22 มี.ค. - วันน้ำโลก มลพิษปนเปื้อนคือภัยคุกคามปัจจุบัน กรณี “อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน 16” ยังรอคอยความยุติธรรม (22 มี.ค. 67)
“ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปเอเชีย แอฟริกา และประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ล้วนมีการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารเคมี โลหะหนัก และไมโครพลาสติก ลงสู่แม่น้ำ ลำธาร และปากน้ำชายฝั่ง โดยไม่ได้รับการบำบัด”
ข้อเท็จจริงที่น่ากระอักกระอ่วนนี้ถูกระบุอยู่ในงานวิจัยเรื่องการประเมินผลกระทบภาคเอกชนต่อเรื่องน้ำในระดับโลก ของ Ceres องค์กรไม่แสวงกำไรในสหรัฐอเมริกา งานวิจัยดังกล่าวเผยให้เห็นด้วยว่า แนวทางปฏิบัติของภาคอุตสาหกรรมกำลังก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อระบบน้ำจืดทั่วโลก ในมิติที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียน้ำใต้ดิน การปนเปื้อนโลหะหนัก มลพิษจากพลาสติก และการเสียสมดุลของระบบนิเวศในแหล่งน้ำ โดยที่ตัวการคืออุตสาหกรรมหลักๆ อย่างการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร สิ่งทอ และแม้แต่อุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงและอิเล็กทรอนิกส์
สมัชชาสหประชาชาติได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันน้ำโลก” (World Water Day) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เพื่อระลึกถึงความสำคัญของน้ำ และกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์และพัฒนาแหล่งน้ำ ให้โลกนี้มีน้ำใช้สำหรับอุปโภคและบริโภคต่อไป เพราะ“น้ำ” ถือเป็นสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานของทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก
ในเวลานั้น ข้อห่วงใยหลักของสหประชาชาติคือปัญหาการขาดแคลนน้ำที่กำลังส่อเค้ารุนแรงขึ้น กระทั่งเกรงว่าในอนาคตอาจเกิดสงครามการแย่งชิงน้ำ แต่เมื่อผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ สถานการณ์ปัญหาน้ำปนเปื้อนมลพิษกลับกลายเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลยิ่งกว่าเดิม
จากรายงานของ Circle of Blue องค์กรไม่แสวงกำไรสัญชาติอเมริกาอีกแห่งหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ติดตามข้อมูลด้านน้ำ ระบุว่า ปี 2564 เป็นปีแห่งวิกฤตน้ำของโลก และปัญหาด้านน้ำกำลังเป็นใจกลางของวิกฤติที่เกิดขึ้นในหลายรูปแบบทั่วโลก ทั้งน้ำล้น ความแห้งแล้ง การปนเปื้อน และภัยพิบัติน้ำที่เกิดถี่ขึ้น
หลายพื้นที่ของประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวอยู่เช่นเดียวกัน จากรายงานของกรมควบคุมมลพิษปี 2565 - 2566 พบว่า มีแหล่งน้ำที่คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม 16% ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2% โดยหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหามลพิษในน้ำคือการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม
ในบรรดาพื้นที่และกรณีปัญหาต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน 16 ที่ ต. เขาหินซ้อน อ. พนมสารคาม จ. ฉะเชิงเทรา ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่สะท้อนปัญหาแหล่งน้ำปนเปื้อนจากมลพิษอุตสาหกรรมได้อย่างชัดเจนและร้ายแรงมากที่สุดกรณีหนึ่ง
อ่างเก็บน้ำดังกล่าวมีความจุ 1.9 ล้านลูกบาศก์เมตร และเคยเป็นแหล่งกระจายน้ำหล่อเลี้ยงชุมชนกว่า 50 ครัวเรือน จุดปะทุของปัญหาเกิดในปี 2562 เมื่อชาวบ้าน ม. 1 และ ม. 3 ของ ต. เขาหินซ้อน ได้ร้องเรียนต่อองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหินซ้อน ถึงปัญหาการลักลอบทิ้งของเสียบริเวณบ่อยืมดินข้างอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน 16 โดยพบว่ามีน้ำสีเขียวไหลซึมลงอ่างเก็บน้ำ และมีชาวบ้านในพื้นที่เกิดผื่นคันจากการใช้น้ำ
