กระบวนการซ่อนเงื่อนในการขอใบอนุญาตรีไซเคิลที่หาดนางแก้ว (1) (28 มี.ค. 67)

 

 


จากกรณีที่ประชาชนจาก ต. เขาไม้แก้ว ลาดตะเคียน และหาดนางแก้ว อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี เคลื่อนไหวคัดค้านการขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานประเภทรีไซเคิลของบริษัท เวิลด์เทค เมเน็จเม้นท์ จํากัด โดยได้ยื่นหนังสือทั้งต่อหน่วยงานในระดับจังหวัด นั่นคือผู้ว่าราชการจังหวัดและอุตสาหกรรมจังหวัด และต่อหน่วยราชการส่วนกลาง คืออธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 25 และ 26 มีนาคม ที่ผ่านมา ตามลำดับ การคัดค้านนี้มีเหตุผลหลายประการ นอกเหนือจากความห่วงใยเรื่องผลกระทบ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องใบอนุญาตที่มีความซ้ำซ้อน และปัญหาของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น
 


ปมประเด็นเรื่องการขอใบอนุญาตกรณีนี้มีความไม่ชอบมาพากลในหลายมิติจริง ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนออกมาผ่านการประกาศรับฟังความคิดเห็นที่ดำเนินการโดยอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั่นเอง
 


มูลนิธิบูรณะนิเวศพิจารณาเอกสารประกาศสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเท่าที่พอหาได้แล้ว พบข้อเท็จจริงที่น่าคลางแคลงใจในส่วนของกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เชื่อมโยงกับกระบวนการขอใบอนุญาต ดังนี้
 


1. เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ออกประกาศฉบับที่ 25/2567 ลงวันที่ 26 มกราคม 2567 เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงาน จำพวกที่ 3 ของบริษัท เวิลด์เทค เมเน็จเม้นท์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการ “คัดแยกวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย” ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 10472, 9152, 9153, 25453, 25454, 25455 ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต. หาดนางแก้ว อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี จำนวนเนื้อที่ตั้งโรงงาน 307,276 ตารางเมตร ใช้เครื่องจักร 626 แรงม้า คนงาน 20 คน กำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567
 


ตามข้อมูลดังกล่าว เท่ากับใบอนุญาตที่บริษัทขอเป็นใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 105 นั่นคือการคัดแยกของเสียไม่อันตราย โดยพื้นที่ตั้งโรงงานนับว่ากว้างขวางมาก ครอบคลุมโฉนดที่ดินถึง 6 แปลง และมีพื้นที่ถึงประมาณ 193 ไร่ แต่กำลังเครื่องจักรและแรงงานถือว่าบางเบาอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเนื้อที่ประกอบกิจการ
 


2. ต่อมา ห่างกันเพียง 1 สัปดาห์ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ออกประกาศฉบับที่ 28/2567 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงาน จำพวกที่ 3 ของบริษัท เวิลด์เทค เมเน็จเม้นท์ จำกัด เพื่อประกอบกิจการ “ทำเชื้อเพลิงผสมจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีค่าความร้อน ทั้งในรูปของแข็ง ของเหลว และของแข็งกึ่งเหลว บำบัดน้ำปนเปื้อนน้ำมัน น้ำปนเปื้อนน้ำมันในรูปแบบอิมัลชั่น coolant ด้วยวิธีทางเคมี/ทางกายภาพ/ทางเคมีกายภาพ ทำวัสดุผสมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในเตาเผาอุตสาหกรรมซีเมนต์ ซ่อมและล้างถังภาชนะด้วยตัวทำละลาย รีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์เก็บรวบรวมแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่มีการแปรสภาพ” ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 10472 ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต. หาดนางแก้ว อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี จำนวนเนื้อที่ตั้งโรงงาน 6,400 ตารางเมตร (ประมาณ 4 ไร่) ใช้เครื่องจักร 502.50 แรงม้า คนงาน 25 คน กำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2567
 


