล่าสุดนี้คือที่พระนครศรีอยุธยา ซึ่งทางเพจนี้ได้เคยนำเสนอเรื่องราวเหล่านั้นไว้ทั้งหมดแล้ว
 


เมื่อพิจารณาเรื่องราวในภาพใหญ่อย่างเชื่อมโยงกัน กรณีที่เกิดขึ้น ณ โกดังใน อ. ภาชีนี้จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาชญากรรมสิ่งแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นกระบวนการใหญ่และมีความซับซ้อน และทั้งหมดเป็นเพียงปลายทางของความล้มเหลวโดยสิ้นเชิงของกระทรวงอุตสาหกรรมในการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายตลอดกว่า 40 ปีที่ผ่านมา และเป็นการหนีรอดความรับผิดชอบของบริษัทมีชื่อเสียงจำนวนมากที่เป็นเจ้าของกากอันตรายเหล่านี้
 


การกระทำล่าสุดที่เกิดขึ้นถือว่าอุกอาจ มีลักษณะเป็นอาชญากรรมซ้อนอาชญากรรมอย่างน่าตกใจ แต่กรณีเช่นนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นไปตาม “แบบแผนปกติ” ว่าด้วยการ “หาทางลง” สำหรับกรณีเมื่อมีการพบกองกากของเสียอุตสาหกรรมขนาดมหึมาที่ทางการสั่งให้ระงับ “การประกอบกิจการ” อันส่งผลทำให้ของเสียอุตสาหกรรมเหล่านั้น เปลี่ยนสถานะจากที่เคยสามารถสร้างรายได้ กลายเป็นภาระรายจ่ายจำนวนมหาศาลนับพันล้านบาท เนื่องจากจะต้องนำไปบำบัดกำจัด
 


ดังเช่นในกรณีของของเสียในโกดังที่ภาชีนี้ จากการเปิดเผยของรองอธิบดี กรอ. ระบุว่า สำหรับการกำจัดในระยะแรกคาดว่าจะใช้งบประมาณเป็นจำนวน 6.9 ล้านบาท ส่วนในระยะที่สองคาดว่าจะต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท และโดยรวมแล้วต้องใช้เวลาประมาณ 7-8 เดือนจึงจะกำจัดสารเคมีทั้งหมดได้ โดยในการดำเนินการต้องใช้งบประมาณแผ่นดินออกไปก่อน
 


ในขณะที่การติดตามเอาผิดผู้ก่อมลพิษไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนการจะเรียกเงินคืนก็มีขั้นตอนยุ่งยากและยาวไกลมาก ตราบเท่าที่ยังมีของกลางคาราคาซังอยู่ ผู้เกี่ยวข้องจึงอยู่เป็นสุขได้ยาก ตรงกันข้าม หากทำลายของกลางให้หายไปได้ ผู้ที่โล่งใจไม่ได้มีเพียงผู้ก่อมลพิษเท่านั้น
 


เมื่อในชั้นนี้หลักฐานชัดว่าเป็นการลอบวางเพลิงแล้ว ก็ต้องติดตามขั้นต่อไปว่า จากหลักฐานจะสาวไปยังผู้กระทำการได้หรือไม่ หรือจะเป็นดังเช่นกรณีก่อนๆ ที่ปล่อยให้ไฟช่วยเผาผลาญปัญหาและภาระส่วนหนึ่งจบลงไปเฉยๆ จับมือใครดมไม่ได้เลย!?