วันนี้ในอดีต - 38 ปี โศกนาฏกรรมเชอร์โนบิล กับความพยายามของรัฐไทยในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ (26 เม.ย. 67)

 

 

หากจะพูดถึงอุบัติภัยระดับโลกที่สร้างความเสียหายมหาศาลและชวนหดหู่อย่างลึกซึ้ง หนึ่งในสามลำดับแรกคงหนีไม่พ้น “โศกนาฏกรรมเชอร์โนบิล” ที่เกิดขึ้นในช่วงกลางดึกของวันที่ 26 เมษายน 2529 
 


คืนนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในพื้นที่ของสหภาพโซเวียตเกิดการระเบิด ส่งผลให้สารกัมมันตรังสีฟุ้งกระจายสู่ชั้นบรรยากาศและถูกพัดพาไปหลายพันกิโลเมตร เป็นเหตุต้องอพยพประชากรกว่า 300,000 คนในพื้นที่สหภาพโซเวียต เบลารุส และยุโรปตะวันออก ออกจากพื้นที่อย่างฉุกเฉิน นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังได้เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิตจากอุบัติภัยดังกล่าวสูงถึง 9,000 คนในเวลาต่อมา
 


การระเบิดครั้งนั้นสร้างความเสียหายประมาณ 235,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ไม่น้อยเช่นกัน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม รวมถึงก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านนิวเคลียร์ทั่วโลก
 


หลายประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรปเริ่มนับถอยหลังสู่การยุติการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งๆ ที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยีดังกล่าว ส่งผลให้เอกชนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องมองหาลูกค้าใหม่ๆ และประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น
 


จนกระทั่ง 10 กว่าปีให้หลัง ผู้คนเริ่มหันกลับมาให้ความสนใจพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง เพราะความรุนแรงของภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องลดการใช้พลังงานฟอสซิล เปิดโอกาสให้พลังงานนิวเคลียร์แทรกตัวเข้ามาเสนอตัวเป็นพลังงานทางเลือกที่ไม่ก่อปัญหาโลกร้อน แต่ไม่ได้พูดถึงด้านมืดที่ก่อหายนะได้เฉียบพลันกว่า
 


แต่แล้วเหตุที่เป็นเหมือนฝันร้ายก็เกิดขึ้นอีกครั้งในญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2544 ภายหลังเกิดแผ่นดินไหว 9.0 ริกเตอร์บริเวณชายฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น ทำให้เตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะได้รับความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิ จนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีปริมาณมหาศาล 
 


เหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้ญี่ปุ่นลดการทำงานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หลายแห่ง และหลายประเทศเริ่มหันมาทบทวนและปลดระวางเตาปฏิกรณ์ที่มีอยู่อีกครั้ง แต่ยกเว้นประเทศไทย
 


ความพยายามที่จะสวนกระแสโลกในด้านความตระหนักต่อพิษภัยนิวเคลียร์นั้น ดูเหมือนจะไม่เคยสร่างซาสำหรับประเทศไทย โดยความพยายามครั้งแรกเกิดในปี 2509 เป็นความพยายามก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 500 เมกะวัตต์ บริเวณอ่าวไผ่ อ. ศรีราชา จ. ชลบุรี แต่ก็ต้องชะลอโครงการออกไปแบบไม่มีกำหนด เพราะประชาชนคัดค้าน ประกอบกับมีการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จนเกิดกระแส “โชติช่วงชัชวาล” หันเหทิศทางเชื้อเพลิงของประเทศไปในทางก๊าซธรรมชาติ
 


ถัดมาในปี 2536 สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเสนอโครงการเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย (5-10 เมกะวัตต์) อ. องครักษ์ จ. นครนายก แต่แผนก่อสร้างต้องหยุดลง เนื่องจากปัญหาความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม (แม้จะเป็นเพียงเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณูวิจัย แต่ก็ผลิตกากกัมมันตรังสีเช่นกัน)
 


แผนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ปรากฏขึ้นอีกครั้งในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2550 (Power Development Plan 2550: PDP 2550) โดยมีข้อเสนอให้มีการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2563 จำนวน 4 โรง กำลังการผลิตไฟฟ้าโรงละ 1,000 เมกะวัตต์ โดยให้เหตุผลว่า “โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางเลือกที่จะสนองตอบความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ นิวเคลียร์ยังจัดเป็นพลังงานสะอาดและมีส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน"
 


มีการจัดทำแผน PDP ใหม่อีกครั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ครม. ได้เห็นชอบแผน PDP 2553 เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2553 โดยกำหนดให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จำนวน 5 โรง ขนาดกำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์
 


หลังเกิดอุบัติภัยที่ฟุกุชิมะ เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2554 ไทยจึงมีการทบทวนการจัดตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง นำไปสู่การปรับปรุงแผน PDP 2553 ครั้งที่ 2 ปรับลดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหลือ 4 โรง รวม 4,000 เมกะวัตต์ และ ครม. มีมติในวันที่ 3 พ.ค. 2554 ให้เลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปในปี 2569 โดยให้เหตุผลว่า “เพื่อขยายเวลาเตรียมความพร้อมด้านความปลอดภัยและสร้างการยอมรับจากประชาชน" จนทำให้ในแผน PDP 2553 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ลดจำนวนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหลือ 2 โรง รวม 2,000 เมกะวัตต์
 


