ชาวกบินทร์บุกยื่นหนังสือ อธิบดีกรอ./รมต.อุตสาหกรรม ค้านโรงขยะอุตสาหกรรม หวั่นมลพิษกระทบชุมชน (26 มี.ค. 67)
ปราจีนบุรี - กลุ่มฅนรักษ์สิ่งแวดล้อมกบินทร์บุรีเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ยื่นหนังสือต่ออธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม คัดค้านการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ โรงงานรีไซเคิลของเสียอันตรายเพิ่มเติมในพื้นที่ หวั่นแหล่งน้ำเสียหาย พร้อมเรียกร้องปรับกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ด้านอธิบดีกรมโรงงานฯ ยอมรับการกำกับดูแลโรงงานประเภท 105 และ 106 มีปัญหาจริง เล็งปรับแก้ประกาศกรมให้ต้องแสดงรายละเอียดที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในการขออนุญาต
26 มีนาคม 2567 – เช้าวันนี้ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กรุงเทพฯ มีตัวแทนประชาชนกลุ่มฅนรักษ์สิ่งแวดล้อมกบินทร์บุรีร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ 20 คน เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่ออธิบดี กรอ. แสดงจุดยืนคัดค้านการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิลของเสียอันตรายให้แก่ บริษัท เวิลด์เทค เมเน็จเม้นท์ จํากัด ที่ได้มีการขอใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 105 (ประกอบกิจการคัดแยกและฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย) และใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 106 (ประกอบกิจการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงาน รวมถึงวัตถุอันตราย มาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม) ในพื้นที่ ม. 7 ต. หาดนางแก้ว อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี ทั้งนี้ ตามหนังสือที่ยื่นมีการระบุข้อกังวล 3 ประการ สรุปได้ว่า
ประการที่ 1 บริษัทฯ มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานลำดับที่ 105 และ 106 ในพื้นที่นี้อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีความจําเป็นแต่อย่างใดที่บริษัทฯ จะต้องขอใบอนุญาตใบใหม่เพิ่มเติม
ประการที่ 2 สถานที่ตั้งไม่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่ที่ทางบริษัทแสดงความประสงค์ขอรับใบอนุญาตในครั้งนี้ อยู่ติดกับคลองอีโด่ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่จะไหลลงสู่คลองเจ้าแรง สู่แควพระปรง และสู่แม่น้ำปราจีนบุรี อันอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างต่อประชาชนผู้ใช้น้ำ นอกจากนี้ยังอยู่ติดกับฟาร์มเลี้ยงไก่จํานวนหลายฟาร์ม อยู่ใกล้กับหมู่บ้านหลายหมู่บ้าน อาทิ หมู่บ้านปราสาท หมู่บ้านทุ่ง พระพุทธ และหมู่บ้านนาคลองกลาง โดยหมู่บ้านที่ใกล้ที่สุดห่างจากจุดขอใบอนุญาตเพียง 500 เมตรเท่านั้น ทั้งยังอยู่ใกล้กับโรงเรียน อนามัย วัด และสํานักสงฆ์
ประการที่ 3 มีความไม่ชอบมาพากลของการติดประกาศรับฟังความคิดเห็น โดยสํานักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีมีการติดประกาศรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับโรงงานจําพวกที่ 3 ของบริษัทดังกล่าว จํานวนหลายประกาศในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน จนทําให้ประชาชนเกิดความสับสน ว่ามีการขอใบอนุญาตกี่ใบ และแต่ละใบอนุญาตมีการขอประกอบกิจการประเภทใดบ้าง อีกทั้งอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรีมีการเร่งรีบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและดําเนินการทุกอย่างภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน
