เจาะดูสารพิษในอากาศที่ชาวหนองพะวาและหมู่บ้านใกล้เคียงต้องสูดหายใจ (26 เม.ย. 67)

 

 

วันนี้ (26 เมษายน 2567) วันที่ห้าของเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกักเก็บสารพิษ บริษัท วิน โพรเสสฯ ณ บ้านหนองพะวา ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง ปัญหาควันพิษที่ปลดปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องจากพื้นที่ไฟไหม้ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่
 


เนื่องจากภายใต้กองซากกากเคมีที่ผ่านไฟไหม้แล้วยังมีความร้อนระอุและลุกไหม้อยู่ภายใน จากการที่โรงงานแห่งนี้มีการหมกเก็บกากของเสียอันตรายรวมกันไว้อย่างไร้ระเบียบ และมีการวางซ้อนทับหลายชั้น บางครั้งที่เห็นด้านบนเป็นกองตระกรันอะไรสักอย่าง แต่ข้างใต้คือกองถัง IBC ขนาดความจุ 1,000 ลิตรหรือที่บางคนเรียกว่า ถังเบลาก์ ที่เต็มไปด้วยกากเคมีเหลว หรือน้ำมันเครื่องใช้แล้ว เป็นต้น 
 


ไม่นับว่า วิน โพรเสสฯ มีการขุดหลุมและหมกอัดกากของเสียทั้งไม่อันตรายและอันตราย ที่เป็นของแข็งและของเหลว ลงใต้ดินอีกจำนวนมหาศาลด้วย 
 


เรื่องนั้นทางเพจจะนำมาเปิดเผยในตอนต่อไป แต่สำหรับเนื้อหาชิ้นนี้ขอขยายความเรื่องคุณภาพอากาศที่เป็นผลพวงของเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานวิน โพรเสสฯ ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นวันที่ห้าแล้ว
 


ช่วงหัวค่ำวานนี้ (25 เมษายน 2567 ประมาณ 18.00 น.) เพจกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้เผยแพร่ผลการดำเนินการติดตามสถานการณ์กรณีเหตุเพลิงไหม้โกดังโรงงานของ บริษัท วินโพรเสส จำกัด จังหวัดระยอง สรุปสาระสำคัญได้ว่า
 


1) ภาพรวมจากที่เกิดการลุกไหม้บริเวณโกดัง 5 และโกดัง 3 ต่อเนื่อง ซึ่งมีการจัดเก็บขยะทั่วไป กากตะกรันอะลูมิเนียม และกากของเสียอื่น ๆ ประกอบกับสภาพอากาศปิดในช่วงเช้า ทำให้มีกลุ่มควันปกคลุมอยู่ในระดับต่ำ และเขม่าควันที่ปนเปื้อนไอกรด – ด่าง รวมถึงยังคงมีกลิ่นเหม็นจากเหตุเพลิงไหม้ที่เกิดขึ้น
 


2) ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศบริเวณภายนอกโรงงานและพื้นที่ชุมชนด้านท้ายลม ระยะห่างจากโรงงานไปทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 300 เมตร ถึง 5 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2567 ช่วงเย็น ระหว่างเวลา 18.20 – 24.00 น. ตรวจพบสารอะคริโลไนไตรล์ (Acrylonitrile) สารไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) และสารเมทิลเมอร์แคปเทน (Methyl Mercaptan) ในพื้นที่หมู่ 8 
 


ตรวจพบสารอะคริโลไนไตรล์ (Acrylonitrile) และสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ในพื้นที่หมู่ 4 และ 11
 


สำหรับวันที่ 25 เมษายน 2567 ช่วงเช้า เวลา 06.00 – 06.50 น. ตรวจพบสารเมทิลเมอร์แคปเทน (Methyl Mercaptan) ในพื้นที่หมู่ 4 จำนวน 2 จุด
 


คพ. ระบุด้วยว่า “สารเคมีที่ตรวจพบทั้ง 2 วัน อยู่ในระดับที่จะส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ ระคายเคืองตาและผิวหนัง ซึ่งได้มีการรายงานข้อมูลผ่านศูนย์บัญชาการของจังหวัดระยอง เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และปฏิบัติตนเมื่อได้รับสัมผัสสารเคมีตามข้อแนะนำของกรมควบคุมมลพิษ อาทิ ให้ชำระล้างร่างกายให้สะอาดด้วยการฟอกสบู่และล้างด้วยน้ำ ระคายเคืองตาล้างด้วยน้ำสะอาด เมื่อมีการสูดดมไอสารเคมีให้รีบออกจากพื้นที่โดยเร็ว พร้อมทั้งสังเกตอาการตนเอง หากเกิดอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์ทันที เป็นต้น สามารถเข้ารับบริการด้านสาธารณสุขจากศูนย์อพยพในพื้นที่ อบต. หนองบัว และ อบต. บางบุตร”
 

