เครือข่ายชาวบ้านจับมือแลกเปลี่ยน เดินหน้าสู้มลพิษอุตสาหกรรม (18 มี.ค. 67)

 

 

 

(17 มี.ค. 67) มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) จัดกิจกรรมศึกษาแหล่งมลพิษ (Toxic Tour) ร่วมกับเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม 3 จังหวัด ได้แก่ #ฉะเชิงเทรา #ปราจีนบุรี และ #ระยอง เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแชร์ประสบการณ์จากผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่บ้านหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง 
 

 

 


กิจกรรมจัดขึ้น ณ สวนยางพาราของ เทียบ สมานมิตร หนึ่งในชาวบ้านหนองพะวาที่ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการรีไซเคิลของเสียอุตสาหกรรมของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด มาตั้งแต่ปี 2556 ส่งผลให้ต้นยางพารายืนต้นตายเกือบ 30 ไร่ ทั้งที่ก่อนหน้านี้พื้นที่หนองพะวามีดินที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและมีปลาพื้นถิ่นอาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำจำนวนมาก


 

 


นอกจากนี้เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมและกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์หนองพะวาได้พาเดินสำรวจพื้นที่เกษตรที่ได้รับความเสียหายจากการปนเปื้อนสารเคมีพร้อมให้ข้อมูลผลกระทบที่เกิดขึ้นบริเวณโดยรอบโรงงานรีไซเคิล ไม่ว่าจะเป็น แหล่งน้ำปนเปื้อนโลหะหนัก ดินและน้ำมีสภาพเป็นกรดสูง ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลให้สิ่งมีชีวิตไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ อีกทั้งกรดที่มีฤทธิ์กัดกร่อนทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวหนัง และส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ
 


ทั้งนี้ในช่วงท้ายได้มีการสรุปกิจกรรม พร้อมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางการเคลื่อนไหวของเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรมในอนาคตร่วมกัน


 

 


ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าชุมชนของตนเริ่มได้รับผลกระทบคล้ายกับพื้นที่หนองพะวาแม้ปัญหายังไม่กระทบเป็นวงกว้างแต่ก็กระทบต่อการใช้ชีวิตของคนในพื้นที่ไม่น้อย ความทุกข์ร้อนที่กำลังเผชิญเปรียบเสมือนฝันร้ายที่ไม่มีใครอยากให้รุนแรงไปกว่านี้ในอนาคต กิจกรรมในครั้งนี้สามารถใช้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาและเตรียมความพร้อมในพื้นที่ของตัวเองต่อไปได้
 


“ตอนนี้กำลังจะประสบปัญหาจากบ่อขยะ แต่ก่อนไม่เคยคาดคิดว่าโรงงานขยะจะเป็นภัยร้ายแรงขนาดนี้ สิ่งที่เราเจอมันยิ่งกว่าฝันร้าย มันเลยทำให้เราลุกขึ้นมาต่อสู้ เราจะไม่ยอมถอยแน่นอน” ตัวแทนเครือข่ายฯ จากพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี บอกเล่ากับสมาชิกเครือข่าย
 


“กิจกรรมนี้ทำให้เราได้เห็นภาพอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นในบ้านเรา เราจำเป็นต้องเรียนรู้ เพราะไม่รู้เลยว่า วันหนึ่งจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับบ้านเราหรือไม่” ตัวแทนเครือข่ายฯ จากพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าว
 

 

 


ไม่มีใครต้องการให้เหตุการณ์ที่เกิดกับหนองพะวาเกิดขึ้นกับชุมชนของตนและพื้นที่อื่นอีก ทุกพื้นที่ต่างให้คำมั่นว่าทางเครือข่ายฯ จะร่วมต่อสู้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอุตสาหกรรมร่วมกันทุกพื้นที่ในอนาคต พร้อมยกย่องและให้กำลังใจต่อกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์หนองพะวา ที่ยืนหยัดต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นตลอดมา 
 


ก่อนจบกิจกรรม เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ได้พูดถึงกิจกรรมในครั้งนี้เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเด็นนี้ต่อไป
 


“สิ่งที่เราทำกันในวันนี้มันคืออนาคตของประเทศไทย ลูกหลานของเราต้องได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น เพราะฉะนั้นเราต้องดูหนองพะวาในวันนี้เป็นบทเรียน สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราต้องร่วมมือกันติดตามและเฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับชุมชนของเราอีก”
 

 

 


อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นการร่วมกันเฝ้าระวังอาจเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันปัญหาดังกล่าว ก่อนเกิดความรุนแรงและความเสียหายให้พื้นที่ได้