มีอะไรในอาคาร A6 ของโรงงานรีไซเคิลเถื่อนคลองกิ่ว ชลบุรี (5 มี.ค. 67)

 

 

 

ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 หลังจากที่มูลนิธิบูรณะนิเวศได้นำเสนอ “เปิดตัว” โรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์เถื่อน ของนายทุนชาวจีน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี ทางเพจนี้ไปแล้ว ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา มูลนิธิฯ จึงได้ลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อตรวจวัดและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม พร้อมกับนำพาสื่อมวลชนไปร่วมลงพื้นที่ด้วย
 


แม้จะห่างจากครั้งก่อนถึง 25 วัน แต่บ่อดินเปลือยของโรงงานที่ปล่อยน้ำไหลซึมลงสู่ใต้ผืนดินอย่างอิสระและไหลหลากกระจายออกสู่พื้นที่ภายนอก ก็ยังคงมีสภาพดังเดิม กลิ่นเหม็นฉุนของน้ำไม่ได้ลดลง ความสกปรกเกรอะกรังทุกอย่างก็เช่นเดียวกัน ราวกับพื้นที่นี้อยู่นอกกฏหมาย เป็นแดนสนธยาที่คนเช่าพื้นที่จะทำอะไรอย่างไรก็ได้ และข้าราชการไทยดูจะเกรงใจโรงงานมาก



มูลนิธิฯ ได้ประสานขอให้อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีนำพาคณะทั้งหมดเข้าไปในโรงงาน เพื่อขอดูต้นตอแหล่งกำเนิดของน้ำบ่อดังกล่าว เมื่อฝ่ายโรงงานแจ้งยินยอมมาทางตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว นั่นทำให้ทั้งคณะได้มีโอกาสเข้าไปสำรวจในอาคาร A6 


 

 


ในรายงานชิ้นนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ไล่เรียงเหตุการณ์การเข้าสำรวจภายในอาคาร A6 รวมถึงสิ่งที่ได้พบเห็นและรับรู้
 


13.14 น. ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีเข้ามาพูดคุยกับคณะสื่อมวลชนและเจ้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ โดยแจ้งว่า “นาย” ให้เข้ามาตรวจสอบ หลังจากมีการแจ้งว่าโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้มีชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษในครอบครอง จึงตั้งใจจะมาเก็บตัวอย่างในโรงงาน
 


13.20 น. มองจากบริเวณบ่อดินเปลือยข้างโรงงาน พบเห็นคนงานกลุ่มหนึ่งทำกิจกรรมบางอย่างบริเวณร่องน้ำหลังโกดัง A6 
 


14.14 น. ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัด เจ้าหน้าที่อำเภอบ้านบึง สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 13 (ชลบุรี) ผู้แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล องค์การบริหารส่วนตำบลคลองกิ่ว ได้นำคณะเข้าไปในโกดัง A6
 


เพียงย่างก้าวแรก ทุกคนก็ได้เห็นพร้อมกันว่า เบื้องหน้าเต็มไปด้วยกองชิ้นส่วนและเศษซากอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก เจ้าหน้าที่บูรณะนิเวศชี้ไปที่กองดังกล่าวและสอบถามตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดว่า แบบนี้ถือว่าผิดกฏหมายหรือไม่ 
 


ถนอม วงศ์พุทธรักษา วิศวกรชำนาญการพิเศษ ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดตอบว่า “การครอบครองวัตถุอันตราย ถ้าไม่เกิน 1 ตัน อย่างร้านรับซื้อโทรศัพท์ที่เขารับซื้อโทรศัพท์ มันก็เป็น E-Waste ถูกไหมครับ ก็เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพียงแต่ว่าข้อกฏหมายบอกว่าถ้ามันไม่เกิน 1 ตัน สามารถครอบครองได้ วัตถุประสงค์คือเขาเอามาถอดอะไรแบบนี้ อย่างตรงนี้เราก็ต้องดูปริมาณก่อนว่ามันเกิน 1 ตันไหม”
 


เมื่อเดินต่อไปไม่เกิน 3 ก้าว ทุกคนก็ได้เห็นกองเศษอิเล็กทรอนิกส์อีกจำนวนมหาศาล มีคนถามคำถามเดิม คราวนี้ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดตอบว่า “ผิดครับ”
 

 

 


13.49 น. คณะสำรวจทั้งหมดได้เห็นภายในโกดัง A6 เต็มสองตา โกดังแห่งนี้ถูกแบ่งเป็นสองฝั่ง ด้านหนึ่งเป็นจุดคัดแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีเครื่องบดและแยก ตามสายพานยังพบเศษชิ้นส่วนค้างอยู่ ส่วนของพื้นที่คัดแยกและบดมีน้ำเฉอะแฉะทุกจุด บางส่วนมีน้ำหยดให้เห็น มีท่อน้ำทิ้งชัดเจน รถเข็นเหล็กทุกคันบรรจุ “กาก” จอดพร้อมเคลื่อนย้าย ราวกับว่าไม่กี่นาทีก่อน ที่นี่ยังมีการทำงานกันอยู่
 


สิ่งที่น่าสนใจคือบริเวณเครื่องบดอัดแยกเศษกาก มีรางน้ำที่มีน้ำเอ่อล้นอยู่ อีกทั้งระหว่างเครื่องมีบ่อที่มองเข้าไปจะเห็นเป็นดิน เสมือนว่ามีพร้อมสำหรับการเทบางสิ่งบางอย่างลงไป 
 


