เปิดมุมซ่อนมลพิษที่เมืองชลฯ ผลพวงกิจการ “รีไซเคิล” โดยทุนจีน (2) (13 ก.พ. 67)

 

 

 

มลพิษที่แสดงออกเป็น “ความเหม็นจนแสบตาแสบจมูก” ไม่ได้จำกัดอยู่ภายในโรงงานรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของนายทุนชาวจีน ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต. คลองกิ่ว อ. บ้านบึง จ. ชลบุรี เท่านั้น หากแต่มลพิษจากโรงงานดังกล่าวยังเผื่อแผ่ออกมาสู่ภายนอกด้วย

 


 


จากการลงพื้นที่ของมูลนิธิบูรณะนิเวศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 นอกจากภาพกองภูเขาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีให้เห็นเกลื่อนกล่นแล้ว บ่อน้ำเสียหลายบ่อหลากขนาดก็มีให้เห็นเช่นกัน โดยทั้งหมดถูกปล่อยไว้ในสภาพ “ตามธรรมชาติ” อย่างที่สุด ไม่เพียงไม่มีระบบจัดการและการบำบัด หากแต่เป็นบ่อดินเปลือยที่น้ำสามารถซึมลงสู่ใต้ผืนดินอย่างอิสระ รวมถึงหลากไหลกระจายออกสู่พื้นที่ภายนอก จนบางจุดมีลักษณะเสมือนเป็นน้ำตกขนาดเล็ก แต่น้ำที่ตกและไหลออกมานั้น นอกจากจะไม่ใสและมีสีค่อนไปทางคล้ำดำแล้ว ยังมักมีฟอง พร้อมส่งกลิ่นเหม็นฉุน
 


มาร์ช ชาวบ้านที่มีที่ดินติดกับโรงงานแห่งนี้ชี้ให้ดูจุดปล่อยน้ำเสีย ซึ่งไหลลงที่ดินของเขา พร้อมกับเล่าว่า จุดที่น้ำถูกปล่อยไหลออกมักเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อใดที่น้ำในบ่อเอ่อก็จะมีการขุดร่องเพื่อให้น้ำระบายออก ซึ่งตามทางที่น้ำไหลไป พอน้ำแห้งเมื่อไรก็จะเห็นคราบขาวๆ ขึ้นเต็มพื้นที่
 


ที่ดินติดโรงงานที่มีน้ำเสียไหลผ่านนั้นเป็นสวนปลูกมะม่วงหิมพานต์และยูคาลิปตัส มาร์ชชี้ไปยังยูคาคลิปตัสที่ยืนต้นตาย และกล่าวว่า “ยูคาลิปตัสที่ว่าตายยากยังไม่รอด” จนในที่สุดเขาต้องตัดสินใจโค่นพวกมันลง
 

 

 


มาร์ชเล่าต่อว่า เนื่องจากพื้นที่แถบนี้มีขนาดใหญ่ แต่มีคนอยู่อาศัยน้อย และห่างไกลจากโซนตลาด น้ำประปาส่วนภูมิภาคไหลน้อย ชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 4 และหมู่ 7 จึงนิยมใช้บ่อซึมและบ่อขุดตามแบบดั้งเดิมที่ใช้ในการทำการเกษตรตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ
 


ในส่วนของตัวเขาเอง จำได้แม่นยำว่า เขาเริ่มรับรู้ถึงความผิดปกติของน้ำใช้ในบ่อในช่วงเทศกาลเช็งเม้ง หรือช่วงเดือนเมษายนของปี พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ได้เคยแจ้งปัญหากับ อบต. และอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว ในส่วน อบต. เคยลงมาดูเรื่องน้ำ แต่ยังคงไม่มีแนวทางแก้ไขปัญหา


 

 


ชาวบ้านอีกรายหนึ่งที่อยู่ห่างจากโรงงานประมาณ 1 กิโลเมตรบอกเล่าในลักษณะเดียวกัน เกี่ยวกับการที่น้ำในบ่อไม่สามารถใช้ได้ โดยตัวเขาเองเริ่มรับรู้ถึงปัญหาความเค็มของน้ำจากการชิมในตอนล้างหน้า นอกจากนั้นยังสังเกตเห็นว่า พวกช้อน ของใช้สแตนเลสต่างๆ รวมถึงก๊อกน้ำ มักเป็นสนิมจนใช้งานไม่ได้
 


“เรารู้ชัดๆ ในปี 2565 ที่รู้ว่าน้ำใช้ไม่ได้แล้วก็เพราะพวกวัวควายและไก่ที่เลี้ยงไว้ไม่ยอมกินน้ำ” ด้วยเหตุดังกล่าว เขาถึงกับต้องเลิกเลี้ยงไก่ไปในที่สุด เพราะปัญหาเรื่องน้ำ
 


ชาวบ้านรายดังกล่าวเล่าด้วยว่า ยิ่งในช่วงหน้าแล้ง น้ำในบ่อน้ำจะไม่สามารถใช้การได้เลย โดยน้ำจะเค็มปี๋เหมือนเกลือ แม้แต่ปั๊มน้ำก็เสีย ซึ่งปัญหาเรื่องน้ำนี้ได้เคยไปร้องเรียนกับ อบต. ตั้งแต่ปี 2565 นับรวมประมาณ 10-20 ครั้ง แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้จนทุกวันนี้
 


ทั้งนี้ เมื่อช่วงปลายปี 2566 ทางพรรคก้าวไกลซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน เกี่ยวกับปัญหาผลกระทบจากโรงงานแห่งนี้ ในเรื่องอากาศ ทั้งกลิ่นและฝุ่น รวมถึงน้ำเสีย ได้เคยลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพปัญหา โดยมีการติดต่ออุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีเข้าร่วมด้วย พร้อมกับชาวบ้านที่ร้องเรียน

 


 


ในครั้งนั้น สส. พรรคก้าวไกลได้ระบุกับผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอสไว้ว่า น้ำเสียจากสถานประกอบการแห่งนี้ที่ไหลออกไปสู่สภาพแวดล้อมภายนอกมีสารเคมีอันตรายปนเปื้อนระดับรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น มีสารปรอทเกินมาตรฐานกว่า 50 เท่า สารตะกั่วเกินมาตรฐาน 500 เท่า
 


หากข้อมูลดังกล่าวเป็นจริง ปัญหาน้ำที่ชาวบ้านคลองกิ่วกำลังเผชิญจึงไม่ใช่แค่เรื่องของความเค็ม และปัญหาสนิมนั้นก็ถือเป็นเรื่องเล็กอย่างยิ่ง ปัญหาที่แท้จริงร้ายแรงกว่านั้นมากนัก และกำลังรอเวลาปะทุออกมา


ภาพถ่ายโดย นราธิป ทองถนอม มูลนิธิบูรณะนิเวศ