ความจริงและข้อกฎหมายเรื่องสัญญาซื้อขายกากแคดเมียม (19 เม.ย. 67)

 

อาจเป็นรูปภาพของ แผนที่ และ ข้อความพูดว่า

 

 

ในที่สุดข้อเท็จจริงก็เผยออกมาสู่สาธารณะแล้วว่า สัญญาระหว่าง บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ กับ บจ. เจ แอนด์ บีฯ เป็นเรื่องของการซื้อ-ขายกากแคดเมียม ทั้งสองบริษัทมิได้สัมพันธ์กันในลักษณะของผู้ว่าจ้างกับผู้รับกำจัดกากของเสียอันตรายแต่อย่างใด
 


วันนี้ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศจึงขอพักประเด็นการเปิดปมกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ไว้ก่อน เพื่อจะนำเอาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัญญาซื้อขายกากแคดเมียมมาแสดงให้ชัดเจน โดยจะตั้งประเด็นเชื่อมโยงในทางกฎหมายด้วย และในที่สุดจะเผยให้เห็นว่า เหตุใดเรื่องนี้จึงยังคงไปไม่พ้นประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ตามที่เราตั้งประเด็นวิเคราะห์ไว้แต่ต้น
 


ก่อนอื่นไปดูกันที่เนื้อหาแห่งสัญญาซื้อขาย อย่างที่เมื่อวานได้เปิดไปแล้วว่า ชื่อของสัญญาคือ “สัญญาซื้อ ขาย ดำเนินงาน ขุด ขนย้าย รื้อ กากแคดเมียม กากสังกะสี ออกจากพื้นที่โรงถลุงแร่สังกะสี บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัด ตาก” ชื่อดังกล่าวสะท้อนสาระในสัญญาว่าไม่ได้กำหนดเฉพาะเรื่องการซื้อขายเท่านั้น แต่กำหนดถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการเอาไว้ด้วย
 


ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบ่อ รื้อถอน ขุด ขนย้าย กำจัด ทำความสะอาดบ่อกาก นำน้ำที่ใช้ทำความสะอาดออกไปบำบัด หรือกระทั่งการซ่อมแซมพื้นและผนังบ่อกรณีเกิดความเสียหาย ภาระทั้งหมดนี้ สัญญากำหนดให้ตกอยู่กับฝ่ายรับซื้อเพียงฝ่ายเดียว ทั้งในแง่การดำเนินการและค่าใช้จ่าย รวมทั้งกำหนดไปถึงการต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายและมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกต่างหาก สิ่งเดียวที่ผู้ขายเอื้ออำนวยให้ผู้ซื้อคือการยอมให้ใช้พื้นที่โรงงานตากกากแคดเมียมและกากสังกะสีเท่านั้น โดยที่ถ้ามีการใช้ไฟฟ้าและน้ำก็จะเรียกเก็บเงินตามจริง
 


ถือได้ว่าเป็นข้อสัญญาแบบยกภาระให้คู่สัญญาฝ่ายเดียวอย่างค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ซึ่งประเด็นนี้บ่งบอกความนัยได้มากมาย และชวนให้คิดถึงสุภาษิตคำพังเพยหลายข้อ เช่น ปลาใหญ่กินปลาเล็ก เสือนอนกิน น้ำขึ้นให้รีบตัก โลภนักมักลาภหาย ฯลฯ
 

 

อาจเป็นรูปภาพของ แผนที่, พิมพ์เขียว, แผนผังในอาคาร และ ข้อความพูดว่า "กรอบการพิจารณาของ สอจ.ตาก ผู้ก่อกำเนิดกากฯ >>> ผู้รับบำบัดกำจัด ประกาศฯ ปี 2566 มีผลบังคับใช้ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิฏูลหรือวัสดทีทไม่ใช พ.ศ.2548 WG ผู้ก่อกำเนิตกากอุตสาหกรรม บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนต์ จำกัด (มหาชน) 10630100125279 (3-60-1/27An) (3-60- 1 พ.ย. 2566 ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัตการสิ่งปฏิกูหรือวัตีไ่ใช พ.ศ.2566 ผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม WP บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด 10740004525571 (3-106-45/57aA) ได้รับอนุญาตและเริ่มขน 26 ก.ค. 2566 รวมปริมาณ 9.685.77 ตัน ในระบบแจ้งการขนส่ง Manifest รวมปริมาณ 4,146.33 ตัน ในระบบแจ้งการขนส่ง กอ.2 เที่ยวสุดท้าย 8 ม.ค. 2567 รวมปริมาณที่นำออกไปยังผู้รับำั ทั้งสิ้น 13,832.10 ตัน"

