“มหากาก” หนองพะวา (ตอน 2 – คนทำผิดได้รางวัล!?) (24 เม.ย. 67)

 

 

 

ขณะที่ปัญหากากแคดเมียมยังคาราคาซัง เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ก็เกิด “เหตุไฟไหม้กาก” แทรกขึ้นมา ในบริเวณอดีตโรงงานรีไซเคิลของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด บ้านหนองพะวา หมู่ที่ 4 ต. บางบุตร อ. บ้านค่าย จ. ระยอง
 


ที่นี่เป็นแหล่งซุกกากสารพิษเก่าแก่อีกแห่งที่สะสมปัญหามานาน
 

 

 


เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2554 ที่บริษัทวิน โพรเสสฯ ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานคัดแยกสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นอันตรายจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)
 


ชาวชุมชนบ้านหนองพะวามีการจัดเวทีประชาคมหมู่บ้านแสดงการคัดค้านอย่างชัดเจน มีการส่งหนังสือคัดค้านไปยัง อบต. บางบุตร ซึ่งหนังสือถูกส่งต่อไปยังสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยองในวันที่ 31 ตุลาคม 2554 ด้วย
 


เมื่อมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอีกครั้ง ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ปีต่อมา ประชาชนคนพื้นที่ก็ลงคะแนนเสียงคัดค้านเกือบเป็นเอกฉันท์ ด้วยเหตุผลที่ตรงไปตรงมาว่า “กลัวมลพิษ”
 

 

 


ครั้งนั้น กรอ. ตอบรับเสียงประชาชนด้วยการไม่ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่บริษัทวิน โพรเสสฯ
 


แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรงงานกลับลักลอบเดินหน้ารับกากของเสียเข้ามายังพื้นที่บ้านหนองพะวาเรื่อยมา กระทั่งในเดือนเมษายน 2556 ประชาชนในพื้นที่ร้องเรียน อบต. จนมีการประสานอุตสาหกรรมจังหวัด (อสจ.) ระยอง และหน่วยงานต่างๆ เข้าตรวจสอบ จึงพบว่า บริษัทมีการลอบฝังกากถึง 3 บ่อ มีทั้งก้อนกระดาษอัด เศษพลาสติก เศษเหล็ก ผงเหล็ก ทินเนอร์เก่า เศษสี น้ำมันเครื่องใช้แล้ว และตัวทำละลาย (Solvent) ต่างๆ ทั้งๆ ที่บริษัทฯ ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย
 


จากการตรวจสอบและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมโดยหน่วยงานราชการเอง พบไอระเหยจากหลุมฝังกลบส่งกลิ่นเหม็นและมีสารอินทรีย์ระเหยง่ายรวม (Total VOCs) ปนเปื้อนสูงมาก ขณะที่น้ำจากหลุมฝังกลบ พบสารปิโตรเลียมไฮโดรคาร์บอน น้ำมัน และไขมัน จัดเป็นวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
 


จากความจริงที่พบดังกล่าวนำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านในพื้นที่ติดต่อกันหลายวัน ผู้ว่าราชการจังหวัดจึงมีคำสั่งให้วิน โพรเสสฯ ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย และต่อมายังสั่งให้บริษัทดำเนินการขนย้ายของเสียและวัตถุอันตรายออกจากโรงงานภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 ส่วน อสจ. ได้ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทฯ ด้วย
 


ช่วงนั้นเองได้มีการตรวจสอบไปถึงต้นตอผู้เป็นเจ้าของกากของเสียที่วิน โพรเสสฯ รับมา ซึ่งพบว่ามี “ผู้ก่อกำเนิด” ถึง 150 บริษัท ซึ่งแท้จริงแล้ว จากเหตุไฟไหม้ที่เกิดขึ้นสองวันนี้ 150 บริษัทเจ้าของกากเหล่านี้ ก็ควรที่จะต้องมีส่วนรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
 