ในช่วงหนึ่งของการยื่นหนังสือและพูดคุยกับอธิบดี กรอ. หนึ่งในชาวบ้านที่มายื่นหนังสือได้กล่าวพร้อมน้ำตาว่า “อันนี้พูดแบบชาวบ้าน ไม่ได้พูดถึงกฎหมาย ไม่พูดถึงหลักการของราชการ จะพูดแบบชาวบ้านว่า ถ้าเกิดท่านเซ็นใบอนุญาตไป ก็เหมือนกับว่าท่านเซ็นฆ่าตำบลเขาไม้แก้ว ฆ่าชาวบ้านเรา อยากให้ท่านไตร่ตรองนิดนึงนะ คือที่เรามา เรามาด้วยใจ คือความเดือดร้อนมันใหญ่หลวง อยากให้ท่านพิจารณา ก่อนที่ท่านจะเซ็นใบอนุญาตไป”
หลังได้รับทราบความเห็นและข้อห่วงใยของประชาชนแล้ว นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดี กรอ. กล่าวถึงเรื่องกระบวนการรับฟังความคิดเห็นว่า วันนี้คนจากพื้นที่ได้มีการเข้ามายื่นหนังสือคัดค้านแล้ว ตามขั้นตอนทางเอกสาร อุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องส่งเรื่องมาที่ กรอ. ดังนั้นจะต้องมีการตรวจสอบว่าเอกสารที่รับเข้ามาทำถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ต่อไป ทั้งนี้ ตามกฎหมายได้ให้ กรอ. มีสิทธิให้ผู้ประกอบการชี้แจงรายละเอียดได้เพียงครั้งเดียว แต่ขอยืนยันว่าจะตรวจสอบให้รัดกุม
อธิบดี กรอ. ปรารภเพิ่มเติมด้วยว่า มีสิ่งหนึ่งที่อยากแก้ไขและเคยพยายามทำตั้งแต่ครั้งเป็นรองอธิบดี นั่นคือ ในการขอใบอนุญาตให้มีการระบุรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ก็ทำไม่สำเร็จเนื่องจากถูกย้ายเสียก่อน
“แต่รอบนี้เป็นอธิบดีก็อยากจะทำให้สำเร็จ เพราะกากอุตสาหกรรมของประเทศไทยถูกคลุมด้วยประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ในประกาศเขียนประเภทของกากไว้ประมาณ 846 ประเภท แต่ที่ผ่านมาเขียนกันมาสั้นๆ สี่บรรทัด ไม่ลงรายละเอียด หลังจากนี้จะออกประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม ให้การขอรายละเอียด เฉพาะโรงงาน 105/106 ผู้ที่ขอท่านต้องรู้ว่าท่านจะเอาของเสียประเภทไหนมา ไม่มีการเขียนแล้วว่า วัสดุไม่ใช่แล้วไม่เป็นอันตราย เป็นอันตราย ท่านต้องบอกเลยว่ามันคืออะไร ลำดับที่เท่าไร จะเข้ากระบวนการอะไร ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาเท่าไร จะจัดเก็บวัตถุดิบอย่างไร” อธิบดี กรอ. กล่าวลงรายละเอียด ก่อนเสริมอีกว่า
“การกำกับดูแลคงทำแบบเดิมไม่ได้แล้ว ตั้งแต่เป็นอธิบดี ผมก็ปรับโครงสร้างของกรมโรงงานฯ ยุคที่ผ่านมาเขาเน้นว่าต้องออกใบอนุญาตให้เร็ว พูดกันกระทั่งว่าไม่ต้องมีใบอนุญาตก็ได้ ให้ทำไปก่อนแล้วค่อยมาแจ้งทีหลัง ในสมัยหนึ่งที่รับนโยบายว่าทุกอย่างต้องเร็ว เราก็ทุ่มเทตามคำสั่งรัฐบาล ทุกอย่างเร็วหมด แต่เรื่องการกำกับดูแลกากสำคัญกว่า ที่ได้ใบอนุญาตไปแล้ว พอเราไปตรวจตอนหลัง กากไม่ตรงกับที่ขอใบอนุญาต หลายๆ เคสเป็นแบบนั้น ที่ตรงก็มีนะ แต่ที่ไม่ตรงทำให้เราปวดหัว” อธิบดี กรอ. เปิดเผยถึงปัญหาที่ประสบในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล
ทั้งนี้ หลังจากยื่นหนังสือต่ออธิบดี กรอ. แล้ว ตัวแทนประชาชนจากจังหวัดปราจีนบุรี ได้แจ้งความประสงค์เข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย โดยมีนายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดี กรอ. เป็นตัวแทนรับหนังสือ