เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ขยับแจง ตลท. เล่นบทลอยตัว - พร้อมช่วยแก้ปัญหา (10 เม.ย. 67)
วันนี้ (10 เมษายน 2567) ปรากฏหนังสือเลขที่ BEYOND/BKK-BS046/2567 แจ้งไปยังกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ตระหนักถึงความกังวลของสาธารณชนเกี่ยวกับเหตุการณ์การขนย้ายและจัดเก็บกากแคดเมียมที่เกิดขึ้น และ “บริษัทฯ จึงมีความยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อร่วมยุติหรือบรรเทาเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อคลายความกังวลของสาธารณชน”
ผู้ลงนามในหนังสือดังกล่าวระบุว่าเป็น “กรรมการผู้จัดการ”
ในตอนต้นของหนังสือนี้ยังได้อ้างถึงจดหมายของบริษัทฯ ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ได้ชี้แจงไปแล้วว่า “บริษัทฯ เป็นเพียงคู่สัญญากับบริษัท เจ แอนด์ บี แมททอล จำกัด ตามสัญญาซื้อขายกากแคดเมียม ฉบับลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เท่านั้น และบริษัทฯ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการประกอบกิจการของเจแอนด์บีแต่อย่างใด”
ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่า บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ หรือในอดีตคือบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเคยเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่และโรงถลุงแร่สังกะสีที่ จ. ตาก คือต้นกำเนิดของ “กากแคดเมียมซอมบี้” นี้ โดยเป็นผู้ขุดเอากากเหลือจากกระบวนการผลิตที่ถูกบำบัด/กำจัดด้วยการฝังกลบอยู่ใต้ดินบนพื้นที่ของบริษัทฯ ใน ต. หนองบัวใต้ อ. เมือง จ. ตาก ขึ้นมานำส่งให้บริษัท เจ แอนด์ บีฯ ที่ จ. สมุทรสาคร
ดังนั้นจึงเป็นที่แน่ชัดว่า เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ มีสถานะทางกฎหมายเป็น “ผู้ก่อกำเนิด” ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การจัดการสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว พ.ศ. 2566 ซึ่งมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบทั้งเรื่องการขนส่งและการจัดเก็บสิ่งปฏิกูลและวัสดุไม่ใช้แล้ว แม้เมื่อมีการนำออกนอกโรงงานไปแล้ว
อีกทั้ง หากในกรณีที่ “ปรากฏข้อเท็จจริงว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วดังกล่าวยังไม่ได้รับการจัดการ...” ข้อ 12 ของประกาศฯ ก็กำหนดไว้แจ้งชัดว่า “ผู้ก่อกำเนิดยังคงมีหน้าที่นำไปจัดการจนกว่าสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนั้นจะได้รับการจัดการแล้วเสร็จตามที่ได้รับอนุญาต”
ตามหนังสือที่เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ ส่งถึง ตลท. มีการระบุความสัมพันธ์กับทางเจ แอนด์ บีฯ ว่าเป็น “คู่สัญญาซื้อขายกาก” แต่ในหนังสือหลายฉบับที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ส่งถึงกรรมการผู้จัดการของเบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ กล่าวถึงเจ แอนด์ บีฯ ว่าเป็น “ผู้รับบำบัดกำจัดฯ ของท่าน”
การระบุความสัมพันธ์ที่แตกต่างกันนี้ไม่ใช่เรื่องที่ทาง ตลท. จะมองข้ามได้ จำเป็นต้องตรวจสอบความจริงให้ปรากฏ รวมถึงตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายอื่นของบริษัทมหาชนแห่งนี้ด้วย
ส่วนทางกระทรวงอุตสาหกรรม ระดับรัฐมนตรีควรต้องเป็นผู้กำกับการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานอย่างจริงจังและให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์!!!
ภาพถ่าย: เพจอุตสาหกรรมจังหวัดตาก
หนังสือบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ฯ จากเฟซบุ๊ก Sataporn Pongpipatwattana