จับตาพื้นที่เขาย้อย แหล่งรองรับขยะอุตสาหกรรมอันตรายใหม่โดยทุนจีน?! (12 มี.ค. 67)

 

 

 

กรณีการขอขยายกิจการของบริษัท ซีเอ็มพี กรีน เทคโนโลยี จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 120 หมู่ที่ 6 ต. หนองชุมพลเหนือ อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม พบว่า กิจการที่จะเพิ่มคือการนำเศษ ฝุ่น กากตะกอน และตระกรันโลหะ มาหลอมหล่อเป็นแท่ง โดยโลหะที่ว่านั้นคือทองแดงและอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ก่อมลพิษสูงและจีนกำลังใช้ประเทศไทยเป็นฐานตั้งโรงงาน
 


แม้ว่าประชาชนในพื้นที่จะไม่ทราบ แต่กิจการหรือกิจกรรมการหลอมเป็นสิ่งที่ทางโรงงานทำอยู่แล้ว จากการขอขยายกิจการครั้งที่ 1 ซึ่งทำให้โรงงานมีเตาหลอมขนาดกำลังการผลิต 20 ตัน/วัน/เตา 2 เตา สำหรับในส่วนที่กำลังขอขยายจะเพิ่มเตาขนาด 36 ตัน/วัน 1 เตา กับเตาหลอมขนาดเล็กอีก 4 เตา รวมกำลังการหลอมเฉพาะส่วนเพิ่มคือ 44.28 ตัน/วัน
 


จากตัวเลขกำลังการผลิตนี้ทำให้มีเรื่องน่าคิดในมิติของการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ซึ่งตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดไว้สำหรับอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่โลหะหรือหลอมโลหะซึ่งมิใช่เหล็กหรือเหล็กกล้า ว่า โครงการที่ต้องจัดทำ EIA คือที่มีกำลังการผลิตรวมกันตั้งแต่ 50 ตันต่อวันขึ้นไป อย่างไรก็ตาม โรงงานบริษัทซีเอ็มพี กรีนฯ สามารถก้าวสู่การมีกำลังการผลิตในการหลอมโลหะมากกว่า 80 ตันต่อวัน โดยไม่จำเป็นต้องจัดทำ EIA เลย ด้วยการแยกเป็นการขอขยายกิจการ 2 รอบ
 


สำหรับชื่อผู้ยื่นขออนุญาตขยายกิจการครั้งนี้คือ นายยี่หัน หวัง ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับกรรมการและกรรมการผู้มีอำนาจลงนามเพียงคนเดียวของบริษัท ซีเอ็มพี กรีนฯ ในปัจจุบัน
 


อย่างไรก็ตาม จากที่ทางตัวแทนของโรงงานร่วมประชุมกับกลุ่มชาวบ้านเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ได้เผลอเปิดเผยว่า ทางเจ้าของบริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งประกอบกิจการโรงหลอมอยู่ที่ จ. สมุทรสาคร ได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัท ซีเอ็มพี กรีนฯ แล้ว แต่เขาไม่ยอมตอบเรื่องที่ว่าใครคือผู้บริหารของบริษัท และไม่สามารถตอบคำถามเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบกิจการที่บริษัทมี 
 


จากการสืบค้นของมูลนิธิบูรณะนิเวศเกี่ยวกับทะเบียนบริษัทซีเอ็มพี กรีนฯ แล้ว พบว่า บริษัทจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 17 สิงหาคม 2560 ด้วยทุน 1 ล้านบาท ในชื่อบริษัท มงคลไทยและธุรกิจ จำกัด จากนั้นไม่ถึง 1 เดือนได้เพิ่มทุนเป็น 10 ล้านบาท ในขณะจดทะเบียนได้แจ้งวัตถุประสงค์ไว้ว่า ประกอบกิจการผลิตกระเบื้องเคลือบ ผลิตอิฐทนไฟ อยู่ในหมวดธุรกิจการผลิตผลิตภัณฑ์วัสดุทนไฟ แต่ต่อมาได้เปลี่ยนหมวดธุรกิจและวัตถุประสงค์เป็น “การขายส่งของเสียและเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่” โดยที่ในช่วงปี 2560 ขณะที่ยังใช้ชื่อเดิมอยู่นั้น บริษัทได้ขออนุญาตประกอบกิจการคัดแยกสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะขอเพิ่มกิจการในส่วนของของเสียอันตรายด้วย
 


อย่างไรก็ตาม หากย้อนไปดูเอกสารผลการรับฟังความคิดเห็นประชาชนตามที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีประกาศเมื่อปลายปี 2560 พบว่า มีประชาชนแสดงความคิดเห็นคัดค้านการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ “โรงงานถอดแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และบดย่อยชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หลอมหล่อทองแดง เก็บรวบรวมแบตเตอรี่” ของบริษัทมงคลไทยฯ รวมทั้งประชาชนยังได้มีการร้องเรียนและรณรงค์คัดค้านต่อเนื่องด้วย ในเวลาต่อมาบริษัทจึงได้ขอถอนหรือยกเลิกคำขอเพิ่มกิจการในส่วนของของเสียอันตรายไป
 


