ย้อนดูบทบาทอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ก่อนการจับกุมโรงรีไซเคิลคลองกิ่ว ทำอะไรไปแล้วบ้าง… (14 มี.ค. 67)

 

 

 

กรณีอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี นางสาวอังศุมาลิน ฉัตรสุวรรณวารี นำกำลังเจ้าหน้าที่รัฐหลายภาคส่วน เข้าตรวจยึดเครื่องจักรและจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ. โรงงาน และ พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ณ โรงงานรีไซเคิลเถื่อนทุนจีน ที่ตั้งในพื้นที่หมู่ 4 ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี เมื่อ 6 มีนาคมที่ผ่านมา แม้เป็นปฏิบัติการที่ดูขึงขัง หาญกล้า ถูกต้อง และเฉียบขาด แต่ในรายละเอียดจริงๆ แล้ว ปฏิบัติการในวันนั้นเกิดขึ้นเพียงในอาคาร ‘บางส่วน’ อันได้แก่ อาคาร A6, A7, B1, B2 และ D1 เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนน้อยของอาณาจักรโรงงานขนาดพื้นที่ 88 ไร่ และหากมองในเชิงของการแก้ไขปัญหา หรือเพียงระดับของการหยุดยั้งปัญหา ก็กล่าวได้ว่า ปฏิบัติการดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนเล็กๆ ที่ยังไม่อาจนับเป็นก้าวที่หนึ่งด้วยซ้ำ 
 


แม้ว่าจะมีการจับกุมพร้อมทั้งกำหนดว่าจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เช่น การเพิกถอนใบอนุญาต การสั่งให้จัดการกากวัตถุอันตรายต่างๆ โดยเฉพาะประเภทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แต่ข้อเท็จจริงทางกฎหมายที่ยังไม่มีใครหรือหน่วยงานใดชี้ชัดออกมาก็คือ บนเนื้อที่ 88 ไร่แห่งนี้ที่มีโรงงานรีไซเคิลเกือบ 30 อาคาร มีเพียงโซน B เท่านั้นที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับการบด ย่อย หลอมพลาสติก จำนวน 5 ใบอนุญาต และมีอีก 1 ใบอนุญาตที่แจ้งขอประกอบกิจการคัดแยกของเสียที่ไม่เป็นอันตราย
 


ในรายงานชิ้นนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศขอนำเสนอผลการทบทวนถึงบทบาทที่ผ่านมาของอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลโดยตรง ว่าได้เคยลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานในพื้นที่นี้ และมีคำสั่งอะไรไปบ้างแล้ว
 


ย้อนกลับไปวันที่ 26 ธันวาคม 2566 อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีได้ลงพื้นที่ร่วมกับประธานคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะ, ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล, ผู้แทนจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม, ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13, ผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ผู้แทนสาธารณสุขจังหวัด, ปลัดอำเภอพานทอง, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพานทอง ผู้แทนจากสถานีตำรวจภูธรพานทอง และชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง 
 


ในวันนั้น ช่วงหนึ่ง อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี นางสาวอังศุมาลิน ฉัตรสุวรรณวารี ได้อธิบายสถานะของกลุ่มอาคารในพื้นที่ 88 ไร่ว่า “ใบอนุญาตปัจจุบันที่ activate แต่ยังไม่ได้แจ้งประกอบใดๆ ทั้งสิ้นมี 6 ใบ แต่ทำจริงๆ น่ะเถื่อนทั้งนั้น จริงๆ ทำงานไม่ได้ เนื่องจากตอนที่เราลงมาตรวจปุ๊บทำผิดเงื่อนไขหมดเลย”
 