ภาพจากการนำเสนอของอุตสาหกรรมจังหวัดตาก

 


หากยึดถือตามเนื้อหาสัญญา ย่อมถูกต้องแล้วที่ บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ จะลอยตัว และ บจ. เจ แอนด์ บีฯ คือผู้กระทำผิดหลักที่ควรรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น
 


แต่ช้าก่อน!!! คู่สัญญาเอกชนอาจจะคิดเช่นนั้นได้ โดยเฉพาะฝ่ายเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ แต่หน่วยงานรัฐจะคล้อยตามไปด้วยอย่างง่ายๆ ไม่ได้ ต้องตั้งสติให้อยู่กับข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนก่อน แล้วพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายด้วย
 


ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ในส่วนการอนุญาตให้ขนย้ายกากแคดเมียม กากสังกะสี ออกจากพื้นที่ จ. ตาก นั้น ตามที่อุตสาหกรรมจังหวัดตากชี้แจงไว้กับคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ระบุชัดเจนว่า เป็นการพิจารณาอนุญาตตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2548 และ พ.ศ. 2566 ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562
 


ตามประกาศกระทรวงดังกล่าว สถานะของเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ คือ “ผู้ก่อกำเนิด” กากของเสียอันตราย ขณะที่เจ แอนด์ บีฯ คือ “ผู้รับกำจัด” ซึ่งแม้แต่ในสัญญาซื้อขายที่กล่าวถึงก็ยังใช้ทั้งสองคำนี้ควบคู่กับคำว่า “ผู้ขาย” และ “ผู้ซื้อ” เท่ากับยอมรับสถานะตามกฎหมายอยู่ด้วย
 


แม้ตามหลักกฎหมายทั่วไป ในการพิจารณาสัญญาจะถือหลักเจตนาเป็นสำคัญ แต่หากข้อสัญญาขัดกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ข้อสัญญานั้นย่อมไม่มีผล ในกรณีของกฎหมายควบคุมการจัดการกากของเสียอันตรายย่อมตราขึ้นเพื่อปกป้องความสงบเรียบร้อยของสังคมอย่างไม่ต้องสงสัย เพียงแต่อาจจะไม่ใช่ในนิยามแคบแบบเดิม
 


โดยเฉพาะประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ฉบับใหม่ล่าสุดที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นกฎหมายที่แก้ไขปรับปรุงด้วยความมุ่งมั่นจัดการปัญหาการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม การเล็ดลอดหายไปจากระบบของกากอันตราย รวมถึงการจัดการอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งในระยะสิบกว่าปีที่ผ่านมามีความรุนแรงเพิ่มขึ้นทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ และกำลังเป็นภัยคุกคามคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตคนไทยหลายหย่อมหญ้า กับทั้งแผ่ขยายสู่สังคมวงกว้างอย่างเงีบบเชียบ แต่ปัจจุบันปัญหาก็เริ่มปะทุถี่ขึ้นและใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ แล้ว ขึ้นกับว่าใครจะรู้ตัวมากน้อยเพียงใด
 


ทุกองคาพยพหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างกระทรวงอุตสาหกรรมจึงควรต้องรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายนี้อย่างสุดกำลัง รักษาเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายเอาไว้ให้ได้ ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นก็เพิ่มการพิจารณาศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริงให้กว้างขึ้นสักนิด และยึดถือกฎหมายที่พิทักษ์ประโยชน์สาธารณะเหนือกว่าผลประโยชน์เอกชน
 


พรุ่งนี้ว่าต่อตอน 2 กับเนื้อหาชุด “เปิดปมกฎหมายฯ” เพื่อให้ชัดเจนว่า “ผู้ก่อกำเนิด” มีหน้าที่ตามกฎหมายกว้างขวางเพียงใด จะได้ชัดเจนว่าไม่สามารถทำตัวเพียงเป็นคนขายของที่นั่งรอรับเงินเท่านั้น