เปิดมุมซ่อนมลพิษที่เมืองชลฯ ผลพวงกิจการ “รีไซเคิล” โดยทุนจีน (3) (16 ก.พ. 67)

 

 

 

“โม่ บดย่อย และผลิตเม็ดพลาสติก” คือข้อความที่ระบุอยู่ในใบอนุญาตประกอบกิจการของโรงงานจำนวนหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี แต่ข้อความนี้แทบไม่มีความสอดคล้องใดๆ กับบรรดา “วัตถุดิบ” ที่พบเห็นได้จริงภายในโกดังต่างๆ จำนวนเกือบ 30 หลัง บนเนื้อที่ประมาณ 88 ไร่
 


อาจกล่าวได้ว่า “พลาสติก” เป็นสิ่งที่มีให้พบเห็นน้อยมาก ส่วนใหญ่ของสิ่งที่ปรากฏให้เห็น แท้จริงแล้วควรเรียกรวมๆ ได้ว่า “ขยะหรือของเสียอิเล็กทรอนิกส์” ...น่าจะมีความใกล้เคียงกว่า
 


ไม่ว่าจะเป็นกองภูเขามอเตอร์หลากหลายขนาด สายไฟทั้งที่อยู่ในถุงจัมโบ้หรือถุงบิ๊กแบกและที่อัดมาเป็นก้อนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ กล่องฮาร์ดดิสก์ แผงวงจร เศษจอ เศษเหล็กและกล่องเหล็ก มิเตอร์ รวมถึงสิ่งที่มีลักษณะคล้ายน้ำมันดิน หรือทาร์ (tar)
 

 

 


นอกจากนั้นยังมีปี๊บจำนวนมากที่ถูกอัดแน่นไปด้วยสิ่งของสีเขียวที่ถูกบดหรือย่อยมาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เมื่อเล็งมองใกล้ๆ จึงพบว่ามันคลับคล้ายจะเคยเป็นแผงวงจรไฟฟ้าสีเขียวที่คุ้นตา โดยบางชิ้นยังปรากฏตัวอักษรและตัวเลข ทั้งหมดถูกบีบอัดและแพ็กไว้ในปี๊บอย่างดีในสภาพพร้อมขนส่ง เพียงแต่ไม่ชัดเจนว่าได้รับการขนส่งเข้ามาหรือเตรียมพร้อมเพื่อส่งออกไป
 


ที่แน่ๆ คือมีรถบรรทุกจำนวนหนึ่งวิ่งเข้าออกเป็นระยะ บนรถบางคันที่ทันจับภาพได้ พบว่ามีสิ่งที่คล้ายกองสายไฟถูกแพ็กและซีลมาอย่างดี เป็นขนาดสี่เหลี่ยมเท่าๆ กัน ตั้งซ้อนสองชั้นแน่นคันรถ ลักษณะเป็นการ “ขนเข้า” อย่างชัดเจน ซึ่งภายในโกดังบางจุดก็พบเจอกองสายไฟพร้อมกับแรงงานกำลังนั่งปอกเอาพลาสติกออก แต่คาดได้ว่าวัตถุประสงค์คงไม่ได้ต้องการเศษพลาสติก
 


อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจก็คือวัตถุคล้ายเตาขนาดใหญ่ที่ใช้หลอม ซึ่งติดตั้งอยู่ในโกดังกลุ่มหนึ่งที่ถูกปิดมิดชิด ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบหรือสำรวจ และจากการสำรวจรอบนอกก็พบเห็นว่า วัตถุคล้ายเตาแต่ละแห่งมักมีปล่องเชื่อมต่อออกมาภายนอกตัวอาคาร เหมือนกับเป็นช่องทางระบายควันหรือความร้อน


 

 


สภาพตามที่ปรากฏโดยรวมแล้วจึงนับว่าสวนทางโดยสิ้นเชิงกับการได้รับอนุญาตให้เป็นสถานประกอบการรีไซเคิลพลาสติก และผลิตเม็ดพลาสติก
 


