จ่อเอาผิดโรงงานรีไซเคิลคลองกิ่ว ผลตรวจสอบน้ำชี้ชัดปนเปื้อนมาจากโรงงาน (2 มี.ค. 67)

 


 

 

(1 มีนาคม) เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษอุตสาหกรรม ร่วมกับ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) นำคณะผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ติดตามปัญหาแหล่งมลพิษของโรงงานรีไซเคิลขยะ ในพื้นที่ ม.4 ต.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ด้านมูลนิธิบูรณะนิเวศ ลงสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อน 
 


โดยในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศได้ดำเนินการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงโรงงานรีไซเคิล ประกอบด้วย การตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินเบื้องต้น โดยจุดเก็บตัวอย่างครอบคลุมทั้งบริเวณรั้วโรงงานจนถึงพื้นที่ของประชาชนที่แจ้งว่าได้รับผลกระทบเรื่องน้ำเค็ม 


 

 


ทั้งนี้ มูลนิธิบูรณะนิเวศระบุว่า ผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำเบื้องต้นจากทางน้ำธรรมชาติหลายจุด พบว่า ค่าคุณภาพน้ำเกือบทุกจุดมีค่าความเค็ม  ค่าของแข็งละลายในน้ำ และค่าการนำไฟฟ้าสูงกว่าค่าคุณภาพน้ำผิวดินทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดที่อยู่บริเวณใกล้กับบ่อน้ำเสียของโรงงานซึ่งไหลมายังที่ดินของชาวบ้าน พบค่าความเค็มสูงถึง 4.0 ppt ในขณะที่น้ำจืดควรมีค่าความเค็มของน้ำ 0.5 ppt เท่านั้น
 


นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังได้เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม ได้แก่ น้ำผิวดิน น้ำใต้ดิน และตะกอนดิน อย่างละ 4 ตัวอย่าง เพื่อส่งไปยังห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจวิเคราะห์ถึงชนิดและปริมาณโลหะหนักด้วย

 


 


มูลนิธิฯ ระบุเพิ่มเติมว่า การตรวจเบื้องต้นทำให้ทราบแน่ชัดว่าน้ำที่ปนเปื้อนนั้นมาจากน้ำเสียของโรงงาน เนื่องจากยิ่งตรวจวัดบริเวณใกล้โรงงาน ค่าการปนเปื้อนยิ่งสูง และเมื่อขยับห่างออกจากตัวโรงงาน ค่าการปนเปื้อนก็ลดลงตามลำดับ แต่ถึงกระนั้น น้ำในบึงที่ชาวบ้านขุดขึ้นเพื่อใช้งานซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตรก็มีค่าความเค็มเกินกว่าสภาพตามธรรมชาติของน้ำจืด (ค่าความเค็มของน้ำจืดไม่ควรเกินกว่า 0.5 ppt แต่น้ำในบึงดังกล่าวมีค่าอยู่ที่ 1.9 ppt)
 


ด้านชาวบ้านในพื้นที่ระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาคุณภาพน้ำ ซึ่งมีความเค็มจนใช้อุปโภคและเลี้ยงสัตว์ไม่ได้ เมื่อทราบว่าโรงงานดังกล่าวดำเนินการโดยไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ จึงได้ร้องเรียนไปยังศูนย์ดำรงธรรมอำเภอบ้านบึง และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยในช่วงบ่ายวันนั้น (1 มีนาคม) ทางอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี, สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษภาค 13 (ชลบุรี), และปลัดอำเภอบ้านบึง ได้ลงพื้นที่และนำชาวบ้านพร้อมผู้สื่อข่าวเข้าร่วมติดตามตรวจสอบภายในโกดังของโรงงานดังกล่าวด้วย 


 

 


จากการตรวจสอบโกดัง A6 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นของ บริษัท อิงฟง จำกัด โดยโกดังหลังนี้เป็นโกดังที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ใบ รง.4) แต่จากการสำรวจภายในโกดัง พบร่องรอยการทำงานของเครื่องบดย่อย และการล้างเศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่เพิ่งหยุดการทำงานก่อนการเข้าตรวจเพียงไม่กี่นาที อีกทั้งยังพบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กองอยู่ภายในโกดังและภายนอกโกดังเป็นจำนวนมาก โดยเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีประเมินว่าน่าจะมีถึง 300 ตัน
 


อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรียังเปิดเผยว่า จากการตรวจสอบครั้งนี้พบการกระทำผิดเพิ่มเติมของบริษัท โดยพบว่ามีการนำเศษชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นของเสียอันตรายเข้ามาในโรงงาน ทางอุตสาหกรรมจังหวัดจึงเตรียมดำเนินการแจ้งความบริษัทดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567 นี้