อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมลาออก ถึงเวลาคนระดับรัฐมนตรีและนายกฯ แสดงฝีมือจัดการมลพิษประเทศไทย (1 พ.ค. 67)
1 พฤษภาคม 2567 – ในที่สุดจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (อรอ.) ก็ประกาศลาออกแล้วในช่วงบ่ายวันนี้
ตามข่าวบอกว่าเป็นการที่จุลพงษ์แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งวันนี้มีการเชิญทางกระทรวงอุตสาหกรรมมาชี้แจงใน 2 กรณี ได้แก่ กรณีเหตุเพลิงไหม้กากสารเคมีของกลางในโรงงานของบริษัท วินโพรเสส จำกัด บ้านหนองพะวา ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง และกรณีการลักลอบขนย้ายกากแคดเมียมจาก จ. ตาก มายัง จ. สมุทรสาคร แล้วกระจายต่อไปยังหลายพื้นที่ ทั้งที่ ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ ซึ่ง อรอ. มาชี้แจง กมธ. ร่วมกับปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม
ก่อนหน้านี้มีข่าวทางลึกว่า อรอ. ยื่นหนังสือลาออกแล้วตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน ห่างเพียงสองวันจากเหตุการณ์ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ลงพื้นที่เกิดเหตุไฟไหม้โรงงานของวิน โพรเสสฯ และได้จี้ถาม อรอ. ถึง 2 ระลอก เกี่ยวกับการลงพื้นที่ล่าช้า
โดยเป็นการถามออกไมค์ในห้องประชุม ต่อหน้าเลขาธิการนายกฯ รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงอุตสาหกรรม รมว. สาธารณสุข และตัวแทนส่วนราชการจำนวนมากมาย ครั้งหนึ่ง และจี้ถามพร้อมกับตำหนิซึ่งหน้าอีกครั้งในช่วงที่เดินชมพื้นที่โรงงาน
นั่นเพราะในเหตุการณ์ไฟไหม้อดีตโรงงานของบริษัท วิน โพรเสสฯ ซึ่งเคยได้ชื่อว่าประกอบกิจการรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมอันตราย แต่ความจริงแล้วดูเหมือนจะเพียงรับกากอุตสาหกรรมเข้ามากักเก็บหมักหมมไว้ภายในพื้นที่โรงงานขนาด 70 กว่าไร่ เป็นเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลายวัน เริ่มจากรุ่งเช้าวันที่ 22 เมษายน 2567 แต่ อรอ. กลับเพิ่งลงพื้นที่เมื่อเช้าวันที่ 26 เมษายน
ประเด็นข่าวหลักจากการลงพื้นที่ดังกล่าวของนายกฯ จึงปรากฏออกมาว่า “นายกฯ เฉ่ง อรอ.” แทนที่จะเป็นประเด็นว่านายกฯ ได้ดำเนินการอะไรอันเป็นสาระและเป็นประโยชน์ต่อเหตุการณ์บ้างหรือไม่
จากนั้นติดตามมาด้วยข่าว รมว. อุตสาหกรรม พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ที่จะประชุมในช่วงสัปดาห์หน้า ให้ย้ายจุลพงษ์พ้นตำแหน่ง เพื่อเป็นการรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ไฟไหม้ที่เกิดขึ้น ซึ่งในภาษาของสื่อสารมวลชนพากันใช้คำว่า “เซ่น” โดยพร้อมเพรียง
เหล่านี้คืออีกฉากแห่งความฉาบฉวยที่ผู้บริหารประเทศได้แสดงออกมาอย่างบริสุทธิ์ใจ สะท้อนถึงความไม่สนและไม่ใส่ใจประสิทธิภาพและคุณภาพที่แท้จริง หรือกระทั่งความจริงของเรื่องราว ดูเหมือนจะถนัดในเรื่องการแสดงหน้าฉากพร้อมด้วยวาระซ่อนเร้นต่างๆ มากกว่า
