กรณีกากแคดเมียม รัฐเน้นเพียงขนกลับ แต่ทิ้งค้างปัญหาใหญ่อื่นๆ (17 เม.ย. 67)
เทศกาลสงกรานต์สิ้นสุดแล้ว พร้อมๆ กับความพยายามของภาครัฐที่จะปิดจบปัญหากากแคดเมียม ด้วยการนำเสนอแผนการขนกลับคืนหลุมฝังกลบของบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ที่ จ. ตาก ทั้งๆ ที่ยังมีเรื่องและประเด็นค้างคาจำนวนมาก ซึ่งวันนี้จะยกมากล่าว 3 ประเด็น โดยแต่ละประเด็นเชื่อมโยงไปยังปัญหาอื่นๆ ด้วย
(1) ประเด็นปริมาณกากแคดเมียมรวม ณ ปลายทางที่พบกระจัดกระจายในหลายแห่ง แต่รวมแล้วยังมีจำนวนน้อยกว่าปริมาณกากที่ขนออกมาจากต้นทาง โดยส่วนต่างยังมากถึง 2,500 ตัน หรือมากกว่า 2.5 ล้านกิโลกรัม แม้มีการอธิบายว่าความแตกต่างนี้เกิดจากค่าความชื้นที่หายไป แต่ก็ไม่ได้มีหลักฐานจากการตรวจพิสูจน์สนับสนุนแต่อย่างใด ซึ่งประเด็นนี้จะเกี่ยวพันถึงประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง
นั่นคือ มีกากแคดเมียมส่วนหนึ่งส่วนใดถูกหลอมไปบ้างแล้วหรือไม่ และประเด็นนี้จะเชื่อมถึงประเด็นผลกระทบด้านมลพิษอากาศของบริเวณที่เกิดการหลอม ที่ควรให้ความสำคัญและมีการติดตามตรวจสอบต่อไป
(2) ประเด็นเรื่องการปนเปื้อนสู่สภาพแวดล้อม ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีการเปิดเผยผลการตรวจวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเฉพาะส่วนของบริเวณจุดพบกากแคดเมียมที่บางซื่อ กรุงเทพฯ เท่านั้น โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้รายงานผลการตรวจออกมาทางเพจของกรม เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา สรุปสาระสำคัญได้ว่า
1) คุณภาพน้ำของคลองสาธารณะที่อยู่ใกล้เคียงโรงงานที่พบกากมีค่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ และในส่วนระบบน้ำของโรงงานไม่พบว่ามีความเสี่ยงที่จะชะแคดเมียมสู่แหล่งน้ำสาธารณะ ผลการตรวจวิเคราะห์ดินภายนอกโรงงานก็เช่นเดียวกัน แต่สำหรับดินภายในโรงงานนั้น พบบางตัวอย่างที่มีการปนเปื้อนแคดเมียมสูงเกินกว่าเกณฑ์การปนเปื้อนในดินในโรงงาน
2) พบแคดเมียมในน้ำทิ้งจากการชำระร่างกายของพนักงานด้วย เพียงแต่ค่าไม่เกินค่ามาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.03 มก./ล. ทั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษระบุว่า น้ำปนเปื้อนดังกล่าวจะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียรวมของกรุงเทพมหานครต่อไปตามระบบปกติของทางโรงงาน แต่ไม่ได้กล่าวถึงเลยว่า เมื่อน้ำชำระร่างกายยังปนเปื้อน แล้วเจ้าของร่างกายเป็นอย่างไร
ส่วนผลการตรวจวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมบริเวณอื่นๆ กลับไม่มีการเปิดเผยออกมาอย่างชัดเจน ทั้งๆ ที่มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน หรือแท้จริงแล้วอาจมากกว่า เนื่องจากจุดที่บางซื่อนั้นคือจุดที่พบการเก็บกากแคดเมียมน้อยที่สุดแล้ว (150 ตัน เทียบกับจุดอื่นๆ ที่มีระดับหลายพันตัน) โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี ที่เป็นแหล่งพบมากที่สุด เกือบ 7,000 ตัน