 

 


สิ่งที่มูลนิธิบูรณะนิเวศอยากขยายความก็คือเรื่องของสาร 3 ชนิดที่ คพ. เอ่ยถึง
 


เริ่มด้วยสารอะคริโลไนไตรล์ (Acrylonitrile) ตัวนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จัดเป็น “สารเคมีอันตรายสูง” และถึงกับมีเอกสารคู่มือการจัดการเป็นการเฉพาะ ความหนา 135 หน้า
 


ตามคู่มือดังกล่าว หัวข้อความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัยและสุขภาพ ระบุว่า “อะคริโลไนไตรล์เป็นสารไวไฟสูงและมีคุณสมบัติระเบิดได้เมื่อผสมกับกับอากาศในอัตราส่วนที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังเกิดปฏิกิริยาคายความร้อนอย่างรุนแรงและเกิดความเสี่ยงในการเกิดการระเบิดได้” และบอกด้วยว่า ผู้ปฏิบัติงานที่เสี่ยงได้รับสัมผัสสารอะคริโลไนไตรล์ “อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง”
 


นอกจากนั้นมีการระบุปัญหาเรื่องการระคายเคืองและเป็นพิษต่อดวงตา ระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง ว่าอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ “มีความเสี่ยงที่จะก่อผลกระทบหรือปัญหาสุขภาพเฉพาะที่และความเป็นพิษต่อระบบการทำงานของร่างกาย เช่น ระบบหายใจ ระบบประสาท ระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น เนื่องจากการสูดดมไอระเหยของอะคริโลไนไตรล์ซ้ำๆ”
 


อีกคุณสมบัติหนึ่งของสารตัวนี้ที่คู่มือของ กรอ. กล่าวไว้ก็คือ “ไอระเหยของอะคริโลไนไตรล์มีความหนาแน่นมากกว่าอากาศ ทำให้เมื่อรั่วไหลออกมาจะเคลื่อนตัวลงตัวระดับพื้น”
 


ส่วนเรื่องความเป็นพิษ เราขอข้ามการกล่าวถึงพิษเฉียบพลันหรือเฉพาะหน้า เพราะเริ่มมีแนวโน้มที่ คพ. จะกล่าวถึงส่วนนั้นอยู่บ้างแล้ว จึงขอไปดูที่พิษเรื้อรัง ซึ่งคู่มือฯ ของ กรอ. ระบุดังนี้
- การได้รับอะคริโลไนไตรล์ทางผิวหนังซ้ำเป็นระยะเวลานาน จะก่อให้เกิดการระคายเคือง ผิวหนังอักเสบ และอาการแพ้ของผิวหนัง
- อวัยวะที่อะคริโลไนไตรล์จะเข้าไปทำลาย เช่น ตับ ระบบประสาทส่วนกลาง ระบบหัวใจ หลอดเลือดและไต เป็นต้น
- อะคริโลไนไตรล์มีผลต่อระบบเจริญพันธุ์ของคน
- IARC หรือองค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติ ระบุให้อะคริโลไนไตรล์อยู่ในสารเคมีกลุ่ม 2B คือมีความเป็นไปได้ที่จะก่อมะเร็งในมนุษย์
 


มาถึงชนิดที่สอง ไฮโดรเจนไซยาไนด์ (Hydrogen cyanide) ซึ่งชื่อนี้เหมือนเป็นคำผสมสองคำที่คนทั่วไปคุ้นเคยดี โดยเฉพาะไซยาไนด์ที่เป็นสารพิษชนิดรุนแรงออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว จนกระทั่งเป็นที่นิยมเอามาใช้ฆ่ากันตาย!! 
 


ไซยาไนด์นี่แหละ เมื่ออยู่ในรูปแบบก๊าซจากการเผาไหม้ก็จะเป็นไฮโดรเจนไซยาไนด์ หรืออาจอยู่ในรูปแบบของเหลวใสที่ระเหยเป็นก๊าซได้ง่ายที่อุณหภูมิห้อง
 


ยามเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้และเกิดควัน ในควันจะมีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรเจนไซยาไนด์เป็นส่วนประกอบ ซึ่งไฮโดรเจนไซยาไนด์มีอันตรายกว่าคาร์บอนมอนอกไซด์มาก
 