ถ้านายกฯ เป็นคนสนใจความจริง มีการทำการบ้าน และมองปัญหาเชิงระบบ คงไม่คิดง่ายๆ และให้ค่ากับการมาปรากฏตัวในพื้นที่ แต่จะโฟกัสกับปฏิบัติงานที่เป็นการแก้ไขปัญหาจริงๆ ซึ่งในวันแรกที่ อรอ. จุลพงษ์ ทวีศรี ลงพื้นที่ ก็ได้เข้าพบอัยการจังหวัดระยองเพื่อหารือเกี่ยวกับเรื่องเงินวางศาลของโรงงานวิน โพรเสสฯ เพื่อที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะนำมาใช้บริหารจัดการกับกากของเสียที่เหลือต่อไป เนื่องจากนับตั้งแต่ศาลได้มีคำพิพากษาให้บริษัทกำจัดกากของเสียสารเคมีทั้งหมด บริษัทวิน โพรเสสฯ ก็ได้จ้างบริษัทบำบัดของเสียอีกแห่งหนึ่งมาดำเนินการภายใต้การกำกับของ กรอ. แต่สัญญาจ้างได้สิ้นสุดไปแล้วเมื่อปี 2566 โดยที่งานยังไม่แล้วเสร็จ จุลพงษ์จึงคิดที่จะนำเงินวางศาลมาเป็นงบประมาณให้ กรอ. ดำเนินการเอง
ส่วนสาเหตุที่ (อดีต) อรอ. เพิ่งลงพื้นที่ช้านั้น เจ้าตัวก็ได้มีการชี้แจง ซึ่งมีสื่อจำนวนหนึ่งได้ช่วยสื่อสารต่อจนชัดเจนแล้วว่ามีเหตุผลอย่างไร กล่าวคือ เมื่อวันที่ 23-25 เมษายน จุลพงษ์ติดภารกิจเดินทางไปหารือกับกระทรวงสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศญี่ปุ่น ในหลายประเด็นเกี่ยวกับการจัดการอุตสาหกรรมและการจัดการกากอุตสาหกรรมของประเทศไทย โดยไปร่วมกับวิจารณ์ สิมะฉายา ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ทั้งนี้ไม่นับว่า ถ้าให้ค่ากับความจริง ถึงแม้ว่าผู้มีฐานะเป็น อรอ. ในวันที่เกิดเหตุอุบัติภัยควรต้องเป็นผู้ร่วมรับผิดชอบต่อการระงับเหตุการณ์ แต่อธิบดีคนปัจจุบันก็ไม่ใช่ผู้เป็นต้นเหตุของความเลวร้ายนี้ ถ้าจะมี อรอ. สักคนต้องรับผิดชอบ ควรจะเป็นอดีตอธิบดี ณ ปี 2560 ที่มีการออกใบอนุญาตประกอบการและครอบครองวัตถุอันตรายให้แก่วิน โพรเสสฯ แบบรัวๆ ถึง 7 ใบ มากกว่าหรือไม่ นอกเหนือไปจากผู้ดำรงตำแหน่งอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ซึ่งทางเพจมูลนิธิบูรณะนิเวศก็ได้เปิดชื่อไปแล้ว ในโพสต์ข้อความเรื่อง “มหากาก” หนองพะวา ตอน 3
สำหรับจุลพงษ์ ในเวลานั้นเขาเป็นรอง อรอ. และอยู่ในฝ่ายที่มีความเห็นทักท้วงการออกใบอนุญาตแก่วิน โพรเสสฯ เสียด้วยซ้ำ
จึงไม่แปลกที่จุลพงษ์จะเลือกลาออก แทนที่จะถูก “เซ่น” ในความหมายเดียวกันกับคำว่า “สังเวย” ซึ่งในฉากเหตุการณ์เมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน เขาก็เสมือนถูกสังเวยเล็กๆ ไปรอบหนึ่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม แท้จริงแล้ว ต่อเหตุการณ์อุบัติภัยมหันต์ที่เกิดขึ้นที่หนองพะวา ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องมีการเซ่นสังเวยใดๆ แต่ต้องการการแก้ปัญหาที่จริงจังและหมดจดมากกว่า ซึ่งต้องการทั้งการลงทุนและการลงลึกด้วยความรู้
