ภาคประชาสังคมชง คพ. ขับเคลื่อน PRTR อธิบดีขานรับเป็นแนวทางป้องกันปัญหาก่อนเกิด (16 เม.ย. 67)

 

 

 

เมื่อวันที่ 12 เมษายนที่ผ่านมา มูลนิธิบูรณะนิเวศและมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ได้เข้าพบปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับแนวทางและบทบาทของ คพ. ต่อร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน ที่คาดหมายได้ว่าจะมีส่วนช่วยในการสร้างฐานข้อมูลมลพิษและการเข้าถึงข้อมูลจากภาคอุตสาหกรรม
 


เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวเปิดการสนทนาว่า การที่ภาคประชาสังคมจำเป็นต้องมาพูดคุยหารือกับ คพ. เนื่องจาก คพ. ถือเป็นหน่วยงานที่จะมีบทบาทสำคัญ ด้วยเหตุที่ในร่างพระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ หรือร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน ได้มีการระบุให้ คพ. เป็นหน่วยงานที่ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติดังกล่าว อีกทั้ง PRTR เป็นงานที่ต้องใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นงานวิชาการ และจำเป็นต้องมีการประมวลข้อมูล ดังนั้นในฐานะที่เป็นผู้ผลักดันกฎหมาย ทั้งสองมูลนิธิจึงเล็งเห็นว่า คพ. ที่เป็นหน่วยงานวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศมีความเหมาะสมและมีศักยภาพที่จะรับผิดชอบงานในส่วนนี้ได้
 


“ในปัจจุบันกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล ทั้งออกใบอนุญาตให้กับโรงงาน หรือในส่วนที่เกี่ยวกับการส่งเสริมการลงทุน การตั้งโรงงาน การขยายโรงงาน แล้วก็มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบโรงงานด้วย ซึ่งเราถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ที่มีความย้อนแย้ง เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน ทางภาคประชาสังคมจึงคิดว่าการกํากับดูแลเรื่องของมลพิษและการจัดการสิ่งแวดล้อมควรมาอยู่ในส่วนของกรมควบคุมมลพิษ แต่เราเชื่อว่าการไปแก้ไขโครงสร้างตรงนั้นมันทำได้ยาก แต่ทว่ากฎหมาย PRTR น่าจะเป็นกลไกสําคัญที่สร้างสมดุลตรงนี้ได้ ในการทําให้กรมควบคุมมลพิษมีอํานาจส่วนหนึ่ง และเป็นอํานาจที่เหมาะสมในการกํากับดูแลเรื่องการเรียกข้อมูล การเรียกรายงาน การประมวลข้อมูลจากโรงงานต่างๆ ซึ่งเราเชื่อว่าตรงเนี้ย มันเป็นสิ่งที่ทําให้เกิดการถ่วงดุลกันได้ระหว่าง กรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมควบคุมมลพิษ” เพ็ญโฉมกล่าว


 

 


ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวต่ออีกว่า ที่ผ่านมารับรู้ถึงข้อจำกัดของ คพ. ในด้านการเข้าถึงข้อมูลจากภาคอุตสาหกรรมและกรมโรงงานอุตสาหกรรม อีกทั้งที่ผ่านมา คพ. มักตกเป็นจำเลยของสังคม เวลาที่เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม-มลพิษ บางกรณีก็ถูกฟ้องในหลายคดี ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ คพ. ไม่ควรที่จะต้องมาแบกรับ เนื่องจากไม่ได้มีอำนาจโดยตรงในการกำกับและออกใบอนุญาต รวมถึงการเข้าไปตรวจสอบก็ทำได้ยาก ถึงแม้จะตรวจสอบเสร็จและพบปัญหาแล้วก็ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ทำได้เพียงให้ข้อเสนอแนะ
 


ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดี คพ. กล่าวว่า ในวันนี้สังคมกำลังประสบกับปัญหาเรื่องกากแคดเมียม จึงถือว่าเป็นจังหวะเหมาะที่ได้มีการเข้าพบพูดคุยกัน 
 


“ในกรณีนี้เราจะพบว่าสิ่งสำคัญคือการป้องกัน ถ้าเราแก้ปลายเหตุมันทำได้ยาก เพราะมีการสูญหายระหว่างทาง ถ้าเราเริ่มทำที่ต้นทางได้ดี เราจะไม่เกิดปัญหาที่ปลายทาง ถ้าโดยหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษ เราก็ยืนยันว่าการป้องกันดีที่สุด ซึ่ง PRTR เป็นการป้องกันที่ต้นเหตุ ถ้ามันครบวงจร แล้วมันก็จะไม่เกิดปัญหาที่ปลายเหตุ”
 

 

 


ในช่วงท้ายของการสนทนา ภาคประชาสังคมเน้นย้ำว่า ร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชน จะช่วยยกระดับมาตรฐานด้านการป้องกันมลพิษของประเทศ ขณะเดียวกันก็จะเสริมอํานาจหน้าที่ของ คพ. ขึ้นด้วย เนื่องจากจะเป็นหน่วยงานที่ได้รับดูแลข้อมูล สามารถที่จะพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนทั้งการป้องกันและการแก้ไขปัญหาได้
 


“และเราคิดว่า กรมควบคุมมลพิษเป็นความหวังของสังคมไทยในการแก้ไขปัญหามลพิษในระยะยาว” ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวทิ้งท้าย
 


เรื่อง/ภาพถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม มูลนิธิบูรณะนิเวศ