จากเว็บไซต์ https://caiengineering.com/ไฮโดรเจนไซยาไนด์-อันตรา/ ระบุว่า ก๊าซพิษชนิดนี้ไม่มีสี แต่มีกลิ่นฉุน และสามารถส่งผลกระทบรุนแรงต่อร่างกาย แบ่งเป็น พิษเฉียบพลัน เช่น อาการหายใจติดขัด เลือดไหลเวียนผิดปกติ สมองบวม หัวใจหยุดเต้น ชัก และหมดสติ และสามารถเสียชีวิตได้ในเวลา 30 นาที ถึง 1 ชั่วโมง แต่อาการเฉียบพลันเช่นว่านี้พบได้น้อย เพราะต้องได้รับสารครั้งเดียวในปริมาณมาก
 


ส่วนพิษแบบเรื้อรังอันเกิดจากการได้รับไฮโดรเจนไซยาไนด์ปริมาณเล็กน้อยแต่ต่อเนื่องยาวนาน อาจทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ง่วงซึม เกิดผื่นแดง และอื่นๆ ส่งผลให้รูม่านตาขยาย อ่อนแรง หายใจแผ่ว ตัวเย็น เป็นต้น หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำให้เสียชีวิตได้
 


และสำหรับสารตัวสุดท้ายที่ คพ. เอ่ยถึงว่าพบในอากาศบ้านหนองพะวา คือสารเมทิลเมอร์แคปเทน (Methyl Mercaptan) สารนี้จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มสารที่ทำให้เกิดกลิ่น ซึ่งใช้เป็นสารเติมกลิ่นในก๊าซหุงต้ม และใช้ในยาปราบเชื้อรา
 


จากหนังสือคู่มือวิชาการ เรื่อง แนวทางการตรวจสอบกลิ่นรบกวนสำหรับเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลไว้ว่า สารตัวนี้เป็นก๊าซของเหลวใสไม่มีสี มีกลิ่นแบบก๊าซหุงต้ม ผลกระทบทางสุขภาพคือ “มีพิษมากต่อระบบประสาทส่วนกลาง หากได้กลิ่นรุนแรงต้องระวัง”


 

 


หลังจากได้ทำความรู้จักสาร 3 ชนิดแล้ว มูลนิธิบูรณะนิเวศเรายิ่งรู้สึกกังวลและห่วงใยชาวหนองพะวาและหมู่บ้านข้างเคียง เพราะนี่ยังไม่นับว่า มีสารเคมีใดที่เครื่องมือตรวจไม่ถึง หรือตรวจพบแล้วแต่ไม่ได้รายงานออกมาบ้างหรือไม่
 


ดังนั้น จึงอยากขอให้ผู้ติดตามเพจเราช่วยกันส่งเนื้อหาโพสนี้ไปยังผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายให้กว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนราชการทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับท้องถิ่นและส่วนกลาง ด้านปกครองก็ดี สาธารณสุขก็ดี หรือแม้แต่สิ่งแวดล้อม รวมถึงบรรดานักวิชาการด้านเคมี สุขภาพ และสิ่งแวดล้อมด้วย
 


เราเข้าใจดีว่าหน่วยงานและนักวิชาการทั้งหลายมีความรู้มากกว่าองค์กรพัฒนาเอกชนเล็กๆ อย่างเรามากมาย แต่เผื่อว่าท่านอาจยังไม่ทราบถึงสถานการณ์ในพื้นที่ ว่าขณะนี้มีประชาชนคนไทยกลุ่มหนึ่งถูกห้อมล้อมด้วยอากาศพิษและต้องใช้ชีวิตอยู่กับกองพิษภัยเคมีเต็มสูบ และนี่ล่วงเข้าสู่วันที่ 5 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ดับเพลิงยังไม่สามารถดับไฟให้มอดสนิทและระงับควันพิษได้!!!
 


เนื่องจากพิษภัยเคมีเป็นเรื่องเฉพาะ จึงต้องการท่านผู้มีความรู้ทั้งหลายช่วยเหลือ/นำทางการแก้ไขปัญหานี้ เพื่อเสริมกำลังหน่วยงานต่างๆ ของรัฐให้แข็งแกร่งขึ้นมารับมือได้
 


ถึงแม้ว่าชาวหนองพะวาและหมู่บ้านข้างเคียงอาจไม่ใช่คนกลุ่มใหญ่ และที่สำคัญคือเป็นผู้คนธรรมดา แต่ชีวิตของพวกเขาก็มีค่าไม่น้อยกว่าผู้ประสบภัยกรณีอื่นใด
 


ภาพถ่ายโดยกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์หนองพะวา เช้าวันที่ 26 เมษายน 2567