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการย้าย อรอ. หรือการลาออกเอง ย่อมจะไม่เกิดประโยชน์อะไร แต่แย่กว่านั้นคือ ไม่แน่ว่าอาจมีบางสิ่งที่ต้องพลอยถูกสังเวยไปด้วยหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น การจัดการกับกากของเสียอันตรายของโรงงานรีไซเคิลบริษัทแวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต. รางบัว อ. จอมบึง จ. ราชบุรี ที่ปัจจุบันยังคงดำเนินการค้างคาอยู่
ที่นั่นมีกองกากอุตสาหกรรมทั้งอันตรายและไม่อันตรายคงเหลือไว้ในอาคารและใต้ดินของโรงงานที่เลิกประกอบกิจการแล้ว เนื่องจากศาลตัดสินว่าได้สร้างผลกระทบทำลายสิ่งแวดล้อมและชุมชนเสียหาย ต้องชดใช้และแก้ไขบำบัดสารพิษทั้งหลายและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม โรงงานจึงเลิกประกอบกิจการ เจ้าของแจ้งล้มละลาย เหลือภาระทั้งหลายไว้ อีกทั้งได้เคยเกิดเหตุไฟไหม้โรงงานเผาผลาญกากอุตสาหกรรมไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565
คงเหลือไว้ซึ่งซากอาคารผ่านไฟไหม้ พร้อมกับกองซากกากปริมาณมหาศาล ลำห้วยที่ปนเปื้อนด้วยสารพิษ สวนลำไยคุณภาพส่งออกของคนพื้นที่ที่ล่มสลายไปแล้วทั้งสวน สุขภาพของคนพื้นที่หลายร้อยรายที่มีสารพิษอยู่ในเลือดเนื้อ ฯลฯ
กล่าวได้ว่า เส้นเรื่องของแวกซ์ กาเบ็จฯ แทบไม่แตกต่างจากวิน โพรเสสฯ และหากเทียบกันก็ยังตัดสินยากว่ากรณีใดเลวร้ายกว่ากัน ซึ่งทั้งสองกรณีเป็นผลงานอันเลวร้ายของอดีต อรอ. และอุตสาหกรรมจังหวัดในอดีต แต่คนเหล่านั้นกลับไม่ต้องรับผิดอะไรจนกระทั่งปัจจุบันนี้
จุลพงษ์เข้ารับดำรงตำแหน่ง อรอ. เมื่อปี 2565 และให้ความใส่ใจเข้าแก้ไขกรณีแวกซ์ กาเบ็จฯ อย่างที่อธิบดีคนก่อนๆ ไม่เคยทำ
แท้จริงแล้ว ผลงานของจุลพงษ์ไม่ได้โดดเด่นเป็นพิเศษนัก กรณีแวกซ์ กาเบ็จฯ เองก็คืบหน้าเชื่องช้า ส่วนหนึ่งแม้เป็นเพราะความยากของกรณี โดยเพียงโจทย์เรื่องงบประมาณที่ต้องใช้หลายร้อยล้านบาทก็ไม่ง่ายแล้ว แต่อีกส่วนก็ดูเหมือนจะเกิดจากการที่จุลพงษ์ไม่ได้แตกต่างจากข้าราชการไทยทั่วไป เขาไม่ใช่คนแข็งกร้าวสายลุยหรือเด็ดขาด เขาเดินตามขั้นตอนและระบบ เน้นให้ตัวเองปลอดภัย
แต่คงเพราะจุลพงษ์เป็นคนที่ลงดู “ความจริง” ในพื้นที่มลพิษทั้งหลายด้วยตัวเองมากกว่าคนในตำแหน่งเดียวกันคนอื่น ๆ และมากกว่าคนที่ตำแหน่งสูงกว่าทั้งหลายด้วย สำหรับชาวบ้านในพื้นที่มลพิษจึงรู้จัก อรอ. คนนี้ และถ้าไปถาม พวกเขาน่าจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ รมว. อุตสาหกรรม วางแผนจะทำในสัปดาห์หน้า เช่นเดียวกันกับผู้สื่อข่าวสายมลพิษที่รู้ความจริงในแวดวงนี้ี
สารพัดเรื่องเกี่ยวกับมลพิษที่กำลังปะทุเดือดออกมาในช่วงนี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องใหญ่ที่สามารถส่งผลเลวร้ายมหันต์ในวงกว้างอย่างยาวนาน เมื่อไม่มี อรอ. ที่ชื่อจุลพงษ์ ทวีศรี ก็อาจจะเป็นโอกาสอันดีที่จะได้คนระดับรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเข้ามารับมือและแก้ไขปัญหาเหล่านี้
ก็คงได้แต่ชวนทุกท่านร่วมลุ้นไปด้วยกัน ว่าเรื่องราวจะยกระดับดีขึ้น หรือดิ่งลงเหวไปกันใหญ่!?