รีไซเคิลทุนจีนรุกเพชรบุรี ชาวบ้านตั้งท่าค้าน ไม่เชื่อควบคุมมลพิษได้ (8 มี.ค. 67)
ชาวบ้านเขาย้อย จ. เพชรบุรี ตื่นตัวเตรียมต้านโรงงานรีไซเคิลของนักลงทุนชาวจีนที่กำลังขยายตัวต่อเนื่องในพื้นที่ หวั่นมลพิษเกลื่อนกระจายทำลายสุขภาพและผืนดินเกษตรกรรม เกรงซ้ำรอยหลายจังหวัดในภาคตะวันออก ตัวแทนโรงงานระบุกิจการเป็นการคัดแยกและชำแหละชิ้นส่วนของเสียไม่อันตราย แต่มีการหลอมหล่อเศษและกากตะกอนโลหะด้วย
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้เข้าร่วมสังเกตการณ์การประชุมชี้แจงการขยายโรงงานครั้งที่ 2 ของบริษัท ซีเอ็มพี กรีน เทคโนโลยี จำกัด เมื่อช่วงค่ำวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา ณ ศาลาหมู่บ้านพุหวายอู่ตะเภา ม. 6 ต. หนองชุมพลเหนือ อ. เขาย้อย จ. เพชรบุรี
ในการประชุมมีกำนันและชาวบ้าน ม. 6 ต. หนองชุมพลเหนือ เข้าร่วมประมาณ 30-40 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านในพื้นที่ผู้มีความตื่นตัวและให้สนใจว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นในท้องถิ่นของตนเอง ส่วนทางโรงงานได้ส่งทีมงาน นำโดยวิศวกรอาวุโสที่ทราบเพียงชื่อว่า “สุ-วัด” (ไม่ชัดเจนเรื่องการสะกด) มาชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตขยายโรงงานในครั้งนี้ ซึ่งเป็นการขอขยายครั้งที่ 2 แล้ว
ตัวแทนของโรงงานชี้แจงสั้นๆ ว่า การประกอบกิจการที่จะดำเนินการได้แก่ 1) การบดย่อยสายไฟ สายเคเบิลที่ไม่ใช้งานแล้ว ซึ่งไม่เป็นของเสียอันตราย 2) การคัดแยกวัสดุไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตราย และ 3) การนำเศษโลหะ รวมถึงฝุ่น กากตะกอน และตะกรันโลหะมาหลอมหล่อเป็นแท่ง โดยในส่วนของผลกระทบ จากกิจการที่ 1) เป็นเรื่องฝุ่น ผลกระทบจากกิจการที่ 2) เป็นเรื่องการขนส่ง และผลกระทบจากกิจการที่ 3) เป็นด้านกลิ่นและฝุ่น อีกทั้งระบุด้วยว่า ในการขอขยายกิจการครั้งนี้จะเพิ่มเตาหลอม 5 เตา
ทั้งนี้ ตลอดการชี้แจง มีตัวแทนชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 6-8 คน ยกมือสอบถามข้อมูลและประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมเป็นระยะ แต่ทางตัวแทนโรงงานไม่สามารถให้รายละเอียดได้ชัดเจน บอกแต่เพียงว่าตนย้ายมาจาก จ. สมุทรสาคร และเพิ่งมาประจำเป็นวิศวกรที่โรงงานแห่งนี้ หลังจากที่ทางเจ้าของบริษัท หัวจง อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งประกอบกิจการโรงหลอมอยู่ที่ จ. สมุทรสาคร ได้เข้ามาถือหุ้นในบริษัท ซีเอ็มพี กรีนฯ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นี้ ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2566
สำหรับประเด็นหลักๆ ที่ชาวบ้านต้องการข้อมูลชี้แจงเพิ่มเติม แต่ตัวแทนบริษัทฯ ไม่สามารถตอบชาวบ้านได้คือ
- โรงงานดังกล่าวมีใบอนุญาตประกอบกิจการมาแล้วกี่ใบ ประเภทใดบ้าง
- ป้ายบริเวณหน้าโรงงานที่ติดว่า CMP Free zone หมายถึงเขตปลอดอากรหรือไม่
- ผู้บริหารของบริษัทคือใคร
หลังจากใช้เวลาไปประมาณ 2 ชั่วโมงกับการชี้แจงและซักถาม ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้คำตอบ โดยมีตัวแทนชาวบ้านบางส่วนแสดงออกถึงการคัดค้านการขยายโรงงานอย่างชัดเจน ทั้งการลงชื่อและการตะโกนขับไล่ ในที่สุด กำนันในฐานะประธานที่ประชุมจึงสรุปว่า การชี้แจงมีความไม่ชัดเจน และคนที่เข้าร่วมประชุมไม่มีความต้องการที่จะให้เกิดโรงหลอม จากนั้นสั่งปิดการประชุม