จนกระทั่ง 29 ตุลาคม 2561 บริษัทก็ได้เปลี่ยนชื่อ และในปี 2563 เมื่อวันที่ 2 มกราคม ได้มีการเพิ่มทุนเป็น 131.5 ล้านบาท แล้วในปีเดียวกันนั้น บริษัทก็ได้รับใบอนุญาตเป็นโรงงานประเภท 106 ซึ่งหมายถึง “โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่ใช้แล้วหรือของเสียจากโรงงานรวมถึงวัตถุอันตราย มาผลิตเป็นวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยผ่านกรรมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรม”
 


ส่วนบริษัท หัวจงฯ จากการตรวจสอบข้อมูลที่เปิดเผยไว้ พบว่า เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจขายส่งของเสียและเศษวัสดุเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ตั้งอยู่ที่ ต. คลองมะเดื่อ อ. กระทุ่มแบน จ. สมุทรสาคร การดำเนินการมีทั้งการนำเข้าและส่งออกเศษเหล็กและเศษวัสดุอื่นๆ ในกรณีนี้จึงมีประเด็นน่าสนใจว่า ตามที่ในการขอขยายกิจการของบริษัทซีเอ็มพี กรีนฯ ระบุที่มาวัตถุดิบว่าเป็นของเสียจากภายในประเทศ แต่ในทางปฏิบัติจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ หน่วยราชการที่ต้องกำกับดูแลมีศักยภาพที่จะกำกับควบคุมให้เป็นไปตามการขออนุญาตได้จริงหรือไม่
 


ยังมีอีกประเด็นหนึ่งซึ่งชาวบ้านถาม แต่ตัวแทนบริษัทไม่สามารถตอบได้ นั่นก็คือ เรื่องความหมายของป้ายบริเวณหน้าโรงงานด้านหนึ่งที่ติดไว้ว่า “CMP Free zone” ว่าหมายถึงเขตปลอดอากรหรือไม่ 
 


ประเด็นนี้มีความสำคัญมาก เนื่องจากหากพื้นที่ใดถูกกำหนดเป็นเขตปลอดอากร กิจการในพื้นที่นั้นก็จะอยู่นอกเหนือกฎหมายศุลกากรของไทย และได้รับสิทธิพิเศษในเรื่องอากรนำเข้า ยิ่งกว่านั้น เนื่องจากเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 กรมศุลกากรได้ออกประกาศที่เปิดให้โรงงานในเขตปลอดอากรสามารถนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศมาใช้ในการประกอบกิจการได้ด้วย ดังนั้นถึงแม้ว่าในภาพใหญ่ทางนโยบายของประเทศจะไม่ยอมให้ “ไทยเป็นถังขยะโลก” โดยกำหนดให้ยกเลิกการนำเข้าเศษพลาสติกทั้งหมดตั้งแต่ 1 มกราคม 2569 แต่สำหรับโรงงานภายใต้เขตปลอดอากรจะอยู่ในข่ายยกเว้น หมายความว่าจะยังสามารถนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศมาประกอบกิจการรีไซเคิลได้ต่อไป
 


อนึ่ง สำหรับอำนาจหน้าที่ในการกำหนดว่าพื้นที่ใดเป็นเขตปลอดอาการนั้นเป็นของอธิบดีกรมศุลกากร
 


ประเด็นที่ว่า บริษัทซีเอ็มพี กรีนฯ ได้รับใบอนุญาตเป็นเขตปลอดอากรด้วยหรือไม่ จึงมีนัยสำคัญอย่างยิ่ง และข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ควรจะต้องได้รับการเปิดเผยออกมา ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ รวมถึงการให้ข้อมูลประเด็นอื่นๆ ด้วย
 

 

“CMP FREE ZONE” ใช่เขตปลอดอากรหรือไม่?

 


การที่กำนันในพื้นที่เป็นฝ่ายติดต่ออุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีว่าประชาชนต้องการทราบข้อมูล แต่กลับมีการเข้าชี้แจงจากทางโรงงานฝ่ายเดียว อาจสะท้อนว่าหน่วยงานราชการยังไม่ได้แสดงความโปร่งใสและจริงใจกับประชาชนเพียงพอ
 


อย่างไรก็ตาม ทางมูลนิธิฯ เชื่อว่า อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานตามอำนาจหน้าที่ดีกว่านี้ได้!
 


ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ อาจต้องหันมาสนใจเรื่องใหญ่เกี่ยวกับกิจการรีไซเคิลและผลกระทบได้แล้ว ก่อนแผ่นดินไทยจะปนเปื้อนมลพิษไปทุกหย่อมหญ้า!

 

ภาพโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