เหตุร้องเรียนนำไปสู่การลงพื้นที่ตรวจสอบของสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) ผลพบว่า คุณภาพน้ำมีความเป็นกรดค่อนข้างสูง รวมทั้งตรวจพบโลหะหนักบางชนิดสูงเกินมาตรฐาน เช่น ทองแดง ตะกั่ว แมงกานีส และสังกะสี ปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำดังกล่าว
กระทั่งถึงปี 2564 กรมควบคุมมลพิษได้ตรวจพบสารโมลิบดินัมในบริเวณอ่างถึง 7 จุด โดยมีองค์ประกอบเดียวกับวัตถุดิบในการผลิตของโรงงานโมลิบดินัมออกไซด์และเฟอร์รัสของบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด ในโครงการสวนอุตสาหกรรม 304 อินดัสเตรียล ปาร์ค 2 ต. เขาหินซ้อน ที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับผลการตรวจน้ำที่รางระบายของโรงงาน ซึ่งพบค่าทองแดงสูงเกินมาตรฐาน และกากตะกอนดินของระบบบำบัดน้ำเสียมีค่าโลหะหนักสูงเช่นเดียวกัน ผลจากการตรวจสอบพบด้วยว่า น้ำเสียจากโรงงานมีการไหลซึมผ่านชั้นน้ำใต้ดินลงมายังอ่างเก็บน้ำที่เป็นแหล่งน้ำของชุมชนดังกล่าว
แม้ผลการตรวจคุณภาพน้ำจะชี้ชัดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งมีหน้าที่ยังคงไม่ดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการของบริษัท ที เอช เอช โมลีโพรเซสซิ่ง จำกัด แต่อย่างใด ทั้งๆ ที่ปัญหาดังกล่าวสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตรข้างเคียง กระทบต่อคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน และทำลายระบบนิเวศของชุมชน
ผลกระทบที่เกิดขึ้นนำไปสู่การยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดฉะเชิงเทราในปี 2565 ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องฟ้องเรียกร้องค่าฟื้นฟูและค่าเสียหายจากโรงงานดังกล่าว 1,800 ล้านบาท อันเป็นมูลค่าตามที่มีการประเมินว่าคือจำนวนงบประมาณที่จะต้องใช้ในการฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน 16 ให้ฟื้นคืนจากสภาพอาบพิษ
เดิมทีศาลจังหวัดฉะเชิงเทรานัดฟังคำพิพากษาในคดีดังกล่าววันที่ 22 มี.ค. 2567 ซึ่งบังเอิญตรงกับวันน้ำโลกปีนี้ แต่ต่อมาได้เลื่อนกำหนดออกไปเป็นวันที่ 18 เม.ย. 2567
การรอคอยความยุติธรรมจึงยังคงยืดยาวออกไป ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ยังต้องอยู่กับความทุกข์ร้อนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ น้ำในอ่างยังคงมีสารปนเปื้อน ระบบนิเวศพังทลายต่อไป สัตว์น้ำไม่สามารถมีชีวิตอยู่ ส่วนชาวบ้านบางคนจำต้องเลิกทำอาชีพเกษตรกรรม และย้ายไปอยู่ที่อื่น เนื่องจากไม่มีแหล่งน้ำทำกิน
1,800 ล้านบาทจะขจัดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นได้จริงหรือไม่? คำถามนี้นับว่ายังเป็นเรื่องระยะยาว โจทย์เฉพาะหน้ากว่านั้นคือ การยับยั้งการปล่อยมลพิษลงสู่อ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำโจน 16 ควรจะเกิดขึ้นได้หรือยัง และเมื่อไรรัฐจะเลิกเพิกเฉยต่อความเดือดร้อนของประชาชน
ในภาพใหญ่ ยังมีแหล่งน้ำอีกมากในประเทศไทยที่ได้รับความเสียหายจากมลพิษ บางแห่งอาจเกิดจากการจัดการขยะในชุมชน หรือจากภาคการเกษตร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาคอุตสาหกรรมมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แหล่งน้ำเป็นจำนวนมาก และอาจปนเปื้อนไปด้วยสารพิษที่เป็นอันตรายมากกว่าภาคส่วนอื่น รัฐบาลจึงควรที่จะต้องหันมาสนใจปัญหาด้านมลพิษอย่างจริงจังเสียที รวมถึงสมาชิกรัฐสภาด้วย เพราะหากกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถบังคับใช้เอาผิดต่อผู้ก่อมลพิษได้ ก็คงเป็นไปได้ยากที่จะกอบกู้ ฟื้นฟู หรือป้องกันแหล่งน้ำอันเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตของเราทุกคนต่อไป
เรื่องโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ
ภาพปกโดย กานต์ ทัศนภักดิ์