ความหมายของเรื่องนี้คือ แม้มีโรงงานบางส่วนได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการประเภทรีไซเคิล แต่ยังไม่ได้ “แจ้งขอประกอบกิจการ” ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทำให้เกิดการตรวจสอบในเรื่องต่างๆ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินกิจการได้ รวมไปถึงการตรวจสอบเครื่องจักร กระบวนการผลิต ฯลฯ ดังนั้น ตราบเท่าที่ยังไม่ได้แจ้งขอประกอบกิจการ สถานะจึงเท่ากับยังลงมือประกอบกิจการไม่ได้ การกระทำทั้งหมด รวมทั้งเครื่องจักรและบรรดาวัตถุ เศษ กาก หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่พบเจอจำนวนมากนั้น จึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่อย่างผิดกฎหมาย หรือกล่าวได้ว่า นี่คือโรงงานรีไซเคิลเถื่อนทุกตารางเมตร
 


“ตอนที่เขามาแจ้งประกอบ เรารับแจ้งไม่ได้ เนื่องจากพอมาตรวจปุ๊บ ทำผิดเงื่อนไขหมดเลย เช่น ทำพลาสติก ไม่ให้ล้างก็แอบล้าง เราก็ไม่รับแจ้งประกอบ ก็สั่งการให้ปรับปรุงก่อน แล้วเราค่อยรับแจ้ง แต่ ณ วันนี้ก็ยังไม่ทำ เรามาตรวจทุกครั้งก็ดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับ” อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีกล่าว
 


นอกจากนี้ เธอยังอธิบายรูปแบบการทำธุรกิจของโรงงานจีนว่าเป็นการเช่าช่วงต่อกัน โดยจะมีรายเล็กๆ เข้ามาเช่าต่อจากผู้เช่าพื้นที่ และบอกว่า ที่ผ่านมามีการแจ้งความดำเนินคดี และบางเจ้าก็หนีไปที่อื่น
 


“คือภาพรวมหมายความว่า บางอาคารเขาก็มีใบอนุญาต แต่ไม่มีใบแจ้งประกอบ บางอาคารก็ไม่มี แต่ว่าผู้ที่เช่าพื้นที่นี้ก็ไปให้เคสเล็กๆ ที่เป็นผู้เช่าจีน เช่าต่ออีกทีหนึ่ง ที่นี้พอผู้เช่า (รายใหม่) มา ผู้เช่าคนแรกบอกว่ามีใบอนุญาตแล้ว ผู้เช่าช่วงก็คิดว่าเขามีใบอนุญาตครอบคลุมไปทั้งหมด 100 กว่าไร่ ซึ่งไม่ใช่ อาคารใครอาคารมัน เราดำเนินคดีไป 20 กว่าคดี บางเจ้าก็หนีไปที่อื่น ไปเช่าที่อื่น ทิ้งไปเลย”
 


พิจารณาตามคำพูดอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี จะพบว่า การประกอบกิจการโรงงานเถื่อนบนพื้นที่แห่งนี้ที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนผู้เช่ามาหลายระลอกแล้ว และอุตสาหกรรมจังหวัดตระหนักดีถึงสภาพการณ์และรูปแบบการทำธุรกิจที่ใช้วิธีการขอใบอนุญาต แต่ไม่แจ้งขอประกอบการ แล้วแอบดำเนินกิจการไปพลางก่อน หากทว่าอุตสาหกรรมจังหวัดก็เพียงทำหน้าที่ปรับจับ โดยปล่อยให้การแอบดำเนินการเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมา
 


ในโอกาสที่ได้มีการดำเนินคดีเพิ่มเติม จับกุม และผูกมัดประทับตราเครื่องจักรในบางอาคาร เมื่อวันที่ 6 มีนาคม จึงอยากฝากความหวังว่า ในครั้งนี้จะไม่จบเพียงการจับกุม “ผู้เช่า” แล้วก็ปล่อยให้มี “ผู้เช่ารายใหม่” เปลี่ยนหน้าหมุนเวียนเข้ามาอีก
 


อย่างไรก็ตาม เพื่อจะหยุดยั้งปัญหากรณีนี้ รวมถึงกรณีคล้ายคลึงอื่นๆ ยังจำเป็นที่จะต้องมีปฏิบัติการที่ถูกต้อง หาญกล้า จริงจัง และต่อเนื่อง อีกมากมายมหาศาล และที่จริงแล้ว ปัญหาเหล่านี้ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ควรเข้ามารับผิดชอบร่วมกับอุตสาหกรรมจังหวัด ไม่ควรทำเป็นทองไม่รู้ร้อนอีกต่อไป!!!
 