อย่างไรก็ตาม จำนวนโรงงานที่มีใบอนุญาตดังที่ว่านั้น ถือได้ว่าเป็นเพียงส่วนน้อย ในอาณาจักรแห่งการรีไซเคิลที่เจ้าของเป็นนายทุนคนจีนแห่งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจัดได้ว่าเป็นโรงงานเถื่อนมากกว่า นั่นคือ ไม่ได้มีการขออนุญาตตามกฎหมายไทยแต่อย่างใด
 


ในประเด็นนี้ แม้แต่อุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลเรื่องการอนุญาตประกอบกิจการอุตสาหกรรมในพื้นที่ยังเคยกล่าวกับนักข่าวไทยพีบีเอสถึงโรงงานเหล่านี้ว่า “ไม่ทราบว่าโผล่มาได้อย่างไร” ตลอดจนยอมรับว่า ในพื้นที่นี้มีโรงหลอมลอบประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ด้วย
 


ประเด็นคือ โรงงานที่ “โผล่” ขึ้นแบบที่อุตสาหกรรมจังหวัดเจ้าของพื้นที่ไม่รู้ที่มานี้ มิได้มีขนาดเท่าห้องเช่า ส่วนกิจกรรมที่มีการดำเนินการอยู่โดยตลอดก็ใช่จะแอบหลบทำในดงป่าตามเทือกเขาสูง รถบรรทุกที่วิ่งเข้าออกวันละหลายเที่ยวก็ไม่ได้เล็กกว่ามาตรฐานทั่วไป ทั้งยังมีจำนวนคนงานไม่น้อยกว่าหลักหลายร้อยที่ใช้ชีวิตและประกอบกิจกรรมต่างๆ อยู่ในพื้นที่นี้ ถึงกับมีตลาดนัดขายสินค้ายามเย็น สิ่งปลูกสร้างยิ่งไม่ต้องพูดถึง ดูจากภาพถ่ายทางอากาศอย่างกูเกิลเอิร์ธยังเห็นได้ชัดเจน แต่ที่นี่กลับเป็นอาณาจักรใหญ่ที่สายตาของหน่วยงานภาครัฐมองไม่เห็น และกฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง 
 

 

 


ในขณะที่นโยบายรัฐไทยที่มุ่งส่งเสริมกิจการรีไซเคิลยังคงดำเนินต่อไป บนวาทกรรมว่าด้วยเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
 


ผลจากการที่ชาวบ้านร้องเรียนเรื่องผลกระทบจากอาณาจักรรีไซเคิลนอกกฎหมายแห่งนี้ จนมี ส.ส. ก้าวไกลเชิญหน่วยงานเข้าตรวจสอบ เป็นผลให้อุตสาหกรรมจังหวัดสั่งหยุดประกอบกิจการ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่าสั่งหยุดชั่วคราวหรือถาวรอย่างไร ครอบคลุมโรงงานทั้งหมดหรือไม่ และจะมีมาตรการต่ออย่างไรเมื่อพบการละเมิดคำสั่ง 
 


ความผิดที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้น ทั้งการประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตและการประกอบกิจการผิดประเภทจากที่ได้รับอนุญาต ทั้งหมดก็ไม่มีความชัดเจนว่าจะได้รับการจัดการอย่างไร
 

 

 


ส่วนเรื่องของมลพิษที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ยังคงเกิดขึ้นและดำรงอยู่เช่นนั้น 

 

ตอนต่อไปซึ่งจะเป็นตอนสุดท้าย เราจะใช้ภาพถ่ายทางอากาศจากอดีตมาเทียบให้เห็น ว่าก่อนจะกลายมาเป็นอาณาจักรรีไซเคิลที่อุจาดขนาดใหญ่เช่นนี้ พื้นที่ในอดีตบริเวณนี้มีสภาพอย่างไร

 

ภาพถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม มูลนิธิบูรณะนิเวศ