ชาวเขาย้อยเฮ!? บริษัทรีไซเคิลซีเอ็มพีถอนคำขออนุญาตเพิ่มเตาหลอม (1 เม.ย. 67)
บริษัทรีไซเคิลที่เขาย้อย จ. เพชรบุรี ถอย แจ้งอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี ขอยกเลิกการขออนุญาตขยายโรงงานครั้งที่ 2 ตามที่ได้ยื่นขอไว้เมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 ซึ่งเป็นการขอเพิ่มเตาหลอมทองแดงและอะลูมิเนียมจำนวนถึง 5 เตา อ้างเหตุการขอถอนการขออนุญาตว่าเพื่อให้ประชาชนหมดความกังวลใจ ด้านชาวบ้านในพื้นที่บอกสบายใจไปหนึ่งเปลาะ แต่ยังไม่วางใจ และจะเฝ้าระวังต่อไป
หลังจากที่เมื่อต้นเดือนมีนาคม ในการประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านพุหวายอู่ตะเภา ม. 6 ต. หนองชุมพลเหนือ อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี โดยที่มีตัวแทนจากบริษัท ซีเอ็มพี กรีน เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการด้านการรีไซเคิลของเสีย ทั้งที่เป็นของเสียไม่อันตรายและกากอุตสาหกรรมอันตราย ในพื้นที่ ม. 6 ต. หนองชุมพลเหนือ มาตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2560 เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อชี้แจงและตอบข้อซักถามของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับกรณีที่บริษัทฯ ได้ยื่นขออนุญาตขยายโรงงานครั้งที่ 2 โดยจะเพิ่มเตาหลอมทองแดงและอะลูมิเนียมจำนวนถึง 5 เตา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตการหลอมโลหะอีกวันละกว่า 40 ตัน จากที่มีอยู่แล้ว 40 ตันต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในวันดังกล่าว ตัวแทนบริษัทฯ ไม่อาจตอบข้อซักถามและข้อซักค้านหลายประการของชาวบ้าน จนในที่สุดชาวบ้านพุหวายอู่ตะเภาจึงได้ลงมติไม่เห็นชอบกับการขอขยายกิจการของบริษัทฯ
รายละเอียดเรื่องดังกล่าว ทางเพจมูลนิธิบูรณะนิเวศได้นำเสนอไปแล้วเมื่อวันที่ 8 มีนาคมที่ผ่านมา รวมทั้งได้นำเสนอเพิ่มเติมในส่วนแผนการขยายกิจการของบริษัทฯ และปูมหลังเกี่ยวกับการประกอบกิจการของบริษัทฯ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม และ 12 มีนาคม ตามลำดับ
ความคืบหน้าเรื่องนี้ ปรากฏว่า เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาได้เกิดกระแสข่าวสะพัดในพื้นที่แถบ อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี ว่า ทางบริษัทซีเอ็มพีฯ ได้มีหนังสือแจ้งไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีแล้วว่า ขอถอนคำขอรับใบอนุญาตในส่วนขยายโรงงานครั้งที่ 2 โดยมีข่าวว่า การถอนเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มีนาคมแล้ว แต่สำหรับในระดับพื้นที่ บริษัทได้มีหนังสือลงวันที่ 25 มีนาคม แจ้งแก่กำนันตำบลหนองชุมพลเหนือเพื่อทราบ
ตามหนังสือของบริษัทฯ ที่แจ้งขอถอนการขออนุญาตกับอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี ได้มีการชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างยืดยาวเป็นจำนวนถึง 3 หน้ากระดาษ มีสาระประการสำคัญโดยสรุปดังนี้
