เปิดแผนขยายโรงรีไซเคิลทุนจีนเขาย้อย ส่อเป็นแหล่งมลพิษใหญ่อันตรายร้ายแรง (11 มี.ค. 67)

 

 

 

เปิดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแผนขยายกิจการของโรงรีไซเคิลโดยทุนจีนที่ อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี ตั้งเป้าเพิ่มการหลอมโลหะเป็นกว่า 80 ตันต่อวัน เต็มพื้นที่ 100 ไร่ ส่อเป็นแหล่งก่อมลพิษใหญ่ที่มีอันตรายร้ายแรง
 


กรณีที่นายอำเภอเขาย้อยมีหนังสือลงวันที่ 31 มกราคม 2567 ถึงกำนันตำบลหนองชุมพลเหนือ ขอให้ปิดประกาศการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับการขอขยายโรงงานของบริษัท ซีเอ็มพี กรีน เทคโนโลยี จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 120 หมู่ที่ 6 ต. หนองชุมพลเหนือ อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี จนเป็นเหตุให้ประชาชนในพื้นที่ตื่นตัวออกมาแสดงท่าทีคัดค้าน เนื่องจากไม่ต้องการรับผลกระทบจากมลพิษที่จะติดตามมา ซึ่งทางเพจมูลนิธิบูรณะนิเวศได้เสนอเรื่องดังกล่าวไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา
 


ทางมูลนิธิฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว พบว่า การขอรับใบอนุญาตขยายโรงงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยกิจการที่จะเพิ่มคือการนำเศษโลหะ ฝุ่นโลหะ กากตะกอนโลหะ และตระกรันโลหะ มาหลอมหล่อเป็นแท่ง ด้วยเงินลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท ในส่วนเครื่องจักรจะมีการขยายกำลังรวมขึ้นอีกประมาณ 2,700 แรงม้า ซึ่งเมื่อรวมกับส่วนที่มีอยู่เดิม จะเป็น 7,829.30 แรงม้า และจะขยายจำนวนคนงานขึ้นอีก 50 คน
 


จากข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุดิบที่แสดงไว้ พบว่า ปริมาณต่อปีประกอบด้วยฝุ่นทองแดง 3,675 ตัน ตะกรันทองแดง 3,062 ตัน ตะกอนทองแดง 3,062 ตัน กากตะกอนที่ผ่านการชุบ 2,450 ตัน เศษทองแดง 105 ตัน และเศษอะลูมิเนียม 1,800 ตัน ส่วนผลิตภัณฑ์ที่โรงงานแห่งนี้จะผลิตออกมาจำหน่ายได้แก่ ทองแดงแท่ง อะลูมิเนียมแท่ง และผงอะลูมิเนียม โดยปริมาณต่อปีของทองแดงแท่งคือปีละ 3,675 ตัน ส่วนอีกสองผลิตภัณฑ์ มีปริมาณชนิดละ 750 ตันต่อปี
 


ตามนัยนี้หมายความว่ากำลังการหลอมต่อปีรวมที่เพิ่มขึ้นจะมากกว่า 14,000 ตัน หรือหากคิดเป็นปริมาณต่อวัน (หารด้วยวันทำงาน 350 วัน) จะเท่ากับวันละประมาณ 40 ตัน
 


ตัวเลขที่หาได้จากการบวกรวมยอดปริมาณวัตถุดิบนี้ สอดคล้องกับผลลัพธ์จากการบวกรวมกำลังการผลิตตามที่แสดงไว้ในรายการเครื่องจักร ซึ่งทำให้เห็นได้ว่า หากขยายการประกอบกิจการในครั้งนี้แล้ว ศักยภาพการหลอมของโรงงานแห่งนี้ก็จะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณหนึ่งเท่าตัว นั่นคือจากเดิมที่มี 2 เตา กำลังผลิต 20 ตันต่อวันต่อเตา เตาใหม่ที่เพิ่มมาจะเป็นขนาด 36 ตันต่อวัน จำนวน 1 เตา นอกจากนั้นยังมีเตาหลอมไฟฟ้าขนาดเล็ก กำลังผลิต 1 ตันต่อวัน อีก 3 เตา และขนาด 5.28 ตันต่อวัน อีก 1 เตา รวมแล้วจึงจะเป็นมากกว่า 80 ตันต่อวัน 
 


ส่วนพื้นที่ประกอบกิจการก็จะขยายจากประมาณ 60 ไร่ เป็นกว่า 99 ไร่ อาณาจักรกิจการหลอมโลหะใช้แล้วแห่งนี้จึงนับว่าใหญ่โตมโหฬาร!! และย่อมเป็นแหล่งก่อมลพิษขนาดมหึมาเช่นเดียวกัน!!!
 


