เปิดปมกฎหมาย..การขนย้ายกากแคดเมียม (ตอน 1-การอนุญาตขนย้าย) (18 เม.ย. 67)

 

 

 

รัฐบาลต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจังในกรณีกากแคดเมียม และไม่ปล่อยคนทำผิดลอยนวล เพื่อสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงอาสาลุยทำการบ้านเบื้องต้นให้
 


ที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศเราย้ำตลอดว่า มาตรการเพียงแค่ขนย้ายกากแคดเมียมกลับไปบรรจุลงหลุมฝังกลบเดิมที่ จ. ตาก ไม่เพียงพอ เนื่องจากเรื่องนี้มีทั้งความไม่ชอบมาพากลมากมายหลายมิติ รวมทั้งยังก่อปัญหาต่อเนื่องและส่งผลกระทบตามมาอีกหลายๆ ด้าน
 


โพสก่อนกล่าวถึงปัญหาต่อเนื่องที่ถูกละเลยไปแล้ว สำหรับเนื้อหาชุด “เปิดปมกฎหมายฯ” นี้ มูลนิธิจะพาเจาะดูการกระทำของฝ่ายต่างๆ ในกรณีกากแคดเมียม เทียบเคียงกับสิ่งที่ต้องทำตามกฎหมาย และหากพบว่าตรงไหนไม่ผิด ให้เอาปากกามาวง เพราะคงจะเหนื่อยน้อยกว่าที่จะต้องวงส่วนที่ผิดกฎหมาย
.
เริ่มต้นดูกันที่บริษัทเอกชนก่อน
 


ถ้าพิจารณาตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นฉบับ พ.ศ. 2548 (เดิม) หรือ พ.ศ. 2566 (ฉบับที่ใช้ปัจจุบัน) ตัวละครสำคัญในลูปของการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 2 ส่วน นั่นคือ “ผู้ก่อกำเนิด” หรือในวงการนิยมเรียกกันว่า WG ย่อมาจาก Waste Generator และ “ผู้รับดำเนินการ” หรือ WP ที่ย่อมาจาก Waste Processor โดยในระหว่างความสัมพันธ์ของ WG กับ WP จะมีส่วนที่สามเพิ่มขึ้นมา เรียกว่า WT ย่อมาจาก Waste Transportor นั่นคือ ผู้ขนส่งกากของเสีย
 


ในกรณีกากแคดเมียม ชัดเจนอยู่แล้วว่า WG ก็คือบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) หรืออดีตบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าของกากแคดเมียมและหลุมฝังกลบ ณ ต. หนองบัวใต้ อ. เมือง จ. ตาก ในขณะที่ WP คือบริษัทเจ แอนด์ บี แมททอล จำกัด ตั้งอยู่ที่ ต. บางน้ำจืด อ. เมือง จ. สมุทรสาคร ส่วน WT ยังไม่ปรากฏในข้อเท็จจริงเท่าที่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกันแล้ว หน้าที่รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้ยังคงอยู่ที่ WG และ WP มากกว่า WT เป็นเพียงข้อต่อเล็กๆ ที่อาจจะละไว้ก็ได้
 


ดังนั้น ตอนแรกนี้เราจะเริ่มด้วยหน้าที่ความรับผิดชอบตามกฎหมายของ WG หรือ บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ เทียบกับพฤติกรรมจริงที่เกิดขึ้น ดังนี้
 


1. ตามกฎหมาย คือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว (ประกาศกระทรวงฯ) ได้กำหนดหน้าที่ของ WG เอาไว้หลายส่วน ครอบคลุมตั้งแต่ในขั้นตอนการจัดเก็บสิ่งปฏิกูลไว้ภายในโรงงานตนเอง แต่เมื่อในกรณีกากแคดเมียมนี้เป็นเรื่องของการนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน ในลูปนี้ กฎหมายกำหนดหน้าที่ของ WG เอาไว้ว่าจะต้องเริ่มต้นด้วย “การขออนุญาต” ซึ่งในข้อนี้ เป็นที่ชัดเจนว่า บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ มีการดำเนินการขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ สอดคล้องตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงฯ ข้อ 9 วรรคสาม
 


หากพิจารณาเผินๆ จึงเหมือนว่าในเรื่องการอนุญาต บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้ว และได้รับอนุญาตจากหน่วยงานรัฐที่มีอำนาจแล้วด้วย จะมาหาว่าทำผิดได้อย่างไร แต่อย่างที่คนเข้าใจโลกต่างรู้ดีว่า “ปีศาจนั้นอยู่ในรายละเอียด” ดังนั้นจึงคงยังไม่อาจเอาปากกามาวงได้ว่าเรื่องนี้ผ่าน
 


