“มหากาก” หนองพะวา (ตอน 3 – ใคร? เกี่ยวข้องโรงงานวิน โพรเสสฯ) (25 เม.ย. 67)

 

 

เนื้อหาตอนนี้จะเปิดชื่อผู้เกี่ยวข้องกับโรงงานเก็บกากสารพิษ ณ บ้านหนองพะวา สถานที่เกิดเหตุไฟไหม้ข้ามวันข้ามคืนตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา ทั้งส่วนเอกชนที่เป็นเจ้าของและข้าราชการที่ออกใบอนุญาตแก่โรงงานแห่งนี้
 


บริษัท วิน โพเสส จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2550 มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท
กรรมการบริษัทมี 3 คน ได้แก่ นายโอภาส บุญจันทร์ นายนาม ฤทธิ์รงค์ และนายภูรินทร์ บุญจันทร์ ทั้งสามคนโดยคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทก็มีอำนาจผูกพันบริษัทได้ 
 


วิน โพรเสสฯ เข้าสู่หนองพะวาด้วยการซื้อที่ดินเนื้อที่ 74 ไร่ 2 งาน 63 ตารางวา จากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2554 และวันเดียวกันนั้นก็นำที่ดินดังกล่าวไปจำนองกับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สถานะที่ดินเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์
 

 

 


ดังที่เล่าไปแล้วในตอน 2 ว่า วินโพรเสสฯ ได้พยายามขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ประเภทใบอนุญาตที่ขอในช่วงนั้นคือโรงงานลำดับที่ 105 นั่นคือประกอบกิจการคัดแยกวัสดุไม่เป็นอันตราย แต่ถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน จนกระบวนการอนุญาตยืดเยื้อ
 


แต่ระหว่างนั้น วิน โพเสสฯ ก็ลักลอบประกอบกิจการและขนของเสียเข้าพื้นที่จนกระทั่งเกิดการร้องเรียนเรื่องมลพิษและตรวจสอบพบการลอบฝังหมกของเสียอันตรายลงใต้ดินในพื้นที่โรงงานจำนวนไม่น้อยกว่า ... บ่อ ในปี 2556
 


ต่อมาในช่วงต้นปี 2557 บริษัทฯ พยายามขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานทำพลาสติกเป็นเม็ด แท่ง ท่อ หลอด แผ่น ชิ้น ผง หรือรูปทรงต่างๆ บดย่อยพลาสติก จัดเป็นโรงงานจำพวก 3 ประเภทโรงงานลำดับที่ 53 (5),(9) ทั้งๆ ที่ชาวบ้านยังคงแสดงออกคัดค้านชัดเจน แต่ฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดกลับพยายามเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดระยองให้ลงนามในเอกสารใบอนุญาต
 


กระทั่งผู้ว่าฯ ถึงกับเขียนแสดงความเห็นไว้ว่า “1. ชาวบ้านร้องเรียนขนาดนี้จะไม่สนใจเลยหรือ 2. เปิดโรงงานโดยไม่ขออนุญาต และระงับแล้วยังฝ่าฝืน ขอสอบถามว่าจริงหรือไม่ แล้วดำเนินการอย่างไร เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ 3. สอบถาม นอ. บ้านค่าย และพิจารณาดำเนินการตาม...และกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด”
 


ผู้ว่าฯ ขณะนั้นคือนายธานี สามารถกิจ ผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง ส่วนหัวหน้าฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ที่เสนอให้ออกใบอนุญาต คือ นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ ผู้ซึ่งต่อมาในปี 2562 ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ต่อเนื่องจนถึงปี 2565 อีกทั้งยังเป็นอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครในช่วงปีแห่งการขนย้ายกากแคดเมียม ปี 2566 อีกด้วย
 


ในเวลาต่อมา ทางอุตสาหกรรมจังหวัดระยองยังมีความพยายามดำเนินการต่างๆ เพื่อการออกใบอนุญาตแก่วิน โพรเสสฯ ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2558 แต่ยังไม่ประสบผล
 


