เปิดมุมซ่อนมลพิษที่เมืองชลฯ ผลพวงกิจการ “รีไซเคิล” โดยทุนจีน (4-ตอนจบ) (19 ก.พ. 67)

 

 


ไม่เฉพาะกรุงโรมเท่านั้นที่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว อาณาจักรอุตสาหกรรมรีไซเคิลของนายทุนชาวจีนที่ ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี ก็เช่นเดียวกัน
 

 

 


เมื่อเปรียบเทียบภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังกลับไปประมาณ 10 ปี ณ เดือนธันวาคม 2556 ในพื้นที่ 88 ไร่ ที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของโรงประกอบกิจการรีไซเคิลขนาดใหญ่ ซึ่งเต็มไปด้วยของเสียอันตรายนานาชนิด ยังมีลักษณะเป็นพื้นที่เกษตรกรรม บางส่วนเป็นพื้นที่โล่งสำหรับการเทกองบางสิ่ง และมีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างเพียงเป็นโรงเรือนเล็กๆ 2-3 หลัง แต่บริเวณโดยรอบอาคารมีลักษณะคล้ายมีการประกอบกิจกรรมบางอย่าง
 


ต้องย้อนกลับไปจนถึงปลายปี 2552 จึงจะพบสภาพพื้นที่ซึ่งยังมีเพียงกิจกรรมการเกษตรและสิ่งปลูกสร้างตั้งโดดเดี่ยวหลังเดียว
 

 

 


ดังนั้น กล่าวได้ว่า อาณาจักรรีไซเคิลแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา โดยมีการขยายตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป จนกระทั่งหลังปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา ความเป็นอาณาจักรก็ปรากฏตัวขึ้น
 


ตลอดระยะเวลาหลายปีดังกล่าว จึงยากที่จะเชื่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่เป็นที่รับรู้หรืออยู่นอกสายตาของข้าราชการไทยในท้องถิ่น


 

 


ยิ่งเมื่อพิจารณาถึงกิจกรรมสารพันที่เกิดขึ้นภายในอาณาจักรนี้ ที่มิใช่การกระทำแบบลอบแอบหรือแฝงเร้น ในทางตรงกันข้าม ดูเหมือนจะมีการติดต่อและนำเข้าสินค้าเหล่านี้ที่ไม่ใช่นำมาแค่ระดับภายในประเทศเท่านั้น รวมถึงแรงงานจำนวนมากจากต่างแดนด้วย ดังนั้น เฉพาะเรื่องการขออนุญาตก็ย่อมเกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐหลายภาคส่วนแล้ว

 


 


ระบบกำกับดูแลแต่ละส่วนของไทยกำลังพิกลพิการหรือไม่ หรือว่าปัญหาอยู่ที่ต่างคนต่างทำโดยไม่มีการร่วมมือและบูรณาการกัน เรื่องนี้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมน่าจะต้องรีบออกมาตอบ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเกิดจากเหตุใด เมื่อผลลัพธ์ปรากฏออกมาเป็นสิ่งที่ไม่พึงยอมรับได้ถึงขนาดนี้ นี่ย่อมถึงเวลาแล้วที่จะต้องเร่งแก้ไข


 

 


มิเช่นนั้น ในระยะยาวแล้ว เป็นไปได้อย่างยิ่งที่เราจะสูญเสียผืนแผ่นดินที่คลองกิ่วนี้ไปอย่างถาวร มิใช่ให้แก่ทุนจีน แต่ให้แก่มลพิษที่กำลังแพร่กระจาย ซึ่งในที่สุดอาจจะส่งผลให้พื้นที่บริเวณกว้างของแถบนั้นไม่เหมาะสมและเป็นอันตรายเกินกว่าที่ใครจะเข้าไปใช้ประโยชน์ใดๆ ได้อีกต่อไป
 

 

 


เว้นแต่เราจะเร่งหยุดสถานการณ์ดังกล่าว...เดี๋ยวนี้! 
อย่างไรก็ดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมน่าจะต้องลงมาเดินเคียงคู่กับอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีแล้วเข้าไปตรวจตราพื้นที่เฉียดร้อยไร่แห่งนี้ดู ใช้อำนาจหน้าที่และกฎหมายโรงงานที่ถืออยู่ในมืออย่างจริงจังสักครั้ง เชื่อว่าหากกระทรวงอุตสาหกรรมเอาจริงเอาจังก็น่าจะหยุดสถานการณ์ที่กำลังทำร้ายประเทศไทยในลักษณะนี้ได้!!

 


ภาพถ่ายทางอากาศ จาก Google Earth
ภาพถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม มูลนิธิบูรณะนิเวศ