ขั้นตอนการหลอมทองแดง ภาพจริงจากโรงงานรีไซเคิลทุนจีน (1) (20 มี.ค. 67)

 

 

 

หลังจากเคยพบเจอทองแดงก้อนที่ผ่านการหลอมในโรงงานรีไซเคิลมาแล้ว ที่โรงงานเถื่อนใน ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี วันนี้ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศจะขอนำเสนอภาพขั้นตอนการหลอมและหล่อ อันเป็นกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากเศษเล็กเศษน้อยของทองแดง โดยที่บางส่วนก็อาจมีวัสดุอื่นติดหรือหุ้มอยู่ด้วย เช่น พลาสติก สี และน้ำมัน ไปสู่ “ผลิตภัณฑ์ก้อนทองแดงรีไซเคิล” เท่าที่ได้พบเห็นมา ว่าเป็นอย่างไรบ้าง 


 

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน, ไฟ และ โรงหล่อ

ในการลำเลียง “วัตถุดิบ” เข้าไปสู่การหลอม จากลักษณะการยกปี๊บของคนงาน บ่งบอกว่า วัตถุดิบแต่ละชิ้นมีน้ำหนักพอสมควร

 


ปัจจุบันอุตสาหกรรมการรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมและขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังขยายตัวอย่างมากในประเทศไทย ภายหลังจากที่รัฐบาลชุดก่อนมีนโยบายส่งเสริมแบบทะลุทะลวงกฎเกณฑ์ที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นผังเมือง การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ


 

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

ปี๊บบรรจุแผงวงจรไฟฟ้าเตรียมเข้าสู่กระบวนการหลอม

 


สำหรับภาพที่นำมาแสดงในวันนี้เป็นภาพจริงที่ถ่ายจากภายในโรงงานของนายทุนจีนแห่งหนึ่ง ซึ่งดำเนินการด้านการหลอมหล่อโลหะจากเศษโลหะและของเสียอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ (รีไซเคิล) และเป็นอีกโรงงานหนึ่งที่ผุดขึ้นกลางพื้นที่เกษตรกรรม-ไม่ไกลเขตชุมชน อันเป็นผลจากคำสั่ง คสช.ที่ 4/2559 เรื่องยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมสำหรับการประกอบกิจกรรมบางประเภท


 

ไม่มีคำอธิบายรูปภาพ

ปี๊บที่ภายในมี E-waste บดอัด ถูกลวดมัดเพื่อง่ายต่อการขอย้ายเข้าเตาหลอม

 


กระบวนการหลอมทองแดง จากที่ได้เห็น สังเกตการณ์ และสอบถามมา พอไล่เรียงได้คร่าวๆ ดังนี้
 


1) เพื่อเริ่มดำเนินการหลอม คนงานจะใช้รถเทเลแฮนด์เลอร์ขนาดเล็กยกวัตถุดิบสำหรับหลอมที่ถูกลวดมัดให้ยึดติดกัน เพื่อง่ายต่อการขนย้ายในปริมาณมากๆ มาวางไว้บริเวณด้านหน้าเตาหลอม จากการตรวจสอบพบว่า วัตถุดิบที่จะถูกส่งเข้าเตามีทั้งสายไฟขนาดใหญ่หลายขนาดที่ภายในมีเส้นทองแดง รวมไปถึงปี๊บที่ภายในบรรจุผงหรือเศษ E-waste บดอัด ซึ่งบางปี๊บยังพอเห็นได้ว่า ข้างในคือแผงวงจรไฟฟ้า
 


2) ต่อมาคนงานได้ช่วยกันขนวัตถุดิบใส่รถเข็นเหล็กสองล้อ ก่อนที่จะสลับกันเข็นเข้าไปเทในเตาหลอมที่มีไฟลุกโชนร้อนแรง โดยในบริเวณใกล้เคียงจะมีคนงานคอยเติมถ่านเชื้อเพลิง เพื่อควบคุมความร้อน ซึ่งถ่านที่ใช้มาจากการทุบถ่านก้อนใหญ่ให้แตกออกเป็นก้อนขนาดย่อม ทั้งนี้ถ่านบางก้อนยังมีฉลากภาษาจีนติดอยู่ จากการตรวจสอบพบเป็นชื่อบริษัทจำกัดมหาชนแห่งหนึ่ง ในมณฑลซานตง ประเทศจีน
 


3) หลังจากเศษกาก E-waste เหล่านี้ถูกหลอม ก็จะแปรสภาพเป็นทองแดงเหลวไหลไปสู่แม่พิมพ์เหล็กที่อยู่เบื้องล่าง ซึ่งคนงานจะคอยนำแม่พิมพ์มารองรับทองแดงเหลวไปเรื่อยๆ แล้วจะใช้แท่งเหล็กที่มีด้ามยาว มีส่วนปลายแบน คอยเกลี่ยให้ด้านบนของก้อนทองแดงเรียบพอหยาบๆ หลังจากนั้นจะขนออกไปสู่ภายนอกโรงงานด้วยรถเทเลแฮนด์เลอร์ขนาดเล็ก
 