จะเห็นได้ว่า ประกาศรับฟังความคิดเห็นฉบับที่สองนี้เป็นเรื่องเดียวกันของบริษัทผู้ขอรับใบอนุญาตรายเดียวกันกับประกาศรับฟังความคิดเห็นฉบับแรก แต่แตกต่างตรงการประกอบกิจการที่เข้าข่ายเป็นการขอใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 106 นั่นคือ การรีไซเคิลของเสียอันตราย ส่วนที่ตั้งโรงงานอยู่บนโฉนดเพียงใบเดียว ซึ่งซ้ำซ้อนกับแปลงที่ขอใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 105 โดยที่เนื้อที่ประกอบกิจการมีสัดส่วนเพียงประมาณ 1 ใน 48 ส่วน แต่กำลังเครื่องจักรกลับน้อยกว่าไม่มาก และจำนวนแรงงานมากกว่าเสียอีก ซึ่งอาจบ่งบอกว่า การประกอบกิจการในส่วนนี้จะเข้มข้นกว่า
 


3. อีกสัปดาห์ต่อมา ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ออกประกาศฉบับที่ 30/2567 ลงวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ว่าด้วยเรื่องเดิมของบริษัทรายเดิม ระบุว่า เพื่อประกอบกิจการ “ทำเชื้อเพลิงผสมจากวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่มีค่าความร้อน ทั้งในรูปของแข็ง ของเหลว และของแข็งกึ่งเหลว แยกน้ำมันจากน้ำปนเปื้อนน้ำมัน น้ำปนเปื้อนน้ำมันในรูปแบบอิมัลชั่น coolant ด้วยวิธีทางเคมี/ทางกายภาพ/ทางเคมีกายภาพ ทำวัสดุผสมเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบทดแทนในเตาเผาอุตสาหกรรมซีเมนต์ ซ่อมและล้างถังภาชนะด้วยตัวทำละลาย รีไซเคิลหลอดฟลูออเรสเซนต์ กระป๋องสเปรย์ เก็บรวบรวมแบตเตอรี่ที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่มีการแปรสภาพ” ตั้งอยู่บนโฉนดที่ดินเลขที่ 9153 ในพื้นที่หมู่ที่ 7 ต. หาดนางแก้ว อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี จำนวนเนื้อที่ตั้งโรงงาน 6,400 ตารางเมตร (ประมาณ 4 ไร่) ใช้เครื่องจักร 502.50 แรงม้า คนงาน 25 คน กำหนดเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567


 

 


ประกาศรับฟังความคิดเห็นฉบับที่สามนี้แสดงให้เห็นว่า เป็นการขอใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 106 อีกเช่นกัน โดยมีกำลังเครื่องจักรและแรงงานเท่ากันด้วย แต่มีรายละเอียดของรายการของเสียแตกต่างจากการขอใบ 106 แรกเล็กน้อย ส่วนที่ดินเป็นคนละแปลงกัน แต่ก็มีความซ้ำซ้อนกับแปลงที่ขอใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 105 อีกเช่นเคย
 


จากประกาศรับฟังความคิดเห็นทั้ง 3 ฉบับที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีทยอยประกาศออกมาในเวลาที่ซ้อนทับและคาบเกี่ยวกันนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีของบริษัทเดียวกัน และทั้งหมดเป็นการประกอบกิจการเกี่ยวกับการรีไซเคิลของเสีย แต่กลับมีการขอในลักษณะแยกกันเป็น 3 ใบ และดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแยกกัน ทั้งที่มีสองใบเป็นประเภท 106 เหมือนกัน อีกทั้งพื้นที่ประกอบกิจการระหว่างใบ 105 กับ 106 ทั้งสองใบก็มีความทับซ้อนเป็นพื้นที่เดียวกัน


 

 


นี่จึงเป็นกรณีที่ชวนสับสนและชวนสงสัยอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความซ่อนเงื่อนและไม่ชัดเจนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนใบอนุญาต ลักษณะการประกอบกิจการ รวมถึงพื้นที่ประกอบกิจการ จึงเป็นเหตุให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดความรู้สึกว่ามีความไม่ชอบมาพากลจนไม่อาจยอมรับได้ ชาวบ้านจาก 3 ตำบลที่อยู่ในข่ายอาจได้รับผลกระทบจึงต้องออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน
 


แต่ประเด็นซ่อนเงื่อนของเรื่องนี้ยังมีมากกว่านั้น ติดตามต่อได้ในตอน 2