“คลองกิ่ว” ถูกหยิบยกอภิปรายในสภาฯ ข้อเสนอกว้างไกล แต่กลับได้คำตอบเบาหวิว (7 เม.ย. 67)
คลี่ดูประเด็นอภิปรายของ สส. ชลบุรี พรรคก้าวไกล ที่หยิบยกกรณีรีไซเคิลอาบมลพิษ “คลองกิ่ว” มาอภิปรายซักถามและให้ข้อเสนอแนะรัฐบาล กลางที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 3 เมษายนที่ผ่านมา เทียบกับคำตอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ตอบเรื่องหนักหนานี้แบบสบายๆ ทำนองทุกอย่างมีการดำเนินการราบรื่นเรียบร้อยดี ท่าทีและทัศนคติดังกล่าวส่งสัญญาณชัดว่า ปรากฏการณ์อย่างมลพิษคลองกิ่ว ยังไปต่อได้อีกยาว
ในการเปิดอภิปรายทั่วไปของฝ่ายค้านต่อการทำงานของรัฐบาล เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีการลงมติ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 และ 4 เมษายนที่ผ่านมา มีตอนหนึ่งที่ชวาล พลเมืองดี สส. ชลบุรี พรรคก้าวไกล ได้ลุกขึ้นอภิปรายตั้งข้อสังเกตต่อรัฐบาลและตั้งคำถามตรงไปถึงนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน และพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในประเด็นการปล่อยปละละเลย/ละเว้นปัญหามลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม
ชวาลเริ่มอภิปรายด้วยการเท้าความไปถึงนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลชุดก่อน กรณีการออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 ที่เป็นการยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองรวมให้แก่กิจการบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานคัดแยกและฝังกลบ และโรงงานเพื่อการรีไซเคิล อันส่งผลให้โรงงานประเภทเหล่านี้สามารถจัดตั้งขึ้นในพื้นที่ทุกประเภท ไม่ว่าจะย่านชุมชน หรือเขตเกษตรกรรม
แม้ในช่วงการหาเสียง แคนคิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยเคยลั่นวาจาว่าจะล้างความผิดพลาดต่างๆ ของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร แต่ในสมัยรัฐบาลเศรษฐา นโยบายเรื่องนี้กลับยังคงดำรงอยู่และดำเนินไป ซึ่งชวาลนำเสนอข้อมูลว่า มีโรงงานประเภทเหล่านั้นได้รับอนุญาตในยุครัฐบาลนี้ถึง 43 แห่ง เขาจึงเรียกขานว่านี่เป็นการสานต่อมรดกบาปจากรัฐบาล คสช. จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน
จากนั้นชวาลได้ยกปัญหากรณีโรงงานรีไซเคิลของทุนจีนที่ ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี ขึ้นมาแสดงให้เห็นปัญหามิติต่างๆ นับตั้งแต่เรื่องของการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือที่เรียกได้ว่าเป็นโรงงานเถื่อน การประกอบการผิดประเภท มีการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ มีการปล่อยมลพิษรูปแบบต่างๆ สู่สิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยมีการอ้างอิงภาพถ่ายและข้อมูลส่วนหนึ่งจากเพจของมูลนิธิบูรณะนิเวศด้วย รวมทั้งมีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินงานของหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ ซึ่งดำเนินการจับกุมหลายครั้งหลายหน แต่ผู้กระทำความผิดก็ได้รับการประกันตัวออกมากระทำผิดซ้ำเดิมครั้งแล้วครั้งเล่า
นอกจากข้อเสนอต่อกรณีของ “คลองกิ่ว” ในทำนองที่ว่า อยากให้คนระดับรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีเลิกเพิกเฉยและเข้ารับผิดชอบแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวให้ยุติลงโดยด่วน ชวาลยังมีข้อเสนอทางนโยบายอีก 4 ประการ ได้แก่
1) ให้มีนโยบายควบคุมการนำเข้าขยะจากต่างประเทศจริงจัง
2) บังคับใช้กฎหมายผังเมืองให้โรงงานตั้งได้เฉพาะในเขตพื้นที่สีม่วง
3) กำหนดให้โรงงานประเภทรีไซเคิล ซึ่งเป็นแหล่งก่อเกิดมลพิษร้ายแรงต้องทำการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) และ
4) ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่นายกฯ เศรษฐาไม่ให้คำตอบใดๆ กับเรื่องนี้ ด้านพิมพ์ภัทราก็ตอบเพียงในประเด็นการดำเนินงานของอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีอย่างลงรายละเอียด สรุปได้ทำนองว่ามีการทำหน้าที่ครบถ้วนและเต็มที่แล้ว
พิจารณาจากท่าทีของรัฐมนตรีอุตสาหกรรม ปัญหาทั้งหลายที่ชวาลอภิปรายมาดูไม่มีอะไรน่าห่วงใย ปัญหากรณีคลองกิ่วอย่างที่มูลนิธิบูรณะนิเวศนำเสนอด้วยความห่วงใยจริงจัง และเห็นว่าเป็นมหันตภัยคุกคามประเทศชาติ ก็ดูไม่มีประเด็นและไร้น้ำหนักไปเลย
มูลนิธิบูรณะนิเวศจึงอยากที่จะทำนายต่อไปว่า ด้วยท่าทีรัฐบาลเช่นนี้ ไม่เพียงแต่ปัญหากรณีคลองกิ่วจะยังคงดำรงอยู่ แต่คลองกิ่ว 2, 3, 4 ... ยังจะเกิดตามมาอีกมากมายนัก ขณะเดียวกันเราอยากที่จะตอกย้ำและตอกตรึงข้อเสนอต่างๆ ของ สส. ชวาล ว่า นี่ไม่ใช่เพียงข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหา หากแต่คือทางรอดสำหรับประเทศ ก่อนที่จะกลายเป็นดินแดนมลพิษ
ภาพจากการนำเสนอของ สส. ชวาล พลเมืองดี