ส่วนในแผน PDP 2558 ยังคงนโยบายจัดสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้คงเดิม ตามแผน PDP 2553 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3
 


อย่างไรก็ตาม ในแผน PDP 2561 มีการถอดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป และหันมาเน้นเชื้อเพลิงก๊าซและพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก (แต่นิยามพลังงานหมุนเวียนก็รวมโรงไฟฟ้าขยะไว้ด้วย) และในแผน PDP 2561 ฉบับปรับปรุงครั้งนี้ 1 (แผนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน) ก็ไม่ปรากฏโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในแผนเช่นเดียวกัน
 


ล่าสุดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกครั้ง เมื่อนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน กล่าวในเวทีเสวนา RESHAPING THAILAND FOR A SUSTAINABLE FUTURE ในวันที่ 16 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา ว่าสัดส่วนของพลังงานจะเป็นโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ พลังงานนิวเคลียร์เป็นพลังงานสะอาดและมีราคาถูก หากมองไปในอนาคตทุกๆ ประเทศก็จะมีพลังงานสะอาดใช้ และเตรียมไปศึกษางานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศฝรั่งเศส
 


“เร็วๆ นี้ ผมจะเดินทางไปเยือนฝรั่งเศสเพื่อประชุมทวิภาคีร่วมกับประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จึงมอบหมายให้ว่าที่ผู้ว่าฯ (ซีอีโอใหม่ ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง) ของ บมจ.ปตท. หรือ PTT ติดต่อนัดเพื่อศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฝรั่งเศสว่าดำเนินการอย่างไร เป็นการวางรากฐานไว้ว่าต้องมาดูเรื่องนี้ไหม แล้วจะต้องดูแน่นอน” เศรษฐากล่าว
 


เกือบ 1 เดือนถัดมา (มีนาคม 2567) ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับปรุงแผนพลังงานชาติ ซึ่งประกอบด้วย 1. แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2. แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3. แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4. แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) 
 


โดยแผน PDP ฉบับใหม่จะมีตัวเลือกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 70 เมกะวัตต์ ในแผน โดยจะมีการเปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อไป
 


“ตั้งใจจะเปิดประชาพิจารณ์ทั้ง 5 แผนไปพร้อมกันเลย โดยแผน PDP ต้องมีพลังงานหมุนเวียนกว่า 50% ในปี 2623 และจะยังคงมีตัวเลือกของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก 70 เมกะวัตต์ ไว้ในแผน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะช่วยศึกษาขนาดพื้นที่ร่วมกับสมาคมนิวเคลียร์แห่งประเทศไทย สิ่งสำคัญคือสร้างความเข้าใจและการรับรู้ที่ถูกต้องว่าพลังงานนิวเคลียร์สามารถบริหารจัดการได้ มีความปลอดภัย เกิดประโยชน์กับประเทศ ทั้งด้านความมั่นคง ราคา และสิ่งแวดล้อม”
 


หากมองจากมุมของภาครัฐ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งยังเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยคาร์บอน แต่ต้องไม่ลืมว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก และใช้เวลาในการก่อสร้างเป็น 10 ปี ดังนั้นมันจะบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ทันหรือไม่?
 


อีกทั้งประเทศไทยก็ไม่ได้มีแร่ยูเรเนียม ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ ท้ายที่สุดแล้วเราก็ต้องไปเสียเงินนำเข้าเชื้อเพลิงมาจากต่างประเทศ
 


และประเด็นใหญ่สุดคือเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไม่ก่อให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก” แต่จะก่อให้เกิด “กากกัมมันตรังสี” จำนวนมหาศาล ซึ่งจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน และเราไม่มีทางจะปลอดภัย ถ้าไม่เก็บกักในสภาพที่ห้ามมีการรั่วไหลโดยสิ้นเชิง
 


อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญมากที่สุดคือเรื่องอุบัติภัย เหตุการณ์อย่างเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะมีโอกาสเกิดขึ้นง่ายมากสำหรับบริบทแบบประเทศไทย โดยที่ความพร้อมในการรับมือและจัดการความเสี่ยงในเรื่องนี้แทบจะไม่มี ดูจากกรณีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกักเก็บกากสารพิษของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด บ้านหนองพะวา ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง ก็หมดจะคำจะกล่าวแล้ว
 


กลับจากดูงานแล้ว อยากให้นายกฯ เศรษฐา ลองศึกษาโศกนาฏกรรมเชอร์โนบิลเมื่อ 38 ปีที่แล้วดูเสียหน่อย
 


หาความรู้ก่อนลงมือทำ จะได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์แท้จริง 
 


เรื่องโดยพิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่ ภาพจาก en.wikipedia.org