ทั้งนี้ ยังเป็นที่น่าสงสัยด้วยซ้ำไปว่า นอกเหนือจากที่ไม่มีการแจ้งผลแล้ว ในส่วนพื้นที่อื่นๆ ที่ไม่ใช่บางซื่อและสมุทรสาครที่เป็นจุดพบแรก แท้จริงแล้วได้มีการตรวจติดตามสิ่งแวดล้อมหรือไม่
จากการย้อนดูเพจกรมควบคุมมลพิษ เป็นที่ชัดเจนว่า มีการตรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมบริเวณโรงงานของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ใน ต. บางน้ำจืด อ. เมือง จ. สมุทรสาคร ตั้งแต่เมื่อต้นเดือนเมษายน ในขณะที่เรื่องเพิ่งถูกเปิดออกมาอย่างร้อนแรง แต่สำหรับการแจ้งผลมีเพียงการแจ้งผลตรวจวัดเบื้องต้น ที่พบว่า
1) กากแคดเมียมและสังกะสี มีปริมาณแคดเมียมสูงเกินระดับที่เกินกว่าระดับที่ถือเป็นของเสียอันตราย ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าคือสูงเกิน 100 มก./กก. โดยในส่วนของกากนั้นตรวจพบสูงถึง 24,884 มก./กก. เรียกว่าสูงเกินความเป็นของเสียอันตรายไปกว่า 240 เท่า กันเลยทีเดียว
2) ดินในโรงหลอม พบปริมาณแคดเมียม 7,159 มก./กก. ดินภายในโรงงานนอกโรงหลอม พบปริมาณแคดเมียม 31,584 มก./กก. และดินหน้ารั้วโรงงาน พบปริมาณแคดเมียม 2,838 มก./กก. นั่นหมายถึงว่า ดินทั้ง 3 จุดล้วนสูงเกินเกณฑ์การปนเปื้อนในดินภายในโรงงาน (ต้องไม่เกิน 810 มก./กก.) มากมายหลายเท่าเช่นเดียวกัน
3) เถ้าจากระบบบำบัดอากาศจากการหลอม ตรวจไม่พบแคดเมียม 4) ดินบริเวณชุมชนด้านเหนือลมและท้ายลมในระยะ 10 เมตร ตรวจไม่พบปริมาณแคดเมียม และ 5) ตรวจไม่พบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศ
แต่สำหรับเรื่องน้ำ แม้ในวันเดียวกันนั้นได้มีการเก็บตัวอย่างน้ำจำนวน 3 จุด ได้แก่ 1) รางระบายน้ำหน้าโรงหลอม 2) รางระบายน้ำหน้าอาคารสำนักงาน และ 3) คลองธรรมชาติ ซึ่งต้องนำเข้าตรวจในห้องปฏิบัติการ แต่จนบัดนี้ยังไม่มีการแจ้งหรือประกาศผลอย่างเป็นทางการ แม้แต่ในเพจของกรมเอง
(3) ประเด็นเรื่องผู้ได้รับผลกระทบ ส่วนนี้มีความคล้ายคลึงกับการติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ยังถูกมองข้ามและไม่ให้ความสำคัญจริงจังนัก โดยเท่าที่ปรากฏข้อมูลสู่สาธารณะ มีเพียงการติดตามตรวจร่างกายคนงานของ บจ. เจ แอนด์ บีฯ ที่สมุทรสาคร และประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง เท่านั้น ส่วนผู้คน ณ จุดพบอื่นๆ ต่างถูกละเลยและทอดทิ้ง
แต่จากผลการตรวจสุขภาพผู้คนแม้เพียงส่วนน้อยก็ยังพบว่า มีชาวบ้านรอบโรงงานใน ต. บางน้ำจืดถึง 16 คน และคนงาน 7 คนที่มีค่าแคดเมียมในร่างกายสูงเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งพบชาวบ้าน 4 คนมีอาการผื่นคันที่ผิวหนัง ขณะที่คนงาน 4 คนมีภาวะโลหิตจางเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม นอกจากปัญหาค้างคาทั้ง 3 ประเด็นนี้ที่ว่าใหญ่แล้ว ในกรณีกากแคดเมียมยังมีประเด็นเกี่ยวกับการกระทำความผิดและการละเมิดกฎหมายอย่างขนานใหญ่ที่ยังคงค้างคาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งมูลนิธิบูรณะนิเวศจะทยอยเจาะประเด็นมานำเสนอต่อไป
ภาพจาก PPTV HD และกรมควบคุมมลพิษ