2. เพื่อที่จะเข้าใจว่าในรายละเอียดของการขออนุญาตเป็นอย่างไร ต้องไปดูที่ประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขออนุญาตและการอนุญาตให้นำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์และแบบอัตโนมัติผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (ประกาศ กรอ. 1) ซึ่งประกาศนี้มีข้อกำหนดมากมายยิ่งกว่ากฎหมายหลักอย่างประกาศกระทรวงฯ เสียอีก ทั้งยังมีบัญชีแนบท้ายอีกยาวเยียดหลายสิบหน้า
 


3. สรุปสาระสำคัญที่สกัดได้จากประกาศ กรอ. 1 ได้แก่
 


(1) ในการอนุญาตจะทำเป็นรอบปีปฏิทิน การอนุญาตในรอบปีปฏิทินต่อๆ ไป ผู้ขอต้องยื่นขอล่วงหน้า 90 วัน ก่อนสิ้นปีปฏิทินเดิม
 


เพียงรายละเอียดข้อแรกก็ชัดแล้วว่า การขนย้ายกากแคดเมียมออกมาจาก จ. ตาก ของ บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ไม่ถูกต้อง เพราะที่ว่าได้รับอนุญาตนั้นเป็นการอนุญาตเมื่อปี พ.ศ. 2566 แต่การขนย้ายมีการลากยาวข้ามมาถึงมกราคม 2567 (มีข้อมูลว่าเที่ยวสุดท้ายคือวันที่ 8 มกราคม 2567) ดังนั้น ถ้าไม่ได้มีการขออนุญาตอีกครั้งเมื่อปลายปี 2566 รอบขนย้ายที่เกิดขึ้นในปี 2567 ย่อมเป็นการลักลอบขนย้าย
 


อย่างไรก็ตาม เท่าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศทราบข้อมูล อุตสาหกรรมจังหวัดตากแสดงข้อมูลไว้ว่า การขออนุญาตเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2566 ของ บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ เป็นการขออนุญาตระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 ถึงวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 และในรายละเอียดมีการยื่นคำขอ 3 ครั้ง ได้รับอนุญาตในวันที่ 29 มิถุนายน 14 กันยายน และ 26 ตุลาคม ลักษณะนี้เท่ากับอยู่ในกติกาข้อแรกนี้ แต่ก็ยิ่งน่าสนใจว่า ในการอนุญาตที่ทำกันต่อเนื่องถึง 3 รอบเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่นๆ เพียงใด
 


(2) การขออนุญาตต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ 1) ประเภทและชนิดของสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและรหัสการจัดการต้องเป็นไปตามที่กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศ 2) สิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ขออนุญาตต้องเคยผ่านการจัดการแล้วเสร็จตามที่ขออนุญาตผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วอย่างน้อยหนึ่งครั้ง 3) ต้องขออนุญาตนำไปจัดการโดย WP ที่ได้รับการรับรอง
 


น่าสนใจว่า สำหรับกากแคดเมียมเจ้าปัญหานี้เข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายครบถ้วนหรือไม่ แน่นอนว่า หากพิจารณาในแง่ความเป็นของเสียอันตรายย่อมเข้าเกณฑ์อย่างไม่ต้องสงสัย แต่ในฐานะของของเสียอันตรายที่ถูกบำบัดแล้ว (ผ่านการจัดการตามกฎหมายเสร็จสิ้นแล้ว) แต่กลับถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพจนมาเป็น “กากแคดเมียมซอมบี้” เช่นนี้ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมายหรือไม่ ประเด็นนี้ย่อมเป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานที่ถือกฎหมายต้องเป็นผู้ตอบ
 


ส่วนในเรื่องของ “รหัสการจัดการ” พิจารณาจากรายละเอียดตามบัญชีแนบท้ายประกาศ กรอ. 1 แล้ว พอจะจัดกลุ่มลักษณะของการจัดการได้ว่า ประกอบไปด้วยเรื่องของการกำจัดบำบัด (ไม่ว่าจะโดยการฝังกลบปลอดภัย เผาทำลาย หมักทำปุ๋ย ฯลฯ), การใช้เป็นเชื้อเพลิง, การรีไซเคิล และการใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน ซึ่งในกรณีของกากแคดเมียมนี้ ยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการนำส่งให้ บจ. เจ แอนด์ บีฯ จัดการในลักษณะใด ขณะเดียวกันก็ไม่ชัดเจนด้วยว่า บจ. เจ แอนด์ บีฯ เป็น WP ที่ได้รับการรับรองหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้จะได้ขยายความและลงรายละเอียดในตอนต่อๆ ไป เมื่อกล่าวถึงบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายของ WP
 