1. โรงงานซีเอ็มพีได้เปลี่ยนผู้ประกอบกิจการใหม่เมื่อประมาณเดือนกันยายน 2565 โดยยังคงใช้ชื่อเดิม แต่ไม่มีการประกอบกิจการใดๆ จนปัจจุบัน
2. ประเด็นหวั่นวิตกของชาวบ้านที่ว่าจะมีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศเข้ามาเป็นวัตถุดิบนั้น บริษัทฯ ยืนยันว่า หากประกอบกิจการจะใช้วัสดุไม่ใช้แล้วจากโรงงานอื่นๆ ภายในประเทศเท่านั้น และการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จะเป็นไปตามที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอเอ (BOI) ซึ่งก็คือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และตามนโยบายบีซีจี (BCG) ของรัฐบาลเท่านั้น
3. ปัจจุบันโรงงานมีพื้นที่ 93 ไร่เศษ และยังไม่ได้ขอเป็นพื้นที่ปลอดอากร ส่วนกรณีการขึ้นป้าย “CMP FREE ZONE” นั้น ทำโดยผู้ประกอบการเดิม เมื่อปัจจุบันทางบริษัทฯ รับทราบ จึงได้ปลดป้ายดังกล่าวลงแล้ว เพื่อลดความกังวลของชาวบ้าน
4. ยืนยันว่า ตั้งแต่ผู้ประกอบการใหม่เข้าบริหารโรงงานเมื่อกันยายน 2565 ยังมิได้ประกอบกิจการใดๆ เลย และจากการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องจักรเดิมที่ได้รับอนุญาตจากทางการ พบข้อเท็จจริงว่า ผู้ประกอบกิจการรายเดิมมีการขออนุญาตขยายโรงงานครั้งที่ 1 และได้รับอนุญาตเมื่อปี 2565 ให้ประกอบกิจการบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ “ดังนั้นเพื่อความบริสุทธิ์ใจในการประกอบกิจการที่โปร่งใส บริษัทฯ จะดำเนินการขอยกเลิกเครื่องจักรฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับขยะอิเล็กทรอนิกส์นี้ ประมาณ 3,000 กว่าแรงม้า ต่อทางราชการออกไป เพื่อให้ประชาชนชาวบ้านที่อยู่อาศัยใกล้เคียงโรงงานได้หมดความกังวลใจ” หนังสือของบริษัทระบุ
“เราก็สบายใจไปเปลาะหนึ่ง อย่างน้อยเขาคงไม่กล้าทำอะไรแบบนี้อีกแล้วมั้ง (เงียบครู่หนึ่ง) ไม่แน่ใจ...หรือเปล่า” หนึ่งในชาวหนองชุมพลเหนือที่คัดค้านโรงงานรีไซเคิล เผยความรู้สึกหลังทราบข่าวท่าทีของโรงงาน
เธอบอกเล่าถึงบรรยากาศในไลน์กลุ่มหมู่บ้าน หลังผู้ใหญ่บ้านแจ้งข่าวและเผยแพร่หนังสือของบริษัทฯ ว่า ชาวบ้านที่ร่วมกันคัดค้านต่างดีใจ อีกทั้งยังสอบถามผู้ใหญ่บ้านเพิ่มเติมว่า แล้วในส่วนที่ได้เคยออกใบอนุญาตไปแล้วนั้น จะทำอย่างไรต่อไป
นอกจากนั้น ชาวหนองชุมพลเหนือยังคงมีข้อกังวลในเรื่อง “เขตปลอดอากร” ตามที่เคยพบเห็นจากป้าย “CMP FREE ZONE” ที่ปรากฏเด่นชัดหน้าโรงงาน และตั้งเป้าว่า ในการประชุมประจำเดือนที่จะถึงในวันที่ 6 เมษายนนี้ จะสอบถามเรื่องดังกล่าวจากผู้นำชุมชนอีกครั้ง
“ใบอนุญาตนี้ไม่ได้สนใจแล้ว อยากจะรู้ว่าไอ้พื้นที่เขตปลอดอากรของบริษัทที่ทำเรื่องขอไป มันเป็นยังไง มันได้ หรือไม่ได้อะไรยังไง”
คำกล่าวนั้นสะท้อนว่า ชาวบ้าน ต. หนองชุมพลเหนือ อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี จะยังคงเฝ้าระวังการก่อมลพิษในพื้นที่ต่อไป และมูลนิธิบูรณะนิเวศก็เช่นเดียวกัน