เหตุการณ์ในช่วงนี้ทำให้แม้แต่กรมสอบสวนคดีพิเศษก็เข้ามาติดตามสืบสวนเช่นเดียวกัน
 


แต่เมื่อวิน โพรเสสฯ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด คือไม่ขนของเสียและวัตถุอันตรายออกจากโรงงานภายในเวลาที่กำหนด ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในทางตรงกันข้าม ผู้กระทำผิดยังคงขนของเสียเข้ามาในพื้นที่หนองพะวาได้อย่างต่อเนื่อง และไม่ละความพยายามที่จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานต่อไป
 


ระหว่างปี 2557 – 2559 กลายเป็นช่วงเวลาที่วิน โพรเสสฯ กระทำละเมิดกฎหมายอย่างไม่เกิดอะไรขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีเพียงการคัดค้านและร้องเรียนโดยไม่หยุดหย่อนของชาวบ้าน
 

 

 


ความพีคเกิดขึ้นในปี 2560 เมื่อ กรอ. ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานแก่วิน โพรเสสฯ ถึง 3 ใบ ทำให้กลายเป็นโรงงานที่ประกอบกิจการได้ทั้ง (1) ประเภท 40(1) และ 64(11) ประกอบกิจการอัดเศษกระดาษ เศษโลหะ เศษพลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป (2) ประเภท 60 ประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะ (3) ประเภท 106 ประกอบกิจการรีไซเคิล คืนสภาพกรดด่าง ทำเชื้อเพลิงผสม ล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย
 


ทั้งนี้ในปีเดียวกัน กรอ. ยังได้มอบใบอนุญาตถือครองวัตถุอันตรายจำพวกน้ำมันใช้แล้วแก่วิน โพรเสสฯ อีก 4 ใบ
 


ที่น่าสนใจคือ ไม่ปรากฏหลักฐานว่า บริษัทฯ ได้แจ้งประกอบกิจการตามใบอนุญาตเหล่านี้แต่อย่างใด ซึ่งเท่ากับกระบวนการขั้นตอนยังไม่ครบถ้วนที่จะประกอบกิจการได้ ซึ่งขั้นตอนนี้สำคัญ เนื่องจากก่อนอนุญาต เจ้าหน้าที่ต้องเข้าตรวจสอบเครื่องจักรก่อนและความพร้อมก่อน
 


แต่ก็อย่างที่ปรากฏในกรณีของบริษัทเจ แอนด์ บีฯ จ. สมุทรสาคร ซึ่งรับกากแคดเมียมจากบริษัทเบาด์ แอนด์ บียอนฯ จ. ตาก ขั้นตอนดังกล่าวในทางปฏิบัติจริงอาจอนุญาตกันโดยไม่ต้องมีปฏิบัติการตรวจสอบอะไรใดๆ เลย
 


ตัดภาพมาดูเหตุการณ์ที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ เกี่ยวกับการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมอ้างคำบ่นจากนายกรัฐมนตรีที่ฟังปัญหามาจากผู้ประกอบการเอกชน จึงเกิดการมาไล่บี้ กรอ. ว่าทำงานด้านการออกใบอนุญาตล่าช้า พร้อมให้นโยบายว่าจะออกใบอนุญาตให้มากและเร็วขึ้น
 


ทั้งระดับนายกฯ และรัฐมนตรีปฏิบัติงานบนฐานการใช้อำนาจสั่งการตามเสียงบ่นของบางฝ่าย โดยไม่มีการพูดถึงกระบวนการที่ถูกต้องและความเหมาะสมอะไรใดๆ
 


เช่นนี้เอง การที่ประเทศไทยเราต้องฉลองวันคุ้มครองโลก (Earth Day) ด้วยเหตุการณ์พิษเพลิงเคมีที่หนองพะวาตลอดทั้งวันและคืน ก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลอย่างไม่น่าแปลกใจ