กระทั่งในปี 2559 นายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย ซึ่งดำรงตำแหน่งอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และทางวิน โพรเสสฯ ปรับเปลี่ยนมายื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน นำสารละลายกรด-ด่าง, น้ำเสียปนเปื้อนตัวทำละลายและสารไฮโดรคาร์บอน มาผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทำเชื้อเพลิงผสม, เชื้อเพลิงทดแทน, ทำสีเกรดบี, และล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย เป็นโรงงานลำดับที่ 106 หรือเป็นโรงงานรีไซเคิลของเสียอันตราย
 


ชาวบ้านมีการคัดค้านอย่างชัดเจนและจริงจังเช่นเคย แต่แล้วในช่วงปี 2560 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองก็ออกใบอนุญาตประกอบกิจการแก่วิน โพรเสสฯ ถึง 3 ใบ และออกใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายให้เป็นจำนวน 4 ใบ
 


ทั้งหมดดำเนินการโดยนายกรณ์ภัฐวีญ์ ม่วงน้อย ซึ่งในเวลาต่อมาได้ขึ้นดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ช่วงปี 2562 – 2563
 


ส่วนการลักลอบประกอบกิจการ ในความหมายที่ว่าทำอย่างโจ่งแจ้งทั้งๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต (ไม่มีสิทธิ) ตลอดเวลากว่า 5 ปีก่อนหน้านั้น มีหลายฝ่ายที่เข้าตรวจสอบและดำเนินการต่างๆ อยู่บ้าง แต่ไม่มีผู้ใดสามารถสะสางปัญหาได้
 

 

 


แล้วการลักลอบที่ผ่านๆ มานั้นก็เป็นอันยุติลงด้วยการได้รับใบอนุญาตให้กลายเป็นการดำเนินการโดยได้รับอนุญาตตามกฎหมาย
 


อย่างไรก็ตาม แม้ในมิติด้านการประกอบกิจการจะได้รับอนุญาตถูกต้องแล้ว แต่ในรายละเอียดการปฏิบัติการเกี่ยวกับกากของเสียที่นำมาเข้ามาภายในโรงงาน ดูเหมือนว่าที่วิน โพรเสสฯ แทบจะไม่มีการใช้เทคโนโลยีอะไร ที่นั่นเหมือนเป็นโกดังเก็บและสุสานฝังกากเสียมากกว่าจะมีการประกอบกิจการใด
 


ซึ่งก็สอดคล้องกับที่โรงงานไม่ได้แจ้งประกอบกิจการ อันหมายถึงการไม่ผ่านขั้นตอนการเข้าตรวจสอบเรื่องศักยภาพและกระบวนการผลิต แต่ก็อย่างที่เคยกล่าวไปในเรื่องแคดเมียม ว่าบางโรงงานที่ผ่านขั้นตอนนี้ อาจไม่มีเครื่องจักรที่สอดคล้องกับใบอนุญาตประกอบกิจการก็เป็นได้
 


นอกจากนั้น สำหรับลักษณะการประกอบกิจการด้านกากของเสีย โดยเฉพาะของเสียอุตสาหกรรมและอันตราย ในทุกครั้งของการขนเคลื่อนย้าย ไม่ว่าจะเป็นส่วนของขาเข้าที่เรียกว่า “วัตถุดิบ” หรือส่วนขาออก ทั้งหมดต้องอยู่ในกำกับดูแลของกองบริการจัดการกากอุตสาหกรรม (กกอ.) ในส่วนนี้จึงมีอีกกลุ่มตัวละครสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการอนุญาตแก่การดำเนินการของวิน โพรเสสฯ ที่ผิดเพี้ยนและบิดเบี้ยวมหาศาล ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป
 


สำหรับตอน 4 จะเข้าสู่สถานการณ์ช่วงตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา หลังจากที่วิน โพรเสสฯ กลายเป็นโรงงานที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกกฎหมาย แต่ยังคงทำสิ่งผิดกฎหมายมิติอื่นๆ และก่อปัญหาอีกมากมาย