4) จากการสอบถามผู้ซึ่งรับหน้าที่พาสำรวจโรงงาน ทำให้ทราบว่า ทองแดงที่หลอมแล้วแต่ละก้อนมีขนาดประมาณ 500 กิโลกรัม แต่จากการสังเกต แม่พิมพ์จะมีสองขนาด ใหญ่กับเล็ก จึงไม่ชัดเจนนักว่าเป็นขนาดใดที่มีน้ำหนักดังกล่าว


 

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ โรงหล่อ

ทองแดงเหลวที่ผ่านการหลอมแล้วไหลลงสู่แบบพิมพ์ไปมีการวางรองรับไว้ จะสังเกตได้ว่าเมื่อเทียบกับอีกภาพหนึ่ง 
แม่พิมพ์มีขนาดที่แตกต่างกัน ซึ่งแสดงว่าแม่พิมพ์ของโรงงานแห่งนี้มีอย่างน้อยสองขนาด

 


เมื่อได้เห็นขั้นตอนการผลิตในส่วนของการหลอมหล่อทองแดงนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศจึงเกิดข้อสังเกตตามมาสองประเด็นหลัก
 


ประเด็นแรก ในกระบวนการหลอมทองแดงที่มีการนำ E-waste เช่น สายไฟและชิ้นส่วนต่างๆ มาหลอมด้วยวิธีดิบๆ นั่นคือส่งเข้าเตาเผารวมๆ กันไป ย่อมเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ทั้งจากการที่ตัววัตถุดิบซึ่งเป็นของเสียอาจมีการปนเปื้อนสารเคมีบางชนิดอยู่แล้ว หรือจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์เนื่องจากความร้อนสูงไม่เพียงพอ ทั้งนี้พิจารณาจากถ่านเชื้อเพลิงที่ใช้ แม้มีการระบุว่าเป็น “สินค้าชั้นหนึ่ง” แต่เตาหลอมเช่นที่เห็นก็ไม่อาจจัดว่าเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง หรือเทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่มีอยู่ (ในโลกใบนี้) ตามแนวคิดเรื่อง BAT (Best Available Techniques) อย่างแน่นอน

 

 

อาจเป็นรูปภาพของ ตู้ป้องกันความเย็น และ โรงหล่อ

แม่พิมพ์ชุดนี้เป็นของโรงงานอีกแห่งหนึ่ง
 

 


ทั้งนี้ สารมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ซึ่งมีพิษภัยร้ายแรงและเป็นที่ห่วงกังวลในแวดวงผู้เกี่ยวข้องระดับโลกก็คือกลุ่มสารมลพิษตกค้างยาวนาน หรือ POPs (Persistent Organic Pollutants) ซึ่งด้วยชื่อเรียกก็บ่งบอกให้รับรู้ถึงคุณสมบัติหลักแล้ว นั่นคือ เป็นสารที่การย่อยสลายในธรรมชาติเป็นไปอย่างเชื่องช้ามาก นอกจากนั้นยังแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมได้ไกล ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงส่งต่อให้พิษภัยคงอยู่ได้ยาวนานและแพร่กระจายได้ไกลจากแหล่งกำเนิดเป็นอย่างมาก
 


ประเด็นที่สอง การที่ได้พบว่ามีก้อนทองแดงที่เพิ่งหลอมเสร็จอย่างน้อย 60 ก้อนในช่วงเวลาที่เฝ้าสังเกตการณ์ประมาณสองชั่วโมง เมื่อแต่ละก้อนมีน้ำหนัก 500 กิโลกรัม กำลังการผลิตของเตาหลอมของโรงงานแห่งนี้จึงเท่ากับประมาณ 30 ตัน/ 2 ชั่วโมง กำลังการผลิตเต็มวันจึงย่อมมากกว่านี้หลายเท่า ดังนั้นจึงมากกว่า 50 ตันต่อวันขึ้นไป นั่นหมายถึงย่อมต้องมีการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

 

อาจเป็นรูปภาพของ ต้นขั้วตั๋ว, วัด และ ข้อความ

แผ่นฉลากที่ติดมากับก้อนถ่านเชื้อเพลิง บ่งบอกให้ทราบว่าเป็น “ของนำเข้า”
 


ข้อสังเกตสำคัญจึงมีอยู่ว่า ประสิทธิภาพทั้งของการจัดทำ EIA และการติดตามตรวจสอบตาม EIA หลังจากนั้น มีมากเพียงพอที่จะเป็นหลักประกันว่า การหลอมทองแดงแบบที่นำเสนอมาข้างต้นนั้น ได้มาตรฐานและปลอดภัยแล้วใช่หรือไม่
 


(ติดตามตอน 2 วันพรุ่งนี้)
 


เรื่อง/ภาพถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม มูลนิธิบูรณะนิเวศ