ตามเอกสารขอขยายกิจการได้ระบุในเรื่องผลกระทบไว้ว่า จะมีปัญหามลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละออง กลิ่นควัน ปัญหาน้ำเสีย ปัญหาเสียงดังจากการบดย่อย รวมทั้งมีสิ่งปฏิกูลหรือของเสีย เช่น เศษตะกรัน ฝุ่นจากการหลอม บรรจุภัณฑ์ปนเปื้อน


 

ตำแหน่งที่ตั้งโรงงานบริษัทซีเอ็มพี กรีนฯ อยู่ท่ามกลางพื้นที่สีเขียว ทิวทัศน์สวยงาม ตามภาพนี้เป็นสภาพโรงงานซึ่งถ่ายเมื่อ 26 พฤษภาคม 2562 อันเป็นช่วงขวบปีแรกของการหันมาประกอบกิจการด้านการรีไซเคิล โดยยังจำกัดเฉพาะของเสียไม่อันตราย แต่ต่อมาได้ขยายมาสู่กิจการหลอมเศษวัสดุอุตสาหกรรมอันตรายแล้ว โดยที่ประชาชนไม่พื้นที่ไม่รับทราบ และขณะนี้กำลังขอขยายการประกอบกิจการด้านนี้อีกเป็นครั้งที่ 2


ในขณะที่ข้อมูลทางวิชาการทั่วไป ระบุไว้ว่า มลพิษจากโรงงานหลอมโลหะที่สำคัญที่สุดคือมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก เช่น PM2.5 และ PM10 ปัญหารองลงมาคือ กากของแข็งที่จะเกิดจำนวนมาก และจัดเป็นของเสียอุตสาหกรรมที่เป็นอันตราย ประการสำคัญคือ มลพิษอากาศจะเกิดขึ้นทั้งภายในตัวโรงงานและสิ่งแวดล้อมภายนอก เพราะนอกจากฝุ่นละอองขนาดเล็กแล้ว กระบวนการเผาไหม้ยังทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ออกไซด์ของไนโตรเจน ไฮโดรคาร์บอน และโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม โครเมียม สารหนู และนิกเกิล และสารพิษกลุ่มไดออกซิน ซึ่งจัดเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นต้น
 


ส่วนการสัมผัสสารปนเปื้อนเหล่านี้เป็นระยะเวลานานจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหลายอย่าง เช่น โลหะหนักทำให้เกิดอาการเป็นพิษได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง โดยเฉพาะคนงานภายในโรงงาน จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคฝุ่นจับปอด (Black lung) ไข้จากโลหะ โรคปอดฝุ่นหินทราย (silicosis) โรคปอดจากการประกอบอาชีพ (pneumoconiosis) สำหรับชุมชนใกล้เคียงนอกจากจะเดือดร้อนจากปัญหามลพิษฝุ่นแล้ว อาจจะเดือดร้อนจากปัญหาการสั่นสะเทือนและการชำรุดเสียหายของถนนและอาคารจากแรงสั่นสะเทือนจากโรงงานและการขนส่ง
 


ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เข้าใจได้ว่า เหตุใดประชาชนในพื้นที่จึงต้องการคัดค้านการขยายกิจการครั้งนี้ เราอาจเรียกแรงผลักดันในใจของประชาชนว่านั่นคือความหวาดหวั่น แต่ความหวาดหวั่นดังกล่าวมีเหตุมีผลสอดคล้องกับข้อมูลข้อเท็จจริง อีกทั้งยังเป็นสิทธิอันชอบธรรม และเป็นธรรมชาติปกติของมนุษย์ที่จะรักตนเอง รักพวกพ้อง และรักบ้านเกิดเมืองนอน
(มูลนิธิบูรณะนิเวศจะนำเสนอข้อเท็จจริงและประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกรณีนี้เพิ่มเติมในตอนต่อไป)

 


ภาพถ่ายโดย กานต์ ทัศนภักดิ์ มูลนิธิบูรณะนิเวศ