กระบวนการซ่อนเงื่อนในการขอใบอนุญาตรีไซเคิลที่หาดนางแก้ว (2-ตอนจบ) (29 มี.ค. 67)

 

 

 

กรณีประชาชนจาก 3 ตำบลใน อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี เคลื่อนไหวคัดค้านการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทรีไซเคิลของบริษัท เวิลด์เทค เมเน็จเม้นท์ จํากัด โดยได้ยื่นหนังสือทั้งต่อหน่วยงานในระดับจังหวัดและต่อหน่วยราชการส่วนกลาง ด้วยเหตุผลว่ามีความห่วงใยเรื่องผลกระทบ มีปัญหาเรื่องใบอนุญาตมีความซ้ำซ้อน และปัญหาของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
 


เมื่อมูลนิธิบูรณะนิเวศร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี สืบเสาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องแล้วก็พบว่า เหตุผลทั้งสามประการล้วนมีข้อเท็จจริงหนุนหลังอย่างมีน้ำหนักยิ่ง
 


ในเนื้อหาตอน 1 ได้กล่าวถึงกระบวนการติดประกาศรับฟังความคิดเห็นภายใต้การดำเนินการของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งสะท้อนถึงกระบวนการขอใบอนุญาตที่ดูเหมือนจะมีทั้งความซับซ้อนและซ้ำซ้อนไปแล้ว ในตอนที่ 2 นี้จะชี้ถึงความซ่อนเงื่อนอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน
 


ประการแรก เรื่องระยะเวลาที่เปิดรับความคิดเห็น จากประกาศของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีที่ทยอยออกมา 3 ฉบับ ในวันที่ 26 มกราคม 2567 วันที่ 2 และ 9 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น ได้กำหนดให้แสดงความเห็นภายในวันที่ 12, 18 และ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ตามลำดับ
 


ตามข้อเท็จจริงนี้จึงเป็นที่ชัดเจนว่า ระยะเวลาที่เปิดรับฟังความคิดเห็นในแต่ละการประกาศอยู่ที่ประมาณครึ่งเดือน ส่วนกระบวนการสรุปการรับฟังความคิดเห็นมีลักษณะเร่งรีบยิ่งกว่า โดยที่กระบวนการรวมตั้งแต่การประกาศ 3 ระลอกจนถึงสรุปผลทั้งหมด ทำเสร็จสิ้นภายในช่วงเวลาเพียง 1 เดือนเท่านั้น 
 


ทั้งนี้ ในการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นในกรณีการขอใบอนุญาตโรงงานของบริษัท เวิลด์เทคฯ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรียังคงทำในลักษณะเดิม นั่นคือทยอยติดประกาศสรุปผลออกมาแยกตามการติดประกาศรับฟังความคิดเห็น ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบพบเอกสาร ปรากฏว่า มีการออกประกาศฉบับที่ 40/2567 ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 เป็นการสรุปผลตามประกาศฉบับที่ 25/2567 ลงวันที่ 29 มกราคม 2567 ที่ขอประกอบกิจการ “คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย” หรือการขอใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 105 บนโฉนดที่ดิน 6 แปลง ผลสรุปคือว่า ไม่มีความคิดเห็นคัดค้าน
 


ส่วนการสรุปผลอีกฉบับที่พบเป็นประกาศฉบับที่ 44/2567 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 สรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกรณีการขอใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 106 บนโฉนดที่ดินเลขที่ 9153 ว่า ไม่มีความคิดเห็นคัดค้าน เช่นเดียวกัน 
 


ข้อสรุปดังกล่าวนับว่าตรงตามความเป็นจริง เนื่องจากในห้วงขณะที่มีการออกประกาศรับฟังความคิดเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิลทั้งแบบที่เป็นของเสียอันตรายและไม่อันตราย ของบริษัท เวิลด์เทคฯ ทั้ง 3 ฉบับ ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบไม่ได้รับรู้ถึงเรื่องดังกล่าวเลย จนกระทั่งล่วงเลยถึงประมาณกลางเดือนมีนาคมจึงเริ่มเกิดความตื่นตัว เนื่องจากมีกระแสข่าวในพื้นที่หนาหูว่ากำลังจะมีบ่อขยะขนาดใหญ่เข้ามาตั้ง
 


นั่นทำให้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งเริ่มติดตามสืบค้นหาข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้ ด้วยการเข้าไปสอบถามที่อำเภอและพยายามสืบค้นข้อมูลการติดประกาศการรับฟังความคิดเห็นของอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีทางระบบออนไลน์ แต่ไม่เพียงไม่พบข้อมูลข่าวสารที่ต้องการ หากกลับพบความไม่ชอบมาพากลเพิ่มขึ้นอีก

 

 

หน้าจอเว็บไซต์สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2567 ปรากฏรายการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ 
ของบริษัท เวิลด์เทคฯ แต่ไม่มีรายละเอียดให้กดดูหรือดาวน์โหลด ณ เวลาดังกล่าวอาจอ้างได้ว่าพ้นช่วงเวลาที่เปิดรับความเห็นแล้ว 
แต่ประมาณ 1 เดือนก่อนหน้านั้นก็ไม่แตกต่างกัน

 