(3) กรรมวิธีการขออนุญาตมีรายละเอียดและเงื่อนไขจำนวนมากเช่นกัน เช่น ผู้ขออนุญาตต้องเข้าสู่ระบบทะเบียนของกระทรวง ต้องมีการแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นคำบรรยายเกี่ยวกับกาก ปริมาณขออนุญาตต่อปี รหัสการจัดการ และผู้รับดำเนินการ พร้อมเอกสารหลักฐาน โดยผู้ขออนุญาตต้องตรวจสอบและยืนยันรับรองความถูกต้อง ขณะที่ทางด้านของ WP ก็ต้องยืนยันรับจัดการภายในกรอบเวลาที่กำหนดด้วย ทั้งนี้โดยหากขาดรายการใดรายการหนึ่งก็ถือว่าเท่ากับไม่มีการขออนุญาต
 


ดังนั้น หากกรณีกากแคดเมียมไม่ได้ดำเนินการถูกต้องตามรายละเอียดในข้อนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่ามีการอนุญาตนั้น ย่อมจะเป็นโมฆะได้เช่นเดียวกัน
 


ทั้งหมดนี้เพิ่งพิจารณาเพียงในเรื่องการอนุญาตอย่างคร่าวๆ เพียงประการเดียวเท่านั้น อันเป็นด่านแรกสุด แต่ก็ยังไม่สามารถหาจุดวงปากกาให้ว่าดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายได้เลย มีแต่ส่วนที่เห็นได้ชัดว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมาย และส่วนใหญ่ต้องการการตรวจสอบอย่างลงรายละเอียด
 


ทั้งนี้ โดยที่ยังไม่ได้กล่าวถึงการดำเนินการหรือพฤติกรรมก่อนเรื่องการขนย้าย ที่ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศเคยตั้งประเด็นไว้แล้วว่า บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ น่าจะเข้าข่ายทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA
 


อย่างไรก็ตาม หากกลับมาที่หลักการใหญ่เรื่องการอนุญาต ยังมีประเด็นด้วยว่า ถ้อยความตามข้อ 9 ของประกาศกระทรวงนั้น บัญญัติในลักษณะห้ามเป็นการทั่วไปหรือห้ามเป็นหลัก ว่า “ห้ามผู้ก่อกำเนิดนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วออกนอกบริเวณโรงงาน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมายเพื่อไปจัดการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด” ความหมายจึงย่อมเท่ากับว่า โดยทั่วไป การนำออกเป็นสิ่งต้องห้าม แต่หากจะทำก็ต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ คือ “เพื่อไปจัดการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด” โดยมีเงื่อนไขว่าต้องขออนุญาต
 


“หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข” ที่ว่าเป็นรายละเอียด แท้จริงจึงเป็นสาระสำคัญ เพราะการขนข้ายย่อมจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากไม่ทำเพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนด
 


อย่างไรก็ตาม ภายใต้ข้อเท็จจริงหนึ่งที่สำคัญยิ่งยวด ซึ่งดูเหมือนจะยังไม่มีใครพูดออกมา นั่นก็คือข้อเท็จจริงที่ว่า สัญญาที่ บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ทำกับ บจ. เจ แอนด์ บีฯ ซึ่งมีว่า “สัญญาซื้อ ขาย ดำเนินงาน ขุด ขนย้าย รื้อ กากแคดเมียม กากสังกะสี ออกจากพื้นที่โรงถลุงแร่สังกะสี บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จังหวัด ตาก” นั้น ดูจะฉีกออกจากขอบเขตของประกาศกระทรวงฯ ไปไกลมาก ไม่น่าจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ “จัดการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด”
 


ขอเชิญติดตามต่อตอนที่ 2 ในวันพรุ่งนี้ (19 เมษายน) เพื่อลงลึกเพิ่มเติมเรื่องสัญญาซื้อขายที่กล่าวถึงข้างต้น รวมถึงข้อกำหนดของกฎหมายในประเด็นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่อื่นๆ ที่ WG หรือ บมจ. เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ควรต้องทำ
 


ภาพจากเพจอุตสาหกรรมจังหวัดตาก และกรมโรงงานอุตสาหกรรม