จะ “คลองกิ่ว” หรือ “แคดเมียม” ต่างเตือนว่า ถึงเวลาที่สังคมไทยต้องใช้กฎหมาย PRTR!!! (5 เม.ย. 67)

 

 

 

เข้าข่ายความวัวไม่ทันหาย ความควายผุดโผล่ขึ้น สำหรับเรื่องของมลพิษและกากอุตสาหกรรมอันตราย
 


หลังจากที่ในสภาผู้แทนราษฎรเพิ่งมีการอภิปรายถึงปัญหาการประกอบกิจการรีไซเคิลเถื่อน ที่ ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี ซึ่งแอบแฝงนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อันตรายมาคัดแยกและหลอมภายใต้ใบอนุญาตรีไซเคิลขยะพลาสติก (โดยมีใบอนุญาตน้อยกว่าจำนวนโรงประกอบการอย่างมาก) เพียงผ่านมาวันเดียว กรณีการค้นพบกากแคดเมียมกลางเมืองสมุทรสาครก็กลายเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นมา
 


สองเรื่องนี้ต่างเป็นเรื่องในความรับผิดชอบของกระทรวงอุตสาหกรรมเหมือนๆ กัน ซึ่งมีจุดร่วมหลายเรื่องหลายมุมที่สะท้อนปัญหาและช่องโหว่ในการกำกับดูแล โดยเฉพาะเกี่ยวกับกระบวนการอนุญาตและกระบวนการควบคุมการขนส่งกากของเสีย
 


แต่หากมองอย่างรอบด้าน แท้จริงเรื่องนี้ยังเกี่ยวข้องกับภาพใหญ่เชิงนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG ที่ใช้ชื่อหรูหราในภาษาไทยว่า โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ทำให้เกิดการส่งเสริมกิจการรีไซเคิลและการหมุนเวียนนำเอาทรัพยากรเก่ามาใช้ใหม่อย่างขนานใหญ่ ตั้งแต่ในช่วงรัฐบาลที่แล้ว
 


โดยหลักการและในเชิงแนวคิด โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นเรื่องที่ดี แต่เมื่อการดำเนินการเกิดขึ้นบนโครงสร้างและระบบที่ไม่ยึดถือแบบแผนการปฏิบัติที่ถูกต้อง และขาดการตรวจสอบควบคุม ผลลัพธ์ที่ได้ก็สามารถกลายเป็นเรื่องของอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อมและทำให้สังคมตกอยู่ในความเสี่ยงมหันต์ด้านพิษภัยเคมี 
 


แบบแผนที่ถูกต้องและการตรวจสอบควบคุมอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากปราศจากความโปร่งใส และรากฐานสำคัญของความโปร่งใสก็คือข้อมูล
 


สำหรับสิ่งที่มีพิษภัยในตัวเองอย่างสารเคมีและสารมลพิษ รวมถึงสิ่งที่ปนเปื้อนทั้งหลาย โดยเฉพาะกากอุตสาหกรรม เพื่อที่จะควบคุมได้ เราจำเป็นต้องมีข้อมูลครอบคลุมตั้งแต่ชั้นการก่อเกิด การครอบครอง การใช้งาน การเคลื่อนย้าย จนถึงขั้นการบำบัด/กำจัด 
 


ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับเรื่องสารเคมีและมลพิษมายาวนานได้คิดค้นและพัฒนากลไกที่จะก่อให้เกิดฐานข้อมูลในเรื่องนี้ขึ้นได้ มานานมากกว่า 30 ปีแล้ว ในชื่อเรียกว่า “ทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ” หรือ PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) ซึ่งหมายความถึงการสร้างให้เกิดระบบฐานข้อมูลที่เผยแพร่สู่สาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ประเภทต่างๆ สู่ตัวกลางสิ่งแวดล้อมทั้งอากาศ ดิน น้ำ รวมถึงข้อมูลการนำน้ำเสียและของเสียออกจากแหล่งกำเนิดไปบำบัดหรือกำจัด
 

 
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีพันธกรณีตามอนุสัญญาระหว่างประเทศที่จะต้องจัดทำกฎหมาย PRTR มานานแล้วเช่นเดียวกัน แต่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องยังไม่เคยมีการนำเสนอ จนกระทั่งเมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 “ร่างกฎหมายการรายงานการปล่อยและการเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม” หรือกฎหมาย PRTR ที่จัดทำโดยมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ร่วมกับมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ENLAW) ถูกยื่นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร แต่แล้วร่างกฎหมายกลับถูกนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปัดตกเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดกรณีเพลิงไหม้สารเคมีโรงงานหมิงตี้ เคมีคอล จำกัด ในซอยกิ่งแก้ว 21 อ. บางพลี จ. สมุทรปราการ ซึ่งเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สะท้อนปัญหาการไม่อาจจัดการอุบัติภัยเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเนื่องมาจากการขาดข้อมูล
 


เมื่อพ้นสมัยของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ฯ ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมาย PRTR อีกครั้ง โดยนำร่างกฎหมายฉบับเดิมออกเผยแพร่และขอรับการสนับสนุนจากประชาชนคนไทย จนกระทั่งสามารถรวบรวมรายชื่อได้เกิน 10,000 คน และยื่นร่างกฎหมายต่อรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้สำเร็จเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
 


ขณะนี้สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้แสดงความเห็นต่อร่างกฎหมาย PRTR ฉบับประชาชนดังกล่าวแล้ว โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจนถึงวันที่ 19 เมษายน 2567 ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ ประเทศไทย จึงขอเชิญทุกคนที่อยากไปให้พ้นสังคมเสี่ยงภัย ร่วมมีส่วนหยุดยั้งมหันตภัยเคมีแบบหมิงตี้ คลองกิ่ว และแคดเมียม ด้วยการไปแสดงความคิดเห็นเพื่อผลักดันกฎหมาย PRTR ให้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ได้ที่ >> https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php...
 


ภาพถ่ายโดย กรมควบคุมมลพิษและมูลนิธิบูรณะนิเวศ