“อันนี้สงสัย ว่าทำไมเขาไม่กลัวกฏหมาย ทำไมเขาไม่กลัวข้าราชการ” เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เอ่ยถามตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัด ท่ามกลางสภาพความสกปรกทุกกระเบียดนิ้วของโกดัง A6 ที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้าทุกคน แล้วถามต่อทันทีว่า เมื่อมาเห็นอย่างนี้แล้วจะไปแจ้งความต่อหรือไม่
 


ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี หัวเราะแห้งๆ พลางตอบ “อันนี้ผมก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมเขาไม่เกรงกลัวเราเนอะ เพราะจริงๆ คำสั่งเราก็ออกส่งไปที่ตำรวจ เดี๋ยววันนี้เก็บข้อมูล ‘น่าจะ’ เป็นวัตถุอันตราย เดี๋ยวเขียนบันทึกปริมาณให้มันชัด”

 


14.02 น. คณะสำรวจได้พบแรงงานหลายคนยืนอยู่หลังโกดัง A6 ก่อนจะพากันเดินหนีไป จุดที่พวกเขายืนคือบริเวณที่มีร่องน้ำเปียกแฉะที่มีทางยาวไปเชื่อมต่อกับบ่อดินของโรงงานที่มีน้ำไหลสู่ภายนอก
 


ถนอมยืนยันว่า ในพื้นที่อาคาร A6 ไม่มีการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ และบอกด้วยว่า ในส่วนอาคาร A6 นี้ได้เคยมีคำสั่งไปแล้ว ซึ่งผู้ประกอบกิจการโรงงานมีการฝ่าฝืนคำสั่งมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ตาม พ.ร.บ. โรงงาน พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 แต่ในครั้งนี้ จากการตรวจสอบยังพบมีการครอบครองวัตถุอันตราย อันได้แก่ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หรือเศษ จึงเป็นการกระทำผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ด้วย
 


ช่วงหนึ่งสื่อมวลชนได้สอบถามว่า ในส่วนอื่นๆ นอกจากอาคาร A6 มี E-Waste หรือไม่ ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดตอบกลับมาว่า “จริงๆ เราเจอแค่อาคาร A6 เป็นหลัก จริงๆ มาครั้งที่แล้วได้เคยประเมินไว้แล้ว แต่หลักฐานมันยังไม่ชัดเจน มาวันนี้หลักฐานชัดเจนยิ่งขึ้น”
 


เมื่อสื่อมวลชนสอบถามว่าแล้วส่วนอื่นเป็นอะไร ตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัดยืนยันว่า ส่วนใหญ่เป็นพลาสติก แล้วให้ข้อมูลต่ออีกว่า ที่ผ่านมาได้เคยสั่งไม่ให้โรงงานระบายน้ำออกแล้ว
 


“เพราะเคยตรวจน้ำไปก่อนหน้านี้แล้ว พบว่าค่าน้ำเกิน มีการบายพาสน้ำ แล้วเคยสั่งให้เขาปิดทางระบาย ไม่ให้ระบายออก คงต้องกำชับเขามากขึ้น เพราะว่าพอเห็นเขาระบายน้ำออก เราก็เห็นว่ามันสร้างผลกระทบอย่างที่เราเห็นกันจริงๆ” ถนอมกล่าว

 


เจ้าหน้าที่บูรณะนิเวศจึงสอบถามต่อว่า การสั่งห้ามเกิดขึ้นเมื่อไร ได้รับคำตอบว่าประมาณปลายปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ครั้งก่อน เมื่อ 5 กุมภาพันธ์ แม้ถนอมจะไม่ได้ยืนดูในจุดที่น้ำไหลออกจากบ่อดินข้างโรงงาน แต่จากภาพถ่ายที่ทางมูลนิธิฯ บันทึกไว้ในวันนั้นแสดงว่ามีน้ำไหลออกอย่างชัดเจน ทว่าถนอมมีคำตอบในแบบของเขา...
 


“ช่วงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ในอาคาร A6 ไม่มีน้ำออก มันน้ำเดิมหรือเปล่าครับ เพราะว่าวันที่ผมมาไม่มีการระบายออก แต่ว่าน้ำเดิมผมไม่เถียงนะครับ แต่ว่าระบายออกไม่มี” 
 


การยืนยันของถนอมจึงค่อนข้างไม่ตรงกับสิ่งที่ทางมูลนิธิฯ พบเห็น เช่นเดียวกับกรณีของ E-Waste ซึ่งเราพบในหลายๆ โกดัง เป็นไปตามภาพถ่ายที่เคยนำเสนอในเพจนี้ไปแล้ว


 

 


ทั้งนี้ หลังจากการสำรวจโกดัง A6 เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีได้ทำ “บันทึกข้อเท็จจริง” ระบุรายละเอียดว่า ในการตรวจสอบโรงงาน “บริษัท อิฟง จำกัด” โดยมี “นายหม่า ย่า เผิง” กรรมการบริษัทเป็นผู้นำตรวจ มีรายละเอียดดังนี้
 


1. จากการตรวจสอบพบผู้ประกอบการ มีร่องรอยการประกอบกิจการ บดย่อย คัดแยกโลหะ
2. ผู้ประกอบกิจการโรงงานมีการฝ่าฝืนคำสั่งมาตรา 37 วรรคหนึ่ง ตาม พ.ร.ะ. โรงงาน พ.ศ. 2535 โดยสำนักงานฯ จะได้ดำเนินการตามข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ (E-Waste) จำพวกแผงวงจรไฟฟ้าของเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก โดยประมาณทั้งหมด 300 ตัน ทั้งที่อยู่ในถุง Big Bag และที่กองอยู่นอกอาคารโรงงาน (อาคาร A6) ทั้งนี้จะดำเนินการในส่วนของกฎหมายต่อไป ตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535
4. ทางคณะผู้ตรวจสอบจะได้ดำเนินการตามกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เร่งด่วนต่อไป