อนึ่ง การประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคมนี้เป็นวาระการประชุมประจำเดือนตามปกติของหมู่บ้าน แต่เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 31 มกราคม ทางกำนันได้รับหนังสือจากอำเภอเขาย้อยให้ปิดประกาศการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการพิจารณาเกี่ยวกับการขยายโรงงาน จึงเป็นที่มาให้ชาวบ้านเกิดความต้องการที่จะรับทราบข้อมูล จนเป็นที่มาของการประสานงานไปยังอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี และทางโรงงานส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุมกับชาวบ้านครั้งนี้
ปรีชา ชาวบ้าน ม. 6 ที่เข้าร่วมประชุมด้วยเล่าว่า ตนอยู่ห่างจากโรงงานดังกล่าว 0.5 กม. หากมีการขยายโรงงานจริง กลัวจะได้รับผลกระทบด้านมลพิษ โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น
“ผมไม่มั่นใจ ผมไม่เชื่อ ถึงแม้ทางโรงงานจะบอกว่าสามารถป้องกันได้ยังไง แต่ผลกระทบที่มาจากอากาศไม่มีอะไรสามารถป้องกันหรอก”
กรรมการหมู่บ้านหญิงคนหนึ่งซึ่งมีบ้านห่างจากโรงงานประมาณ 1 กม. ได้เปิดเผยความรู้สึกกับเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ ว่า หากโรงงานแห่งนี้ได้รับใบอนุญาตขยายกิจการอีก ตนรู้สึกกลัวเพราะได้เคยรับทราบและเห็นมาแล้วว่าพื้นที่อื่นมักจะมีผู้ได้รับผลกระทบด้านมลพิษจากโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่เสมอ ตนเองจึงต้องออกมาแสดงจุดยืนเพื่อให้บ้านเกิดยังมีสภาพแวดล้อมที่ตนและครอบครัวสามารถใช้ชีวิตอยู่ต่อไปได้
“ที่เราลุกขึ้นมาค้านเพราะเรามีบ้านอยู่แค่นี้ เราไม่สามารถที่จะย้ายหนีโรงงานได้ ก็เลยต้องลุกขึ้นมาสู้”
เป็นเรื่องที่น่าจับตามองกันต่อไปว่า การขอขยายกิจการของทางบริษัท ซีเอ็มพี กรีนฯ จะประสบผลหรือไม่ และอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีจะรับฟังเสียงคนพื้นที่แบบจริงจังและอย่างคำนึงถึงเนื้อแท้เพียงใด อย่างไร หรือจะยึดถือตามกระบวนการทางเอกสารเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากหนังสือที่หน่วยราชการส่งถึงกัน เท่ากับว่า การรับฟังความคิดเห็นที่อุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรีประกาศออกมาเมื่อปลายเดือนมกราคม 2567 นั้น ได้สิ้นสุดระยะเวลาลงแล้วเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ในขณะที่การประชุมเมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา คือเหตุการณ์ที่ชาวบ้านดิ้นรนหาทางเอาเองที่จะได้รับทราบ “เนื้อหา” ของสิ่งที่กำลังจะเข้ามาและอาจจะส่งผลกระทบอย่างขนานใหญ่ต่อชีวิตและแผ่นดินอยู่อาศัยของพวกเขา เนื่องจากกิจการหล่อหลอมเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษที่มีอันตรายร้ายแรงอย่างยิ่ง ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบ แต่ชาวบ้านบางส่วนที่ “บ้าน” ตัวเองต้องกลายเป็น “พื้นที่เป้าหมาย” ของการพัฒนาอุตสาหกรรมประเภทนี้ มีการแสวงหาความรู้จนตระหนักดีว่าโรงหลอมเป็นแหล่งมลพิษที่น่ากลัว และจากประสบการณ์ก็รู้ดีว่าเมื่อพิษภัยเกิดขึ้นแล้ว หน่วยงานราชการไทยไม่เคยแก้ปัญหาได้
บรรดาส่วนราชการที่มีความรู้ดีและมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม จึงควรต้องให้น้ำหนักสำคัญกับเรื่องเช่นนี้ด้วย
สำหรับทางมูลนิธิบูรณะนิเวศเอง จะติดตามกรณีนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่ใดได้รับการประกาศเป็นเขตปลอดอากรแล้ว จะอยู่นอกเหนือการควบคุมกำกับของกฎหมายหลายเรื่อง
ภาพโดย พิสิทธิ์ ศรีพุ่มไข่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