เปิดปมกฎหมาย..การขนย้ายกากแคดเมียม (ตอน 3-ความจริงคู่ขนาน) (24 เม.ย. 67)

 

 

 

ถึงแม้ชัดเจนแล้วว่า ดีลระหว่างบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ทำกับบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด คือการซื้อขายกากแคดเมียม กากสังกะสี โดยที่เนื้อหาสัญญากำหนดให้ฝ่าย “ผู้ซื้อหรือผู้รับกำจัด” คือทางเจ แอนด์ บีฯ มีหน้าที่ดำเนินการเรื่องต่างๆ ทั้งหมดเพียงฝ่ายเดียว ซึ่งรวมถึงเรื่องการขออนุญาตขนย้ายกากและการปฏิบัติตามมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย
 


อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติจริงของการขออนุญาตกลับพบว่า ทางเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ที่สัญญาระบุเป็น “ผู้ขายหรือผู้ก่อกำเนิด” เป็นฝ่ายยื่นขออนุญาตตามแนวทางและวิธีการที่กำหนดในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2566 และในการอนุญาตของอุตสาหกรรมจังหวัดตากก็พิจารณาภายใต้กฎหมายดังกล่าว หรือพูดง่ายๆ ได้ว่า สำหรับดีลที่เกิดขึ้นระหว่างเอกชนกับรัฐ กรณีนี้เป็นเรื่องของการขนย้ายออกจากแหล่งกำเนิดเพื่อไปจัดการบำบัดกำจัดให้ถูกต้อง
 


นี่เป็นความจริงคู่ขนานที่ขัดแย้งกันเองและแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะในเวอร์ชันที่เป็นการซื้อขาย ฝั่งเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ต้องเป็นฝ่ายได้เงินจากเจ แอนด์ บีฯ ผู้ซื้อ โดยที่ภาระและค่าใช้จ่ายตกเป็นของฝ่ายซื้อทั้งหมด ดังนั้นเป้าหมายปลายทางย่อมอยู่ที่การขายต่อเพื่อทำกำไรจาก “สินค้ากากอันตราย” ที่ซื้อมานี้ แต่สำหรับเวอร์ชันการขนย้ายกากออกไปจัดการ ทางเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ คือฝ่ายที่ต้องจ่ายเงินให้แก่เจ แอนด์ บีฯ โดยต้องดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบตามที่กฎหมายกำหนด ภายใต้เป้าหมายเพื่อจัดการให้ “กากพิษ” ได้อยู่ในสภาพและที่ทางที่เหมาะสม เพื่อไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อโลกใบนี้
 


เหตุที่เรากล้ายืนยันว่า เรื่องที่ขัดแย้งและแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงนี้ต่างเป็นความจริง เพราะได้เห็นหลักฐานทั้งสัญญาซื้อขายและเอกสารเกี่ยวกับการขออนุญาตและการให้อนุญาต
 


ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า เรื่องนี้ควรจะถือเอาความจริงเวอร์ชันไหนเป็นสารัตถะ
 


มูลนิธิบูรณะนิเวศยังคงยืนยันว่า ในกรณีกากแคดเมียมนี้ รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง และไม่ปล่อยคนทำผิดลอยนวล ซึ่งจากการมีความจริงทั้งสองเวอร์ชันนี้ยิ่งบ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากล มีการหลบเลี่ยงและการละเมิดกฎหมายอย่างมากมาย ของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการกระทำความผิดอย่างซับซ้อน จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบที่จริงจัง
 


ความจริงเวอร์ชันแรกบอกชัดว่า เอกชนคู่สัญญากำลัง “ค้ากากพิษ” มีเจตนาดังกล่าวชัดเจน แม้เรื่องนี้รัฐและหน่วยงานรัฐจะมีแนวนโยบายส่งเสริมมาพักหนึ่งแล้ว แต่คำถามสำคัญคือได้วางกฎกติกาออกมาชัดเจนหรือยังว่าทำได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร ทั้งนี้ หากยังไม่มีกฎกติกาหรือกฎหมายกำกับว่าขอบเขตการดำเนินการที่เหมาะสมถูกต้องเป็นอย่างไร รัฐบาลย่อมไม่ควรที่จะปล่อยให้เกิดการค้าสินค้าอันตรายอย่างเสรีเช่นนี้ได้
 


เมื่อเจตนาต้นเรื่องอยู่ที่ “การค้ากากพิษ”ภายใต้เป้าหมายการทำกำไร แต่ในการขออนุญาตทำผ่านการขออนุญาตขนย้ายออกจากแหล่งกำเนิดเพื่อไปจัดการบำบัดกำจัด นี่เท่ากับเป็น “การแสดงเจตนาลวงเพื่ออำพรางนิติกรรมอื่น” หรือไม่ ซึ่งหากใช่ นิติกรรมที่ทำไว้ย่อมเป็นโมฆะ ตามหลักกฎหมายทั่วไป
 


แต่หากพิจารณาตามความจริงเวอร์ชันสอง ประเด็นทางกฎหมายย่อมตรงไปตรงมา นั่นคือ ทั้งฝ่ายผู้ขออนุญาต ผู้เกี่ยวข้อง และผู้ให้อนุญาตต่างต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2566 รวมถึงหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขที่กำหนดในประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีทั้งสิ้น 6 ฉบับ
 


ในประเด็นการอนุญาต เนื้อหาชุดนี้ได้กล่าวถึงไปแล้วในตอน 1 แต่เน้นเฉพาะบทบาทหน้าที่ของฝ่ายผู้ขออนุญาต ซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นของผู้ก่อกำเนิดกากฯ หรือ WG อันย่อมาจาก Waste Generator จากนั้นตอน 2 ได้ขยายสู่หน้าที่อื่นๆ ที่ต่อเนื่องตามมา ซึ่งในกรณีกากแคดเมียมเป็นหน้าที่ที่ทางเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ต้องปฏิบัติ แต่ในความเป็นจริงพบว่าไม่ได้ทำเลย
 


สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่คั่นเข้ามาเพื่อขยายความชัดเจนเกี่ยวกับความจริงของเรื่องนี้ ซึ่งส่งผลให้เกิดปมกฎหมายเพิ่มเติมเข้ามา แต่ถึงอย่างไร ปมหลักยังคงอยู่ในแนวทางการวิเคราะห์ที่ผ่านมา ดังนั้น ครั้งหน้าจะได้ขยับต่อไปยังบทบาทหน้าที่ของเอกชนอีกฝั่งที่กฎหมายเรียกว่า “ผู้รับกำจัด” หรือ WP (Waste Processor) ซึ่งในกรณีกากแคดเมียมก็คือเจ แอนด์ บีฯ นั่นเอง
 


ภาพจากสำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์