กล่าวคือ แม้จะพบว่ามีการแสดงหัวข้อ “การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ ของบริษัท เวิลด์เทค เมเน็จเม้นท์จำกัด” บนหน้าเว็บไซต์ของสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี แต่ภายใต้หัวข้อดังกล่าวกลับไม่มีเอกสารให้ดาวน์โหลดหรือกดเข้าไปดูเนื้อหา ซึ่งแตกต่างจากหัวข้อการรับฟังความคิดเห็นในกรณีของบริษัทอื่นๆ ที่มีการแสดงไว้เป็นรายการต่อเนื่องกัน ทั้งนี้ สภาพดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์แล้ว ทั้งๆ ที่ยังคงเป็นห้วงเวลาการเปิดรับฟังความคิดเห็นการขอใบอนุญาตของบริษัท เวิลด์เทคฯ อย่างน้อยในส่วนสองฉบับหลัง

 


หน้าจอเว็บไซต์สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ปรากฏรายการการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ 
ของบริษัท เวิลด์เทคฯ แต่ไม่มีรายละเอียดให้กดดูหรือดาวน์โหลดเช่นเดียวกัน ทั้งที่ ณ เวลานั้นยังอยู่ในช่วงที่เปิดรับความเห็น

 


กว่าประชาชนจะได้รับทราบเนื้อหาของประกาศรับฟังความคิดเห็นของบริษัท เวิลด์เทคฯ จึงพ้นกำหนดเวลาการแสดงความคิดเห็นไปทั้งหมดแล้ว และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีได้สรุปผลออกมาแล้วว่าไม่มีความคิดเห็นคัดค้านใดๆ 
 


อย่างไรก็ตาม ต้องกล่าวไว้ด้วยว่า แม้จนบัดนี้ ประชาชนในพื้นที่ก็ยังคงไม่ได้ทราบชัดเจนว่า บริษัท เวิลด์เทคฯ มีการขอใบอนุญาตในพื้นที่ ม. 7 ต. หาดนางแก้ว จำนวนเพียง 3 ใบเท่านั้นหรือไม่ เพียงแต่ทราบว่ามีอย่างน้อย 3 ใบเท่าที่ตรวจสอบพบ!!
 


ด้วยข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ จึงก่อให้เกิดเส้นทางแห่งความผิดปกติอันเป็นเหตุใดประชาชนในพื้นที่ ต. เขาไม้แก้ว ลาดตะเคียน และหาดนางแก้ว อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในข่ายที่จะได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ รู้สึกว่าตนเองถูกปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นในกรณีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิลของบริษัทแห่งนี้ ทั้งๆ ที่กิจการที่ขอใบอนุญาตเป็นการประกอบการรีไซเคิลที่จะทำให้มีของเสียทั้งไม่อันตรายและอันตราย เข้ามาสู่พื้นที่จำนวนมหาศาล
 


พิจารณาจากรายละเอียดเฉพาะในใบยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการ 106 ทั้ง 2 ใบ พบว่า รายการวัตถุดิบที่แสดงไว้ว่าจะมีการนำเข้ามาในโรงงาน รวมแล้วปริมาณของเสียอันตรายและไม่อันตรายในแต่ละใบอนุญาตจะมีมากถึง 172,170 ตันต่อปี หรือประมาณ 500 ตันต่อวัน ดังนั้นหากได้รับใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 106 ทั้งสองใบ ปริมาณของเสียรวมที่จะเข้ามาในพื้นที่จะมีถึง 344,340 ตันต่อปี หรือประมาณ 1,000 ตันต่อวัน ทั้งนี้ไม่นับปริมาณของเสียและวัสดุใช้แล้วตามใบอนุญาตประกอบกิจการ 105 อีกประมาณปีละ 16,000 ตัน

 

รายการวัตถุดิบ “ของเสียที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” หลากหลายชนิดในปริมาณมหาศาล


 


ที่หนักหนาไปกว่านั้นก็คือ ในปัจจุบัน บริษัท เวิลด์เทคฯ ครอบครองใบอนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิลในพื้นที่หาดนางแก้วอยู่แล้ว 2 ใบอนุญาต ได้แก่ ใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 โดยมีจุดที่ตั้งห่างจากพื้นที่ที่กำลังขอใบอนุญาตใหม่ประมาณ 3 กิโลเมตรเท่านั้น
 


ใครควรจะต้องเป็นคนรับผิดชอบต่อความซ่อนเงื่อนที่เกิดนี้ และใครจะคืนความเป็นธรรมให้แก่ประชาชนชาวกบินทร์บุรี 3 ตำบล? เป็นคำถามที่ยังรอคำตอบ...
 


เห็นข่าวเรื่องเจ้ากระทรวงอุตสาหกรรมอุตสาหกรรมออกมาเร่งรัดกรมโรงงานอุตสาหกรรมเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการแล้ว นึกอยากให้เจ้ากระทรวงลดการฟังเสียงโอดครวญของนักลงทุนใจร้อน แล้วหันมาให้น้ำหนักกับปัญหาระดับกระทบชีวิตความเป็นอยู่ที่ประชาชนประสบบ้าง จะได้ไม่หลับหูหลับตาเร่งรัดการออกใบอนุญาตแบบไม่ต้องสนใจว่ากระบวนการชอบธรรมหรือไม่ ถูกต้องตามกรอบกฎหมายไหม ประชาชนมีส่วนร่วมแค่ไหน อย่างไร ฯลฯ