ทั้งนี้ เมื่อย้อนดูไทม์ไลน์ในเพจอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ว่าเคยดำเนินการอะไรไปบ้างกรณีโรงงานรีไซเคิลเถื่อนคลองกิ่ว พบว่า
 


18-19 กรกฎาคม 2566 ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ บริษัท อิฟง จำกัด ตั้งอยู่ เลขที่ 394/2 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ประกอบกิจการ คัดแยกบดย่อยโลหะ ขณะตรวจสอบพบว่าโรงงานมีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
 


27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 ตรวจสอบพบว่า มีการประกอบกิจการโรงงาน คัดแยก บดย่อยโลหะ และหลอมโลหะ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 พนักงานเจ้าหน้าที่แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี จะดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายต่อไป
 


7 มกราคม 2567 ตรวจติดตามข้อสั่งการของพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมในพื้นที่ ม. 4 ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี ขณะตรวจสอบพบว่า มีการนำเข้าวัตถุดิบในโฉนดที่ดินเลขที่ 64842 อาคาร C4 และโฉนดที่ดินเลขที่ 18245 อาคาร D1 เพื่อเป็นวัตถุดิบในประกอบกิจการ คัดแยก บดย่อย และร่อนโลหะ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2562)
 


17 มกราคม 2567 ลงพื้นที่ตรวจสอบตรวจติดตามการดำเนินการตามคำสั่ง มาตรา 37 วรรคหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 พบรายละเอียดดังนี้
1. อาคาร B1&B2 ทางบริษัทได้ดำเนินการปฏิบัติตามคำสั่งครบถ้วนแล้ว โดยมีขั้นตอนการมาแจ้งเลิกการประกอบการบางส่วน ทั้งนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะได้ประสานศูนย์วิจัยฯ เข้าตรวจวัดคุณภาพอากาศ จากกระบวนการผลิต ก่อนดำเนินการในขั้นตอนต่อไป
 


2. อาคาร B5 ทางบริษัทได้ดำเนินการปฏิบัติตามคำสั่งครบถ้วนแล้ว หากแต่พบมีการล้างพลาสติก เศษเหล็กปนเปื้อน เป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนั้น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะได้พิจารณาสั่งการ ในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ให้หยุดประกอบการและปรับปรุงแก้ไขโรงงานตามเงื่อนไขในใบอนุญาตต่อไป
 


3. อาคาร A5 พบผู้ประกอบการตั้งโรงงาน สกัดโลหะมีค่า โดยอยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งเครื่องจักร รวมทั้งหมด 785 แรงม้า เป็นการกระทำผิดตามมาตรา 12 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะได้ดำเนินการในกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ สำหรับการลงตรวจในอาคารอื่นๆ พบว่า ผู้ประกอบการไม่ได้มีการประกอบกิจการแล้ว สำนักงานฯ จึงได้เน้นย้ำให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน และดำเนินการในส่วนอื่นให้เป็นไปตามข้อกฎหมายต่อไป
 


1 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. ได้เข้าตรวจสอบการประกอบกิจการโรงงานบริษัทแห่งหนึ่งในพื้นที่ตำบลคลองกิ่ว อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ซึ่งผู้ประกอบกิจการโรงงานมีการฝ่าฝืนคำสั่งมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมโดยรอบ อาคารโรงงาน พบมีการครอบครองวัตถุอันตราย อันได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ โดยเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจะได้ดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
อย่างไรก็ดี ลำดับเหตุการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการตาม พ.ร.บ. โรงงานและ พ.ร.บ. วัตถุอันตรายของไทยกับโรงงานที่กระทำผิด คงเป็นไปอย่างล่าช้า และไร้ผลที่จะทำให้เกิดความเกรงกลัวต่อกฎหมายไทย นี่คือสิ่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมควรจะต้องทบทวนตนเองครั้งใหญ่